ราคาน้ำมัน WTI ปรับตัวแคบ จับตาประชุมโอเปกพลัส,EU ถกเพดานน้ำมันรัสเซีย

ข่าวต่างประเทศ Friday December 2, 2022 19:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวแคบในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร (โอเปกพลัส) ในวันอาทิตย์ที่ 4 ธ.ค. ก่อนที่ G7 รวมทั้ง EU และออสเตรเลียมีกำหนดบังคับใช้เพดานราคาน้ำมันรัสเซียในวันที่ 5 ธ.ค.

ณ เวลา 19.42 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนม.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX บวก 0.47 ดอลลาร์ หรือ 0.58% สู่ระดับ 81.69 ดอลลาร์/บาร์เรล

ทั้งนี้ โอเปกพลัสจะจัดการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในวันอาทิตย์ที่ 4 ธ.ค. เพื่อกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันสำหรับเดือนธ.ค.

แหล่งข่าว 5 รายระบุว่าโอเปกพลัสจะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายการผลิตในการประชุมครั้งนี้ โดยจะยืนตามมติในการประชุมเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ในการปรับลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วันไปจนถึงสิ้นปี 2566

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวอีก 2 รายคาดว่าโอเปกพลัสจะปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้นในการประชุมครั้งนี้

"เราไม่สามารถตัดความเป็นไปได้ที่โอเปกพลัสอาจปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้น ซึ่งหากโอเปกพลัสไม่ดำเนินการดังกล่าว ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดแรงเทขายอย่างหนักในตลาด" นายสตีเฟน เบรนนอค นักวิเคราะห์จาก PVM Oil ระบุ

ขณะเดียวกัน สื่อรายงานว่า สหภาพยุโรป (EU) กำลังเจรจากันเพื่อหาฉันทามติเกี่ยวกับการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย โดยคาดว่าที่ประชุมจะบรรลุข้อตกลงในวันนี้

แหล่งข่าวระบุว่า ที่ประชุม EU หารือกันเกี่ยวกับการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียที่ระดับ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล และให้มีการทบทวนมาตรการดังกล่าวทุก 2 เดือน โดยหวังว่าข้อเสนอดังกล่าวจะช่วยให้ที่ประชุมบรรลุฉันทามติ หลังจากที่ก่อนหน้านี้สมาชิก EU มีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างมากเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว

ร่างแถลงการณ์ของที่ประชุมระบุเพดานราคาน้ำมันรัสเซียที่ระดับ 62 ดอลลาร์/บาร์เรลเพื่อเป็นการประนีประนอมระหว่างกลุ่มต่างๆภายใน EU

ทั้งนี้ มาตรการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้รัสเซียมีรายได้ลดลงจากการจำหน่ายน้ำมันที่จะนำไปสนับสนุนการทำสงครามในยูเครน แต่ก็จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันในตลาดโลกจนทำให้เกิดภาวะขาดแคลน

กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือ G7 เสนอให้มีการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียในกรอบ 65-70 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่โปแลนด์ เอสโทเนีย และลิธัวเนีย ต่างก็มองว่ากรอบราคาดังกล่าวอยู่ในระดับสูงเกินไป โดยขณะนี้ราคาน้ำมัน Ural ของรัสเซียอยู่ในระดับต่ำกว่านี้ ซึ่งจะทำให้การกำหนดเพดานราคาในกรอบ 65-70 ดอลลาร์ไม่มีประสิทธิภาพ

โปแลนด์ต้องการกำหนดราคาที่ระดับ 30 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากรัสเซียมีต้นทุนการผลิตเพียง 20 ดอลลาร์/บาร์เรล และให้มีการนำประเด็นการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียพ่วงเข้ากับมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่

ส่วนไซปรัส กรีซ และมอลตามองว่ากรอบ 65-70 ดอลลาร์/บาร์เรลอยู่ในระดับต่ำเกินไป และต้องการให้มีการจ่ายเงินชดเชยภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการกำหนดเพดานราคาน้ำมันดังกล่าว รวมทั้งขอให้มีการกำหนดระยะเวลาผ่อนผันสำหรับการปรับตัวรองรับมาตรการดังกล่าว

G7 รวมทั้ง EU และออสเตรเลียมีกำหนดบังคับใช้เพดานราคาน้ำมันรัสเซียในวันที่ 5 ธ.ค. โดยจะมีผลบังคับใช้ต่อน้ำมันรัสเซียที่มีการขนส่งผ่านทางเรือบรรทุกน้ำมัน แต่ไม่รวมน้ำมันที่มีการขนส่งผ่านท่อส่งน้ำมัน

การกำหนดเพดานราคาน้ำมันดังกล่าวถือเป็นมาตรการลงโทษต่อการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนในวันที่ 24 ก.พ. ซึ่งเมื่อมีการประกาศใช้จะทำให้สถาบันการเงิน บริษัทเดินเรือ บริษัทประกันวินาศภัย และบริษัทประกันภัยต่อ ไม่สามารถให้บริการใดๆที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งคาร์โกน้ำมันรัสเซียที่มีราคาสูงกว่าเพดานที่ G7 และพันธมิตรกำหนดไว้

หาก EU ไม่สามารถบรรลุฉันทามติเกี่ยวกับการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย ก็จะส่งผลให้ EU ต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นด้วยการประกาศระงับการนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมดจากรัสเซียเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. และระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทั้งหมดจากรัสเซียตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.2566 ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดน้ำมันโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ