ADB ชี้ตลาดพันธบัตรเอเชียตะวันออกเกิดใหม่รับมือกับความเสี่ยงระยะสั้นได้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 20, 2018 10:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานการติดตามตลาดพันธบัตรเอเชีย หรือ Asia Bond Monitor ฉบับล่าสุดของธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่า ตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของตลาดเกิดใหม่ในเอเชียตะวันออก อาจเผชิญกับความเสี่ยงระยะสั้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม คาดว่าภูมิภาคจะสามารถก้าวข้ามความท้าทายไปได้ หากมีการดำเนินและวางแผนนโยบายอย่างระมัดระวัง

ความเสี่ยงระยะสั้นเหล่านี้ ได้แก่ การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงโดยรวมอันเกิดจากตลาดเกิดใหม่ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ สหรัฐที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และความตึงเครียดทางการค้าที่บานปลาย สถานการณ์สภาพคล่องตึงตัวเป็นปัจจัยที่ทำให้ความเสี่ยงจากระดับหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของภูมิภาคในช่วงหลายปีมานี้รุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น การอ่อนตัวของค่าเงินในภูมิภาคและการไหลออกของเงินทุนเป็นปัจจัยทวีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินของภูมิภาค

"ข้อกังวลเกี่ยวกับตลาดเกิดใหม่เริ่มเห็นชัดเจนขึ้น แต่อย่างไรก็ดี รากฐานที่แข็งแรงของภูมิภาคเอเชียจะดึงดูดให้นักลงทุนหันกลับมาลงทุนในตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของภูมิภาค" นายยาซูยูกิ ซาวาดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบี กล่าว "ทั้งนี้ ผู้วางแผนนโยบายของภูมิภาคจะต้องติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีการเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตที่อาจขึ้นเสมอ"

รายงานดังกล่าวชี้ว่า ตลาดพันธบัตรของตลาดเกิดใหม่ในเอเชียตะวันออกมีการขยายตัว 4.3% ในช่วงไตรมาสที่สาม เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สอง โดยมีมูลค่า 12.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ณ สิ้นเดือนกันยายน ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตในไตรมาสที่สองที่ 3.2% โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญจากการออกพันธบัตรของการปกครองท้องถิ่นของรัฐบาลจีนสำหรับการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศจีนมีตลาดพันธบตรที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ของเอเชียตะวันออก โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน จีนมีมูลค่าพันธบัตรคงค้างที่ 9.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 72% ของมูลค่ารวมทั้งภูมิภาค และมีอัตราการเติบโต 5.7% เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนมิถุนายน

ณ ไตรมาสที่สามของปี 2561 การถือครองพันธบัตรรัฐบาลโดยนักลงทุนต่างชาติปรับลดลงมาเล็กน้อยในตลาดเกิดใหม่เกือบทั้งหมดของเอเชียตะวันออก ยกเว้นฟิลิปปินส์ และจีน ซึ่งจีนมีสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรเพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากการดำเนินนโยบายเปิดเสรีตลาดพันธบัตร

นอกจากนี้ รายงาน Asia Bond Monitor ยังแสดงผลการสำรวจสภาพคล่องตลาดพันธบัตรประจำปี ซึ่งชี้ว่าสถานการณ์สภาพคล่องของทั่วทั้งภูมิภาคแตกต่างกันออกไป โดยอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์มีสภาพคล่องต่ำลงเล็กน้อย ส่วนประเทศที่จัดว่ามีสภาพคล่องสูงกวา ได้แก่ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม จากการสำรวจนักลงทนในตลาดส่วนใหญ่ต่างให้ความเห็นว่า การขาดกลไกป้องกันความเสี่ยงพันธบัตรที่ดี และการขาดประเภทนักลงทุนที่หลากหลาย เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อการพัฒนาของตลาดตราสารหนี้

ประเทศไทยมีตลาดพันธบัตรใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ สิ้นไตรมาสที่สาม โดยมีการขยายตัวที่ 2.1% ต่อไตรมาส และ 10.3% ต่อปี และตลาดมีมูลคา 337 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ได้รับแรงสนับสนุนจากทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ที่เพิ่มมากขึ้น ตลาดพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งมีมูลค่า 272 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีการขยายตัวที่ 2% ต่อไตรมาส และ 10.4% ต่อปี โดยได้รับอานิสงส์จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เพิ่มการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อแก้ไขปัญหาความผันผวนของค่าเงิน ส่วนตลาดหุ้นกู้ของไทย ซึ่งมีมูลค่า 104 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีการขยายตัวที่ 2.5% ต่อไตรมาส และ 10.2% ต่อปี โดยเป็นผลจากการที่ภาคเอกชนออกหุ้นกู้มากขึ้น เนื่องจากคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะทำการปรับดอกเบี้ยนโยบายเร็วๆ นี้

รายงานยังชี้ว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีเงินทุนไหลออกในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่สามารถทดแทนได้ด้วยเงินทุนไหลเข้าในเดือนสิงหาคมและกันยายน ทั้งนี้ ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุนต่างชาติเป็นอันดับสองรองจากจีน ในเรื่องของการเคลื่อนย้ายเงินทุน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยได้รับปัจจัยเกื้อหนุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพ อัตราเงินเฟ้อต่ำ ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล หนี้ภายนอกประเทศต่ำ และเศรษฐกิจอยู่ในทิศทางที่ดี อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอาจทำให้พันธบัตรไทยบางส่วนมีแรงดึงดูดต่อการลงทุนน้อยลง แต่นักลงทุนในตลาดยังคงคาดหวังว่าเงินทุนต่างประเทศจะไหลเข้าสู่ตลาดในประเทศอย่างต่อเนื่อง

เอดีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนต่อไป เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 67 ประเทศ โดย 48 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค ในปี 2560 การดำเนินงานของเอดีบีมีมูลค่ารวมทั้งหมด 32.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งรวมถึงการให้กู้รวมจำนวน 11.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ