บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 2 ปี ดีดตัวเหนือ 4.3% ส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 11, 2022 19:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังคงปรับตัวขึ้นในวันนี้ ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังได้แรงหนุนจากการที่เฟดใช้มาตรการปรับลดขนาดงบดุล (QT) โดยเพิ่มวงเงินในการทำ QT สู่ระดับ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของเฟด ดีดตัวเหนือระดับ 4.3% และอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีและ 30 ปี

ณ เวลา 18.43 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 4.308% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 3.924% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 3.897%

การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวสูงกว่าระยะยาว ส่งผลให้ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย

นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนพ.ย. ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 4 หลังจากปรับขึ้น 0.75% ในเดือนมิ.ย.,ก.ค.และก.ย.

นายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน เชส กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในกลางปีหน้า โดยได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ, การดีดตัวของอัตราดอกเบี้ย และการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะเปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ในวันนี้ โดยคาดว่าจะมีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ, การแพร่ระบาดของโควิด-19, สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อเศรษฐกิจในทุกทวีป

ก่อนหน้านี้ ในการเปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในเดือนก.ค. IMF ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2565 และ 2566 สู่ระดับ 3.2% และ 2.9% ตามลำดับ

นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการ IMF และนายเดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลก กล่าวเตือนว่า เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเผชิญภาวะถดถอยในปีหน้า ขณะที่เงินเฟ้อยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หลังจากที่รัสเซียส่งกำลังทหารโจมตียูเครนในเดือนก.พ.

นางจอร์เจียวากล่าวว่า IMF จะเน้นย้ำในการประชุมสัปดาห์นี้ให้ธนาคารกลางของชาติต่างๆยังคงใช้ความพยายามสกัดเงินเฟ้อต่อไป แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

"ถ้าพวกเขาดำเนินการอย่างไม่เพียงพอ เราก็จะเผชิญปัญหาจากเงินเฟ้อที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางยิ่งต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น และจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ" นางจอร์เจียวากล่าว

นักลงทุนจับตารายงานการประชุมของเฟดประจำเดือนก.ย.ในวันที่ 12 ต.ค. และตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันที่ 13 ต.ค. เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ