บอนด์ยีลด์สหรัฐดีดตัว นักลงทุนเปิดรับสินทรัพย์เสี่ยง ขณะจับตามาตรการกระตุ้นศก.

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday March 14, 2020 00:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวขึ้นในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนพากันขายพันธบัตร และหันไปซื้อสินทรัพย์เสี่ยง ขานรับคาดการณ์ที่ว่า รัฐบาลและธนาคารกลางหลายแห่งเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ณ เวลา 00.46 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 0.944% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.556%

ราคาพันธบัตร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน

นายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ กล่าวว่า ทำเนียบขาวและสภาคองเกรสใกล้บรรลุข้อตกลงในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

"ผมคิดว่าเราใกล้บรรลุข้อตกลงแล้ว และท่านประธานาธิบดีมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมากที่จะให้รัฐบาลทำงานร่วมกับวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร" นายมนูชินกล่าว

นอกจากนี้ นายมนูชินกล่าวว่า รัฐบาลจะดำเนินการร่วมกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการออกมาตรการที่จะทำให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น

นายมนูชินระบุว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญมากที่สุด ได้แก่ สายการบิน เรือสำราญ โรงแรม และธุรกิจขนาดย่อม

ทางด้านเฟดสาขานิวยอร์ก ออกแถลงการณ์ระบุว่า เฟดจะเข้าซื้อพันธบัตรที่มีอายุแตกต่างกันในวันนี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงินสหรัฐ และลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

รายละเอียดการซื้อพันธบัตรในวันนี้ ได้แก่ :-

พันธบัตรอายุ 20-30 ปี วงเงิน 4 พันล้านดอลลาร์ เวลา 10.30-10.45 น.ตามเวลาสหรัฐ

พันธบัตรอายุ 7-20 ปี วงเงิน 5 พันล้านดอลลาร์ เวลา 11.15-11.30 น.ตามเวลาสหรัฐ

พันธบัตรอายุ 4.5-7 ปี วงเงิน 8 พันล้านดอลลาร์ เวลา 12.45-13.00 น.ตามเวลาสหรัฐ

พันธบัตรอายุ 0-2.25 ปี วงเงิน 8 พันล้านดอลลาร์ เวลา 13.30-13.45 น.ตามเวลาสหรัฐ

"การซื้อพันธบัตรดังกล่าวมีขึ้นเพื่อรับมือกับภาวะผันผวนในตลาดพันธบัตร ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19" แถลงการณ์จากเฟดสาขานิวยอร์กระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ