ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนค่าหลังบอนด์ยีลด์ร่วง จับตาจ้างงานสหรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 2, 2024 07:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (1 ก.พ.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐร่วงหลุดจากระดับ 4% นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ค.

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.12% แตะที่ระดับ 103.278

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 65.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนมี.ค. และให้น้ำหนัก 62.0% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนพ.ค.

ทั้งนี้ หากเฟดประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนพ.ค.ก็จะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรก หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 11 ครั้งนับตั้งแต่ที่เริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.2565 ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.25%

ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 4 หลังจากที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกัน 14 ครั้ง

นักลงทุนคาดการณ์ว่า BoE จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนพ.ค. โดยปรับลดลง 0.25% สู่ระดับ 5.00% และอัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ระดับ 4.25%

นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่เฟดใช้พิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ย โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้น 173,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. ชะลอตัวจากระดับ 216,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. นอกจากนี้ คาดว่าอัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.8% ในเดือนม.ค. จากระดับ 3.7% ในเดือนธ.ค.

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 9,000 ราย สู่ระดับ 224,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 213,000 ราย

สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 49.1 ในเดือนม.ค. จากระดับ 47.1 ในเดือนธ.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 47.2 แต่ดัชนีอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว และเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ