นักลงทุนแห่ซื้อบอนด์สหรัฐ,เยอรมัน,อังกฤษ กังวลเจรจาหนี้กรีซไม่คืบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 20, 2015 22:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักลงทุนพากันเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ, เยอรมนี และอังกฤษในวันนี้ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ขณะที่การเจรจาแก้ไขปัญหาหนี้ระหว่างกรีซและประเทศเจ้าหนี้ยังคงไม่มีความคืบหน้า

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีร่วงลงสู่ระดับ 2.063% จาก 2.112% เมื่อวานนี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันประเภทอายุ 10 ปีลดลงสู่ระดับ 0.350% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษประเภทอายุ 10 ปีปรับตัวลงสู่ระดับ 1.766%

รัฐมนตรีคลังยูโรโซนประชุมกันที่กรุงบรัสเซลส์ในวันนี้เวลา 21.00 น.ตามเวลาไทย เพื่อพิจารณาข้อเสนอของกรีซที่ต้องการขยายระยะเวลาเงินกู้ออกไปอีก 6 เดือน จากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุดลงในวันที่ 28 ก.พ. ซึ่งหากที่ประชุมไม่สามารถบรรลุข้อตกลง จะส่งผลให้กรีซเผชิญวิกฤติการเงิน และอาจต้องออกจากยูโรโซนในที่สุด

Spiegel นิตยสารข่าวชื่อดังของเยอรมนี รายงานว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กำลังเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่กรีซอาจจะต้องออกจากยูโรโซน ขณะที่เจ้าหน้าที่ของ ECB กำลังเตรียมแผนฉุกเฉินเพื่อประคองไม่ให้ยูโรโซนล่มสลาย

นอกจากนี้ Spiegel ยังรายงานว่า ECB กำลังกดดันให้กรีซใช้มาตรการควบคุมเงินทุนเพื่อสกัดการไหลออกของเงินฝากธนาคาร

เจ้าหน้าที่อาวุโสในวงการธนาคารของกรีซกล่าวว่า ผู้ฝากเงินแห่ถอนเงินฝากธนาคารรวมกว่า 1 พันล้านยูโรในช่วง 2 วันที่ผ่านมา เนื่องจากกังวลต่อการที่กรีซอาจออกจากยูโรโซน ก่อนที่ข้อตกลงความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรป (EU) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะสิ้นสุดลงในวันที่ 28 ก.พ.

นอกจากนี้ ผู้ฝากเงินยังถอนเงินฝากก่อนวันหยุดยาว 3 วันในกรีซ เนื่องจากวิตกว่ารัฐบาลจะประกาศใช้มาตรการควบคุมเงินทุนตามอย่างไซปรัสซึ่งประกาศใช้มาตรการดังกล่าวหลังวันหยุดยาว 3 วันเช่นกัน

นายเอ็ดเวิร์ด ซิคลูนา รมว.คลังมัลตีส เปิดเผยในวันนี้ว่า เยอรมนี, เนเธอร์แลนด์ และอีกหลายประเทศใน EU กำลังเตรียมพร้อมที่จะให้กรีซออกจากยูโรโซน เนื่องจากประเทศเหล่านี้เริ่มหมดความอดทนต่อการต่อรองเรื่องหนี้ครั้งใหม่ของรัฐบาลกรีซ

"ผมคิดว่าพวกเขากำลังถึงจุดที่จะบอกกับกรีซว่า 'ถ้าคุณอยากไป ก็ไปเลย' และผมคิดว่าพวกเขาหมายความอย่างนั้นจริงๆ โดยจะยืนยันให้กรีซทำตามข้อตกลง" เขากล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ