ECB มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยในการประชุมวันนี้ รอดูข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-EU

ข่าวต่างประเทศ Thursday July 24, 2025 08:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันนี้ (24 ก.ค.) หลังปรับลดติดต่อกันถึง 7 ครั้ง จากเดิม 4% เหลือ 2% เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่เร่งตัวหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อกลับมาอยู่ที่ระดับเป้าหมาย 2% และคาดว่าจะทรงตัว แต่ความไม่แน่นอนด้านการค้ากับสหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ECB ต้องรอดูท่าที

ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) ยังคงสร้างความกังวลให้กับผู้กำหนดนโยบาย โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากอียูสูงถึง 30% ซึ่งสูงกว่ากรณีเลวร้ายที่สุดที่ ECB ประเมินไว้เมื่อเดือนก่อน ส่งผลให้คริสติน ลาการ์ด และคณะกรรมการนโยบายจำเป็นต้องทบทวนแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของยูโรโซน

อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากนักการทูตเมื่อวันพุธ (23 ก.ค.) ว่า สหรัฐฯ และอียูกำลังใกล้บรรลุข้อตกลงทางการค้าที่อาจกำหนดภาษีสินค้านำเข้าในวงกว้างเพียง 15% ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดกังวลก่อนหน้านี้ แต่ยังสูงกว่าฐานคาดการณ์เดิมที่ 10%

นักวิเคราะห์จากหลายสถาบันยังคงมองต่างมุม โดย ABN AMRO Investment Solutions ประเมินว่า ECB น่าจะคงนโยบายการเงินไว้ก่อน เพราะยังไม่มีความชัดเจนจากการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และ EU ส่วน MUFG มองว่า แม้ผลลัพธ์จะออกมาในเชิงบวก เช่น ภาษีสหรัฐฯ อยู่ที่ราว 10% แต่ภาวะเงินเฟ้อที่ชะลอตัวในวงกว้างยังเปิดช่องให้ ECB ผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติม ขณะที่ BNP Paribas ชี้ว่า การเจรจาภาษีรอบนี้มีแนวโน้มให้ผลลัพธ์ที่ซับซ้อนและสูงกว่าฐานคาดการณ์เดิม

ECB คาดว่า ภาษีของสหรัฐฯ จะกดดันทั้งการเติบโตและเงินเฟ้อระยะกลางหากอียูไม่ตอบโต้ แม้เศรษฐกิจยูโรโซนแทบไม่ขยายตัว และกำไรของภาคธุรกิจเริ่มได้รับผลกระทบจากภาษี แต่บริษัทต่าง ๆ ยังคงมองโลกในแง่ดีต่อแนวโน้มการฟื้นตัว

นักเศรษฐศาสตร์ของดอยซ์แบงก์เตือนว่า ความเสี่ยงยังคงโน้มเอียงไปในทางที่เศรษฐกิจอ่อนแอลง ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อติดลบ โดยเฉพาะหากผลกระทบทางการค้าลุกลามไปสู่ตลาดแรงงาน

ทั้งนี้ ความต้องการสินเชื่อของธนาคารในยุโรปยังคงเพิ่มขึ้น และความไม่แน่นอนด้านนโยบายยังไม่ส่งผลให้ตลาดการเงินซบเซา ในทางตรงกันข้าม นโยบายที่ไม่แน่นอนของสหรัฐฯ รวมถึงการที่ทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อย่างรุนแรง กลับดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้าลงทุนในสินทรัพย์ยูโรโซน ส่งผลให้ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นแตะ 1.1829 ดอลลาร์ต่อยูโร ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเทียบดอลลาร์นับตั้งแต่เดือนก.ย. 2564

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของยูโรกลับสร้างความกังวลให้ผู้กำหนดนโยบายบางส่วน เนื่องจากอาจบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของยุโรปและกดดันเงินเฟ้อให้ลดลง ลาการ์ดจึงอาจต้องส่งสัญญาณสร้างความเชื่อมั่นแก่ตลาด โดยย้ำว่า ECB ไม่ได้มุ่งแทรกแซงค่าเงินโดยตรง แต่พร้อมดำเนินมาตรการ หากค่าเงินแข็งค่าจนทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงมากเกินไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ