ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore MAS) และธนาคารกลางจีน (Peoples Bank of China PBOC) ยืนยันความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะเดินหน้าความร่วมมือด้านการเงินสีเขียวและการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านอย่างต่อเนื่องในเวทีการประชุมคณะทำงานด้านการเงินสีเขียวสิงคโปร์-จีน (Singapore-China Green Finance Taskforce: GFTF) ครั้งที่ 3
ในการประชุมซึ่งจัดขึ้นที่สิงคโปร์เป็นครั้งแรก มีผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนมากกว่า 40 รายเข้าร่วมหารือแนวทางความร่วมมือในด้านการเงินอย่างยั่งยืน โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญคือ การผลักดันความสามารถในการทำงานร่วมกันของระบบการจำแนกกิจกรรมเศรษฐกิจ (Taxonomy Interoperability) ที่จะเอื้อให้สามารถแลกเปลี่ยนและใช้งานข้อมูลข้ามระบบต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ระบบดังกล่าวมีบทบาทสำคัญต่อการเงินอย่างยั่งยืน เนื่องจากช่วยให้สถาบันการเงินสามารถจำแนกกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรืออยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านได้อย่างถูกต้อง ซึ่งในเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว MAS, PBOC และคณะกรรมาธิการยุโรปฝ่ายเสถียรภาพการเงิน การบริการทางการเงิน และตลาดทุน ได้ร่วมกันเปิดตัวกรอบการจำแนกกิจกรรมเศรษฐกิจแบบพหุภาคี (Multi-Jurisdiction Common Ground Taxonomy M-CGT) ที่ครอบคลุม 110 กิจกรรมใน 8 ภาคส่วนจาก taxonomy ของสิงคโปร์ จีน และสหภาพยุโรป ซึ่งสามารถเข้าข่ายการได้รับเงินทุนสีเขียว
MAS รายงานว่า เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารโอซีบีซี (จีน) (OCBC Bank (China)) ได้ดำเนินการจัดสินเชื่อร่วมสีเขียวให้แก่บริษัทชู่เต่า ไฟแนนเชียล ลีสซิ่ง (เซินเจิ้น) (Shudao Financial Leasing (Shenzhen)) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของจีนที่สินเชื่อดังกล่าวสอดคล้องกับกรอบ M-CGT ถือเป็นตัวอย่างของการเริ่มนำกรอบนี้ไปใช้จริงในตลาด
ด้านไชน่า อินเตอร์เนชันแนล แคปิตอล คอร์ป (China International Capital Corp) วาณิชธนกิจจีน ก็ยังคงเดินหน้าทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ผ่านโครงการกรีน คอร์ริดอร์ (Green Corridor) ที่เปิดตัวเมื่อปีที่แล้วในเวที GFTF โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเงินทุนสีเขียวระหว่างสองประเทศ เริ่มจากการส่งเสริมการออกพันธบัตรแพนด้าสีเขียว (Green Panda Bonds) ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่ออกในสกุลเงินหยวนและมีวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือประเด็นการเงินที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพและธรรมชาติ ตลอดจนโอกาสในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวในนครเซี่ยงไฮ้ พร้อมกันนี้ MAS ยังเปิดเผยว่า มีผู้ออกตราสารหนี้ในสิงคโปร์หลายรายแสดงความสนใจในการออก Green Panda Bonds และการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับกรอบ M-CGT มากขึ้น
กิลเลียน ตัน ประธานเจ้าหน้าที่ด้านความยั่งยืนของ MAS ระบุว่า GFTF ได้กลายเป็นเวทีสำคัญที่เชื่อมโยงทั้งภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมจากสิงคโปร์และจีนให้สามารถร่วมกันผลักดันนโยบายด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม