Media Interview: The Standard เหมือนผมได้เกิดใหม่อีกครั้ง “วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์"

ข่าวทั่วไป Tuesday June 6, 2017 14:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การเกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็วของเว็บไซต์สำนักข่าวออนไลน์ The Momentum เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2559 สร้างผลงานและการรับรู้สู่ผู้ชมทางโลกออนไลน์จนเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว The Momentum มีคอนเทนต์ข่าวที่มีคนสนใจเข้าไปอ่านจำนวนมาก แต่หนึ่งในคอนเทนต์ที่แฟน The Momentum คลิกเข้าไปอ่านมากที่สุดของเว็บไซต์ข่าวหนึ่งก็คือ ข่าวการประกาศลาออกแบบยกทีมของทีมงาน The Momentum เอง

ในบทบรรณาธิการสุดท้าย ของ เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ใน The Momentum เขียนชัดเจนว่า พวกเขายกทีมออกไปเพื่อทำอะไรใหม่ ๆ ที่ใหญ่ขึ้น และไม่นานหลังจากนั้นเราก็เริ่มได้ยินข่าวแว่วมาว่า ทีมงาน The Momentum ภายใต้การนำทีมของ โหน่ง-วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ หนึ่งในผู้ก่อนตั้ง a day เตรียมเปิดตัวสำนักข่าวออนไลน์ในเดือนมิถุนายนนี้ และแน่นอนว่าทุกสายตาเฝ้ามองและคาดหวัง

The Standard ถือเป็นสำนักข่าวออนไลน์ใหม่ที่มีทีมมากที่สุดทีมหนึ่ง เปิดตัวใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง และมีคนพูดถึงมากที่สุดตั้งแต่ก่อนวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการ

“The Standard จะใหญ่กว่า The Momentum ประมาณ 10 เท่า ไม่ว่าจะเป็นจำนวนคนทำงาน ขอบข่ายการทำงาน ส่วนในด้านความพร้อมในเรื่องมีเดียก็ครบครันมาก เรา perform ทั้งออนไลน์ให้อ่าน เรามีวิดีโอให้ดู วิดีโอเราทำกันเป็นเรื่องเป็นราวอย่างกับสถานีโทรทัศน์ เรามีพอดแคสต์ (Podcast) นอกจากนั้นสิ่งหนึ่งที่เรามีแต่หลาย ๆ ที่ไม่มีคือเรามีนิตยสารด้วย เรามีนิตยสารแจกฟรีรายสัปดาห์ชื่อว่า The Standard สรุปก็คือ The Standard คือสำนักข่าวที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารครบครันในทุกแพลตฟอร์ม" นี่คือคำพูดบางช่วงบางตอนระหว่างการสัมภาษณ์แบบกลุ่มกับนักข่าวในงานวันเปิดตัว The Standard ของโหน่ง-วงศ์ทนง ที่นั่งสัมภาษณ์คู่กับอดีตบรรณาธิการThe Momentum เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

The Standard คืออะไร ?

โหน่ง-วงศ์ทนง : The Standard คือสำนักข่าวที่นำเสนอทุกข่าว ทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ถ้าพูดถึง The Standard ก็อาจเทียบได้กับสำนักข่าวในโลกนี้ ถ้าใหญ่ ๆ ก็ CNN, Bloomberg, Huffington Post เราก็นำเสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในสังคมและโลกทุกวัน เพียงแต่ผมคิดว่าความต่างของแต่ละสำนักข่าวไม่ว่าของทั้งไทยและต่างประเทศก็อยู่ที่รสนิยม ความเชื่อ ของคณะบรรณาธิการว่า จะนำเสนออย่างไร ด้วยรูปแบบอย่างไร

The Standard ด้วยความที่พวกเราผ่านการทำสื่อมามาก และคนกลุ่มหนึ่งที่เราสื่อสารอยู่เสมอก็คือคนรุ่นใหม่ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา คนทำงาน เจ้าของกิจการ เราก็รู้ว่าคนรุ่นใหม่หรือคนจำนวนมากเขาชอบเสพอะไรที่มันไม่ยากเกินไป อะไรที่มันยากเกินไปเขาจะปฏิเสธก่อนซึ่งมันก็ตรงกับรสนิยมของเรา เพราะเราเชื่อในเรื่องการทำเรื่องยาก ๆให้มันง่าย

เนื้อหาของ The Standard ในแต่ละบทความจะซีเรียสมากเลย ซีเรียสในความหมายคือจริงจัง แต่มันไม่เครียด เพราะเรามีวิธีนำเสนอให้มันอ่านสนุก อ่านแล้วอยากอ่านอีก ผมมีความมุ่งหวังว่าวันหนึ่ง The Standard จะเป็นหนึ่งในสามสำนักข่าวที่คนตื่นเช้ามาแล้วอยากเข้าไปอ่านข่าว ส่วนThe Standard ความได้เปรียบอย่างหนึ่งของบริษัทเราคือ เรามีคณะทำงานที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับสำนักข่าวออนไลน์ก่อนหน้านี้ที่คุณเคนทำมาคือ The Momentum

ธุรกิจ The Standard ประกอบไปด้วย

1. เว็บไซต์ thestandard.co เริ่ม publish 5 มิ.ย. 60

2. Podcast ทำอย่างครบวงจรเหมือนสถานีวิทยุ เริ่มจัดรายการเดือนสิงหาคม 60

3. นิตยสารแจกฟรีรายสัปดาห์ (Free Copy) เริ่มแจก 3 ก.ค. 60

4. การจัดอีเวนท์ ตั้งเป้าเริ่มจัดงานอีเวนท์ช่วงปลายปี 60

“ในอนาคตถ้ามี Virtual Reality (VR) เราก็จะตามไป พูดง่าย ๆ คือเราจะปรับตัวไปตามแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป มวลชนอยู่ไหนเราจะตามไปที่นั่น" เคน-นครินทร์ กล่าว

ความตั้งใจในการทำสื่อของ The Standard ?

โหน่ง-วงศ์ทนง : การทำสื่อในยุคสมัยนี้ จะเรียกว่าง่ายก็ง่าย จะเรียกว่ายากก็ยาก ง่ายในความหมายผมก็คือถ้าจะทำสื่อ (ออนไลน์) ให้มีคนแชร์กันเยอะ ๆ ให้มากที่สุดผมรู้ว่ามีวิธีทำอย่างไร แต่ด้วยความคิดของพวกเรา เราไม่อยากทำสื่อประเภทนั้นซึ่งมีคนทำอยู่เยอะแล้ว เราไม่อยากเป็นสื่อที่เร็วที่สุดด้วย เราอยากเป็นสื่อที่ลึกที่สุดในเรื่องที่เร็วที่สุด

ในแง่หนึ่งผมรู้สึกยินดีที่ The Standard เป็นที่จับตาของสังคม ผมคิดว่าต้นทุนที่พวกเราทุกคนทำงานอยู่ในวงการสื่อสารมวลชนนี้มานาน มันพอจะอธิบายให้คนเห็นแล้วว่าเราเป็นคนที่ตั้งใจจะทำสื่อที่มีคุณภาพ ส่วนผลพวงที่เกิดขึ้นจากเรื่องอื้อฉาวผมมองว่าเป็นเรื่องดีที่พอเริ่มต้นเราก็ได้ทบทวน และระวังมากขึ้น แต่แน่นอนเราไม่ได้เป็นสื่อเด็กดีที่อยู่ระเบียบแบบที่คุณครูบอก เรามีความเป็นตัวตนของเราอยู่ รอดู The Standard

นิยามสื่อของ The Standard ?

เคน-นครินทร์ : ผมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของความน่าเชื่อถือ ความเป็นกลางเป็นสิ่งที่วัดกันยาก ความเป็นกลางไม่ใช่หมายความว่าเราอยู่ตรงกลาง แต่ความเป็นกลางในความหมายของผมคือการให้พื้นที่ทุกฝ่ายและให้โอกาสคนอ่านได้อ่านในเรื่องที่เขาไม่เชื่อบ้าง แต่น้ำหนักผมยอมรับว่าบางเรื่องเราให้น้ำหนักกับเรื่องนั้นไม่ได้จริง ๆ ผมยกตัวอย่างเช่น เรื่องโลกร้อน 99% เป็นเรื่องที่เป็นเรื่องจริง แต่ผู้นำบางท่านก็ไม่เชื่อ ผมคิดว่าเราไม่ต้องมีความเป็นกลางในเรื่องนี้ ผมคิดว่าความเป็นกลางคือการให้พื้นที่ในเรื่องที่ต้องดีเบตกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องค่อย ๆ ปรับ และมันเป็นศิลปะในการบาลานซ์ของสองฝ่าย

มีเรื่องไหนจะไม่แตะไหม ?

เคน-นครินทร์ : อืม...

โหน่ง-วงศ์ทนง : หัวเราะ …

"ก็เหมือนสื่ออื่น ๆ ทั่วไปครับ ทุกคนก็คงรู้กัน" เคน-นครินทร์ กล่าว

วิธีการทำข่าวของ The Standard เป็นอย่างไร ?

เคน-นครินทร์ : มีนักข่าวภาคสนามแทบจะทุกเซ็คชั่น เราเพิ่มนักข่าวขึ้นมารวมแล้วก็ 10 คนได้ วิธีการทำงานของนักข่าวก็คงทำงานเหมือนต่างประเทศคือมีการครีเอทคอนเทนต์ขึ้นมาเอง และก็มีการนำคอนเทนต์มาวิเคราะห์ต่อ ข่าวก็มีทั้งตามกระแส และสวนกระแส ทำสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันดี มันน่าสนใจ มันสำคัญกับสังคม

ผมคิดว่ามันต้องบาลานซ์กันระหว่างการรายงานข่าวกับการวิเคราะห์ข่าว แต่การรายงานข่าวหรือ Report เราก็มี เราจะมีการทำเฟซบุ๊กไลฟ์เกือบทุก ๆ วัน เรามีนักข่าวการเมือง กีฬา และเศรษฐกิจ ลงพื้นที่และทำทุกอย่างเพื่อให้มีความสดใหม่ของข่าวมากขึ้น แต่ก็คงต้องรอดูว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน อันนี้เป็นความตั้งใจที่จะให้ต่างจาก The Momentum คือเราจะมีความเป็นสำนักข่าวจริง ๆ มากขึ้น

โหน่ง-วงศ์ทนง พูดเสริมว่า ข่าวอีกประเภทที่เรามุ่งหวังตั้งใจจะทำมาก ๆ คือข่าวinvestigative ถ้าเรียกเป็นภาษาไทยก็คือ่าวสืบสวนสอบสวน แต่ไม่ใช่เฉพาะในแง่ข่าวอาชญากรรมอย่างเดียว มันมีเรื่องที่เราสามารถทำเป็นข่าวinvestigate ได้อีกเยอะเลยทั้งเรื่องการศึกษา สังคม วัฒนธรรม รวมไปถึงความเชื่อ ก็พยายามให้กองบรรณาธิการทำข่าวในเชิงนี้ให้มากขึ้นซึ่งเรายังไม่ค่อยเห็นในเมืองไทย

แรงกระเพื่อมระดับไหนในการนำเสนอข่าวที่รับได้ ?

โหน่ง-วงศ์ทนง : ผมรู้นะครับว่าเราอยู่ในช่วงเวลาที่มีข้อจำกัดมากมายในเรื่องของสิทธิเสรีภาพในการทำสื่อ แต่ผมกลับไม่คิดน้อยเนื่อต่ำใจหรือโกรธ แต่กลับคิดว่าเป็นความท้าทายมาก ๆ ของคนที่ทำอาชีพสื่อสารมวลชนในช่วงเวลานี้ที่จะสื่อสารอย่างไรท่ามกลางความแหลมคมและกรอบที่เราถูกจำกัดอยู่ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารหรือความรู้ความคิดที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด

สำหรับผม ๆ คิดว่าช่วงนี้โคตรสนุกเลย ผมไม่รู้ว่าเคนคิดเหมือนผมหรือเปล่า (ฮ่า ๆ)

“ผมคิดว่าคนทำสื่อควรจะมีหัวใจที่กล้าหาญเป็นเบื้องต้น มันไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่คุณจะเริ่มต้นด้วยการเป็นคนหงอ ๆ หรือเป็นเด็กดีที่ทำตามระเบียบที่เขาสั่ง ถ้าอย่างนั้นอย่าไปทำสื่อเลยเข้ากรมทหารไปดีกว่า เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าความกล้าหาญเมื่อผสมกับอุดมการณ์และเจตนาที่ดีของเรา มันเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายมากที่จะพิสูจน์ความสามารถคนทำงานใน The Standard ว่า คุณจะก้าวข้ามกรอบต่าง ๆ เหล่านี้ไปได้อย่างไรโดยที่คุณไม่สูญเสียตัวตนของคุณ" โหน่ง-วงศ์ทนง กล่าว

เสียงวิจารณ์คอมลัมนิสต์นักการเมืองดังท่านหนึ่ง ?

เคน-นครินทร์ : ตอนแรกพูดตรงๆว่า เราไม่ได้ตั้งใจจะให้เขียนเรื่องการเมืองเลย เราจะให้เขียนเรื่องเบา ๆ แต่พอมันมีผลกระทบเกิดขึ้นเราก็ต้องรับฟัง ถ้าให้ตอบตอนนี้ผมคิดว่าถ้าให้ตอบตอนนี้คิดว่าไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมเลยที่จะมีนักการเมืองคนไหน จะเข้ามาเขียน เราดูจากแรงกระแทกแล้วคิดว่ามันมีผล เราคิดว่าไม่มีความจำเป็นใด ๆ ในอนาคตที่จะมีนักการเมืองเข้ามาอีก

"ข้อตกลงตอนแรกคือขอดูแนวทางเว็บ แล้วค่อยมาตกลงกันว่าจะเขียนแนวไหนอย่างไร จริง ๆ ก็คุยกันตั้งแต่ The Momentum แล้วครับ แต่ตอนนั้นก็ไม่ทราบว่าทำไมไม่เกิดเรื่องแบบนี้เหมือนกัน แต่พอแนวทางออกมาแบบนี้ก็ไม่สบายใจกันทั้งสองฝ่าย"

เคน-นครินทร์ ชี้แจงต่อว่า ผมว่าให้ดูที่ภาพรวม ถ้าพูดถึงเรื่องคอลัมนิสต์ก็ให้ดูว่าใครอยู่ฝ่ายไหนสีไหนบ้าง ถ้าในแง่ของมาตรฐาน เราพูดว่าเราพยายามดีกว่า เราไม่ได้พูดว่าเราจะทำให้ดีไปเลยอย่างโน้นอย่างนี้ เราพยายามที่จะทำให้ดีที่สุด ผมคิดว่าทุกคนเป็นสื่อเหมือนกัน ผมเข้าใจว่าทุกวันนี้สื่อโดน disturb เต็มไปหมด ในแง่ธุรกิจก็แย่อยู่แล้ว เรายังต้องมาดิ้นรนที่หัวใจแห่งวารสารศาสตร์ คือเรา (The Standard) พยายามตั้งใจที่จะให้เกิดความหลากหลายมากที่สุด แต่พอเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นมาเราพร้อมรับฟัง และเรารู้สึกว่าเราไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่เราต้องถือหางเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราดูวิธีการนำเสนอข่าวดีกว่า ขอให้ดูกันยาว ๆ ดีกว่า ผมยืนยันว่าผมรับฟัง และวิธีที่ดีที่สุดในการรับแรงกระแทกคือ เราเอาไปปรับปรุงแก้ไข เราไม่ได้รู้สึกว่าเราดีตลอดเวลา เราก็เป็นคนธรรมดาที่ทำหน้าที่ของเราเท่านั้นเอง

“ผมพูดติดตลกอย่างหนึ่งว่า ช่วงนี้มีคนพูดเยอะมากว่านี่มันอวยฝั่งนี้ฝั่งนั้น ตอนผมอยู่ Momentum ผมเป็นลิเบอร่าน เสื้อแดง พูดกันตรง ๆ พอมาอยู่ตรงนี้ผมกลายมาเป็นอีกฝั่งว่าอวยอีกฝั่ง ผมก็งงว่าผมเป็นใคร"

โหน่ง -วงศ์ทนง พูดเสริมต่อจากเคนทันทีว่า อีกเรื่องหนึ่งที่เรายืนยันได้ว่าเราไม่มี hidden agenda ใด ๆในการทำสำนักข่าว The Standard ก็คือบริษัทนี้ก่อตั้งโดยคนปกติธรรมดาอย่างพวกเรา ไม่มีนายทุนในแง่เชิงการเมืองหรือแม้กระทั่งองค์กรธุรกิจหนุนหลัง เราเป็นสื่ออิสระอย่างแท้จริง ผมยืนยันว่าเราไม่มีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง ผมก็คล้าย ๆ คุณเคน-นครินทร์ คือชีวิตที่ผ่านมาก็ถูกผลักออกไปอยู่กับทุกฝ่าย แต่ผมคิดว่าผมเข้าอกเข้าใจมากกว่า และผมคิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นภาพสะท้อนที่ดีเลยว่า จริง ๆ แล้วสภาพที่ทางผู้ปกครองพยายามทำให้เห็นอยู่ จริง ๆ แล้วมันไม่ได้สงบ ไม่ได้เข้าใจกันอย่างที่คิด มันยังมีความขัดแย้งทางความคิดอยู่อีกมาก ในฐานะสื่ออย่างพวกเราก็มุ่งหวังที่จะเป็นตัวกลางในการทำให่เกิดการพูดคุยเจรจาเพื่อให้เกิดการปรองดองอย่างแท้จริง

“ยังไม่มีคอลัมนิสต์คนไหนถอนตัว ทุกคนเข้าใจไม่ว่าจะฝั่งไหน คนที่อยู่ละฝั่งกับคนนั้นก็โทรมาหาผมและให้กำลังใจ" เคน นครินทร์ กล่าว

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบต่อความเชื่อมั่นในทางธุรกิจหรือไม่ ?

เคน-นครินทร์ : ผมขอตอบก่อนแล้วกันในฐานะที่มีโอกาสได้ไปคุยกับลูกค้าบ้าง อันนี้พูดกันตรง ๆ ว่าเราไม่ค่อยมีใครคิดว่าเราอยู่ฝั่งไหน คนก็จะคิดว่าเราเป็นสื่อที่ทำงานสร้างสรรค์ ผมคิดว่าขั้นต้นไม่ค่อยมีผลกระทบด้านธุรกิจเท่าไหร่ อีกอย่างหนึ่งผมคิดว่าการเกิดกระแสแบบนี้ขึ้นมา ผมประเมินว่า มันไม่ได้เยอะมากเกิน 50% มันเป็นเสียงหนึ่งที่เรารับฟัง ยังมีเสียงอีกส่วนของคนส่วนใหญ่ที่เขาเฝ้ารอและติดตามและคอยวิพากษ์วิจารณ์เราต่อ ผมคิดว่ามันไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ขนาดนั้น แต่ไม่ว่าจะเสียงกี่เสียงเราก็รับฟัง ดังนั้นถ้าในเชิงธุรกิจในขั้นต้นที่มีโอกาสได้คุยกับลูกค้าเหตุการณ์นี้แทบจะไม่มีผลกระทบ

โหน่ง-วงศ์ทนง พูดเสริมต่อว่า การทำ The Standard เราคิดตั้งแต่ต้นแล้วว่า เราไม่ได้ทำสื่อเอาใจใครหรือทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดพอใจ เราทำสื่อที่ตรงไปตรงมาและกลางมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เรามีความตั้งใจด้วยซ้ำว่าจะแสดงให้เห็นถึงความคิด ทัศนะ ให้ครอบคลุมทุกฝ่ายให้มากที่สุด

“วันเริ่มต้นวันแรก ถ้าจะขออะไรสักอย่าง ก็อย่างที่คุณเคนบอกคือขอให้ดูกันยาว ๆ ขอเวลาให้เราทำงานนิดนึง" วงศ์ทนง กล่าว

อยากให้พูดในแง่ธุรกิจว่าลงทุนไปเท่าไหร่ และจะหารายได้จากไหนบ้าง ?

โหน่ง-วงศ์ทนง : ทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ใช้ไปกับการสร้างสำนักงานเกือบ 10 ล้านบาท ในเชิงธุรกิจเท่าที่ดูเสียงตอบรับจากลูกค้าแล้วสบายใจได้ โดยรายได้มาจากค่าโฆษณาเป็นหลัก โชคดีที่ผลงานที่ผ่านมาทำให้ลูกค้าเข้าใจเราว่าเราเป็นคนทำสื่อแบบครีเอทีฟ เพราะฉะนั้นด้วยความคิดของลูกค้าสมัยนี้ที่เขาไม่ชอบขายของแบบฮาร์ดเซลเพราะเขารู้ว่าการทำแบบนั้นหรือการแอบขายหลอกชาวบ้าน บ่อยครั้งมันตีกลับมาทางลบ ลูกค้าเลยให้โอกาสเราในการคิดโฆษณาที่คนดูเมื่อดูแล้วก็ได้อะไรอื่น ๆ ไปด้วย เพราะฉะนั้นโฆษณาใน The Standard จะเป็นโฆษณาที่เหมือนเป็นคอนเทนต์เรื่องหนึ่งคือมันดูสนุกมาก

เคน-นครินทร์ พูดเสริมว่า เท่าที่ผมได้ไปสัมผัสกับลูกค้าพบว่าโฆษณายังมีพื้นที่อีกมาก เราอยากทำอะไรที่ Made to Order เหมือนเราเป็นเอเจนซี่ให้กับลูกค้าด้วย คำว่า Stand up for the people มันไม่ใช่แค่คนอ่านอย่างเดียว Client ด้วย เราต้องช่วยเหลือกัน Client อยากจะนำเสนอแบบไหน แบบไหนที่มันไม่เหมาะกับผู้บริโภคเรา แบบไหนที่มันล้ำเส้นจรรยาบรรณ เราจะบอกเขาตรงไปตรงมา อันไหนเป็นโฆษณาเราจะเขีบนบอกว่าเป็นแอดเวอร์ทอเรียล (Advertorial) ชัดเจน หรือถ้าเป็นการโฆษณาที่เป็นการสนับสนุนอย่างเดียวเนื้อหาไม่เกี่ยวกับกองบรรณาธิการเราก็จะเขียนชัดเจนว่าใครสนับสนุน เพราะฉะนั้นมันตรงไปตรงมาทุกอย่าง สิ่งที่เราทำไม่ใช่เพื่อพวกเราอย่างเดียว ผมรู้สึกว่าเราทำเพื่อลูกค้า และแสดงความจริงใจกับคนอ่านด้วย

โหน่ง-วงศ์ทนง กล่าวอีกว่า ความทะเยอทะยานอีกอย่างที่เราตั้งเป้าไว้คือเราอยากเป็นสำนักข่าวที่ขายข่าวให้กับต่างประเทศด้วยไม่ว่าจะเป็นในยุโรปหรือเอเชีย เพราะที่ผ่านมาในเมืองไทยต้องซื้อของเมืองนอกหมด แต่เราเชื่อว่ามาตรฐานของข่าว บทความ ภาพถ่าย และดีไซน์ของเรา ไม่น้อยหน้าต่างประเทศ ความหวังของผมที่บอกกับทุกคนในบริษัทคือวันหนึ่งเราจะขายข่าวให้ฝรั่งมาซื้อเรากลับไป และเราเชื่อว่าเราจะทำได้

ดูโอกาสในการเติบโตค่อนข้างดี ถ้าจะมีกลุ่มทุนอยากจะเข้ามาร่วมลงทุนด้วยในอนาคต จะเป็นอย่างไร ?

โหน่ง-วงศ์ทนง ไม่เอาแล้วครับ (หัวเราะ) เข็ดแล้ว เหตุการณ์ที่ผ่านมาก็ให้บทเรียนกับชีวิตหลายอย่าง อย่างแรกคือ มันบอกให้ผมรู้ว่าอย่าปล่อยปะละเลยเรื่องธุรกิจ เรื่องเงินทองมากไป ก่อนหน้านี้ธรรมชาติของผมเป็นคนที่ชอบทำงาน ทำคอนเทนต์ เพราะฉะนั้นก็ปล่อยให้อีกฝั่งหนึ่งดูแลเรื่องนี้ไป มันก็เกิดเรื่องขึ้นมา แต่พอมาก็ตั้งบริษัทนี้เราก็ตั้งใจเลยว่าจะให้มันมีความซับซ้อนน้อยที่สุด จะเห็นว่าผู้ถือหุ้นก็ชัดเจนเลยว่าเป็นใคร ที่สำคัญก็ชัดเจนเลยว่าเราเป็นฝ่ายถือหุ้นใหญ่ มันก็เป็นคำมั่นสัญญาที่ผมให้กับผู้ร่วมลงขัน ว่าเราจะตั้งบริษัทใหม่แล้วเราจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วยกัน เพราะฉะนั้นจนถึงจุดนี้และในอนาคตผมไม่เห็นความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องรับผู้ร่วมลงทุนรายใหม่เข้ามา

เมื่อ โหน่ง a day ถึงคราวต้องเปลี่ยน “นามสกุล" ?

โหน่ง-วงศ์ทนง : จากโหน่ง a day เดี๋ยวนี้เป็น โหน่ง สแตนดาร์ด (ฮ่า ๆ) ไม่เข้าปากเลย

เคน-นครินทร์ : หัวเราะ

โหน่ง-วงศ์ทนง : ชื่อผมมันผูกกับ a day มาอาจจะเพราะว่าผมเป็นคนก่อตั้งมันและเป็นเหมือนหน้าตาของแบรนด์ เมื่อเดือนที่แล้วไปหาดใหญ่ยังมีคนมาทักสวัสดีคุณอะเดย์ (ฮ่า ๆ) เขาอาจจะเข้าใจว่าผมชื่ออะเดย์ ชื่อเล่นชื่อโหน่ง

ผมไม่เคยรู้สึกไม่ภูมิใจเลยครับที่ผมมีนามสกุล a day แม้กระทั่งจนถึงนาทีนี้ก็รัก a day มาก ๆ รักนามสกุลนี้มาก ผมไม่ได้มีความต้องการที่จะลืมมันหรือเปลี่ยนมัน ประสบการณ์ 17 ปีที่มีค่าและน่าประทับใจกับชีวิตผมมาก ๆ ผมได้ทำงานกับพี่ ๆ น้อง ๆ ที่เรารักและมีจุดหมายในการทำงานในทางเดียวกัน a day สำหรับผมยังคงเป็นความทรงจำที่สวยงาม วันหนึ่งผมก็คงเล่าให้ลูกหลานฟังว่าผมเคยทำนิตยสารเล่มนี้ โดยส่วนตัวผมก็ยังจะเป็นแฟน a day ต่อไป เพราะน้องๆที่ทำก็เป็นน้องๆ ที่เคยทำงานมาด้วยกัน อาทิตย์ที่แล้วเพิ่งนัดไปกินส้มตำกันเอง มันแสดงให้เห็นว่าคนทำงานในบริษัทเดิมของผมเราไม่ได้ตัดขาดโกรธเกลียดกัน เรายังเป็นพี่เป็นน้องกันอยู่

ถ้า a day คือความทรงจำที่สวยงาม แล้ว The Standard เป็นอะไร ?

โหน่ง-วงศ์ทนง: เป็นคำถามที่ดีมากเลยครับ เอิ่ม....วันที่ผมตัดสินใจลาออกจาก a day เป็นวันที่ผมเจ็บปวดมาก ๆ บางทีพูดขึ้นมาทีไรก็ยังรู้สึก ความเจ็บปวดนั้นยังอยู่ คือผมตั้งมันยากมากเลยนึกออกไหมครับ จากเด็กอายุ 30 ที่ฝันอยากทำหนังสือเล่มหนึ่ง เสร็จแล้วผมต้องมาทิ่งมันไปโดยออกมาตัวเปล่า มันเจ็บปวด มันเศร้า แต่เหตุการณ์ทั้งหมดจนกระทั่งมาสู่วันนี้ผมเริ่มเชื่อคำพูดทางพระที่ว่า “สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ" ผมเชื่อแบบสุดหัวใจในตอนนี้ เพราะจากที่ผมแย่มากในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมถูกโจมตี แต่ผมพยายามอดทนอธิบายความจริงเอาความจริงเข้าไปสู้กับมัน ซึ่งพอบทสรุปมันออกมาซึ่งผมดีใจมาก ๆ คือบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่จะซื้อบริษัทผมในที่สุดเขาก็ไม่ซื้อวันนั้นเป็นวันที่ผมกับคุณนิติพัฒน์ (สุขสวย) รู้สึกโล่งใจมาก เพราะเราได้แสดงความบริสุทธิ์ใจอย่างสิ้นเชิงให้ทุกคนเห็น ล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 5 มิ.ย. บริษัทที่ว่านี้แจ้งล้มละลายกับตลาดหลักทรัพย์วันเดียวกับที่ผมก่อตั้งThe Standard ผมว่ามันเหมือนนิยายเลย

“สำหรับผม The Standard เหมือนผมได้ Reborn ขึ้นมาอีกครั้ง จากสิ่งที่ผมทำจาก a day มาสู่ The Standard ซึ่งเป็นการเกิดใหม่ที่มีความสุขและสบายใจมาก ๆ อาจจะเพราะว่าผมได้ทำงานกับกลุ่มคนที่เขามีพลังมีความทะเยอทะยาน และมีควมรู้ความสามารถเหมือนกัน มีอุดมการณ์เดียวกันที่อยากทำสื่อที่ให้ความรู้ ความคิด ความเข้าใจกับคนในสังคม" โหน่ง-วงศ์ทนง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ