สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร (1 ก.ค.) หลังมีข้อมูลบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ซึ่งทำให้นักลงทุนมีมุมมองบวกเกี่ยวกับแนวโน้มอุปสงค์น้ำมัน อย่างไรก็ดี นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่จะรู้ผลการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในวันที่ 6 ก.ค.นี้
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 34 เซนต์ หรือ 0.52% ปิดที่ 65.45 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 37 เซนต์ หรือ 0.55% ปิดที่ 67.11 ดอลลาร์/บาร์เรล
นักวิเคราะห์จากบริษัท Liquidity Energy กล่าวว่า ราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนจากรายงานของไฉซิน/เอสแอนด์พี โกลบอล (Caixin/S&P Global) ซึ่งระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนปรับตัวขึ้นแตะระดับ 50.4 ในเดือนมิ.ย. จากระดับ 48.3 ในเดือนพ.ค. ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนกลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของยอดสั่งซื้อใหม่
นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากการคาดการณ์ที่ว่า ซาอุดีอาระเบียจะปรับขึ้นราคาน้ำมันดิบในเดือนส.ค.สู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนสำหรับผู้ซื้อในเอเชีย
อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันลดช่วงบวก โดยถูกกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่ากลุ่มโอเปกพลัสจะตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิตในเดือนส.ค.จำนวน 411,000 บาร์เรล/วัน ในการประชุมวันที่ 6 ก.ค. หลังจากที่มีมติเพิ่มกำลังการผลิตในปริมาณดังกล่าวในเดือนพ.ค., มิ.ย. และก.ค.
สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) รายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 680,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 27 มิ.ย. ขณะที่นักลงทุนรอดูตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบอย่างเป็นทางการจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) ในวันนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการเจรจาการค้าก่อนถึงกำหนดเส้นตายวันที่ 9 ก.ค. ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า เขาไม่มีแผนที่จะขยายระยะเวลาผ่อนผันการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับประเทศคู่ค้าหลังจากวันที่ 9 ก.ค. ซึ่งเป็นเส้นตายที่เขากำหนดไว้ และรัฐบาลของเขาจะส่งจดหมายแจ้งไปยังประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับภาษีที่สหรัฐจะเรียกเก็บกับประเทศดังกล่าว เว้นแต่จะสามารถบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ