ราคาน้ำมัน WTI ปรับตัวขึ้น หลังมีข่าวโอเปกเตรียมลดผลิตน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรล/วัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 12, 2018 18:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ปรับตัวขึ้นในวันนี้ หลังมีข่าวว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เตรียมลดการผลิตน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรล/วันในปีหน้า

ณ เวลา 18.07 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนธ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX เพิ่มขึ้น 25 เซนต์ หรือ 0.42% สู่ระดับ 60.44 ดอลลาร์/บาร์เรล

นายคาลิด อัล-ฟาลีห์ รมว.พลังงานซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า กลุ่มโอเปกและผู้ผลิตน้ำมันนอกโอเปกเห็นพ้องกันว่า ควรมีการปรับลดการผลิตน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรล/วันในปีหน้า เนื่องจากอุปสงค์น้ำมันที่อ่อนแอ

นายอัล-ฟาลีห์กล่าวว่า โอเปกและประเทศพันธมิตรมองว่า การวิเคราะห์ทางเทคนิคบ่งชี้ว่าจำเป็นต้องมีการปรับลดกำลังการผลิต 1 ล้านบาร์เรล/วันในปีหน้าจากระดับของเดือนต.ค. เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะน้ำมันล้นตลาด

เมื่อวานนี้ ซาอุดีอาระเบียระบุว่าจะลดการส่งออกน้ำมันลง 500,000 บาร์เรล/วันในเดือนหน้า อันเนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลงตามฤดูกาล

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิ่งลง 20% ในเดือนที่แล้ว โดยถูกกระทบจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำมันในตลาด รวมทั้งอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงจากจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย

สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สหรัฐผลิตน้ำมัน 11.6 ล้านบาร์เรล/วันในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสูงกว่ารัสเซีย จนทำให้สหรัฐเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันมากที่สุดในโลกขณะนี้ และคาดว่าจะผลิตน้ำมันมากกว่า 12 ล้านบาร์เรล/วันในกลางปีหน้า

ทางด้านรัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย และบราซิลก็ได้ปรับเพิ่มกำลังการผลิตเช่นกัน ขณะที่อิรัก, อาบูดาบี และอินโดนีเซียส่งสัญญาณการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในปีหน้า

ทั้งนี้ สหรัฐ รัสเซีย และซาอุดิอาระเบีย สามารถผลิตน้ำมันรวมกันมากกว่า 33 ล้านบาร์เรล/วันเป็นครั้งแรกในเดือนต.ค. ทำให้สามารถรองรับความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกถึง 1 ใน 3 ของปริมาณการบริโภคน้ำมันเกือบ 100 ล้านบาร์เรล/วัน

ราคาน้ำมันยังคงถูกกดดันจากการที่สหรัฐประกาศผ่อนผันให้ 8 ประเทศยังคงสามารถนำเข้าน้ำมันอิหร่านต่อไป

นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเกิดจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และอาจกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน ขณะที่ความอ่อนแอของค่าเงินเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจของหลายประเทศในเอเชีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ