PR Interview: นักวิชาการด้านสื่อจากม.เกษตร ชี้การประชาสัมพันธ์ต้องไล่ตามกระแสปัจจุบันให้ทัน

ข่าวทั่วไป Friday January 27, 2017 11:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

“การสื่อสารในองค์กรคำนี้ไม่พอ ปัจจุบันต้องใช้คำว่า การสื่อสารในเครือข่าย เพราะไม่มีองค์กรไหนอยู่ได้ด้วยตัวเองในโลกของสื่อใหม่ องค์กรต้องปรับการสื่อสารตามสื่อที่เกิดขึ้นใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา"

ผศ.ดร.พรทิพย์ เย็นจะบก รองผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KURDI) บางเขน อาจารย์มีความเชี่ยวชาญในวงการสื่อมวลชนกว่า 30 ปี นอกจากนี้ยังนั่งตำแหน่งกรรมการ UNESCO ฝ่ายสื่อสารมวลชนประเทศไทย มีโอกาสเป็นผู้แทนไทยในการประชุมใหญ่ที่กรุงปารีส ถึง 2 ครั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ด้วยความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้เท่าทันสื่อจึงเกิดการสร้างและรณรงค์ความรู้ดังกล่าวขึ้นในประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า 10 ปี

ส่วนภาระงานทางวิชาการนั้น อาจารย์ สอนสาขานิเทศศาสตร์ ทั้งระดับปริญญาตรีและโทกว่า 30 ปี ควบคู่ไปกับการเป็นที่ปรึกษางานวิจัยในหลายหน่วยงาน เช่น งานความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อการจัดทำฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรและสาธารณสุข งานกองทัพไทยเพื่อการสำรวจทัศนคติประชาชนที่มีต่อกองทัพ งานกระทรวงดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ศึกษาศักยภาพของศูนย์ดิจิทัลชุมชน ประกอบการเป็นวิทยากรด้านการสื่อสารองค์กร หรือการประชาสัมพันธ์ ให้กับหน่วยงานต่างๆ เช่น ศาลปกครอง หรือการเคหะแห่งชาติ

ปัจจุบันรับหน้าที่รองผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KURDI) และเพิ่งผ่านการเป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารที่ดูแลงานด้านการประชาสัมพันธ์ให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ด้วย

นิยามงานพีอาร์ และเผยแพร่ในความหมายของอาจารย์เป็นอย่างไร ? : การประชาสัมพันธ์เป็นกระบวนการสื่อสารเพื่อสื่อสารถึงนโยบายขององค์กร การสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร การรับรู้รับทราบประชามติ ป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้การทำงานขององค์กรได้รับการยอมรับอย่างดีในภาคสังคม

แต่การสื่อสารเพื่อการเผยแพร่ จะเป็นการมุ่งเน้นไปที่สื่อที่จะนำสาระ ข่าวสาร หรือคอนเทนต์ ไปถึงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อการเผยแพร่ชื่อเสียงของหน่วยงานในระดับองค์กรและระดับบุคคล

วัตถุประสงค์ของการเผยแพร่งานวิจัยของหน่วยงาน KURDI ? : คือการใช้สื่อที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อการเผยแพร่ผลงานวิจัยของอาจารย์ เพราะอาจารย์ทุกคนมีหน้าที่หนึ่งที่นอกจากการสอนคือ ต้องทำวิจัยอันเป็นหนทางของการขอตำแหน่งทางวิชาการ ฉะนั้นเมื่ออาจารย์มีผลงานแล้วก็ควรที่จะต้องเผยแพร่ เพื่อให้เกิดการนำองค์ความรู้นั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในสังคม จากผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ ในวารสารระดับชาติและนานาชาติ เพราะฉะนั้นงานหนึ่งที่สำคัญของ KURDI คือ การจัดทำวารสารเพื่อการเผยแพร่งานวิจัย

สื่อที่ KURDI ใช้เป็นช่องทางในการเผยแพร่ ? : เรามีรายการโทรทัศน์ชื่อว่า “เกษตรศาสตร์นำไทย" ที่ปัจจุบันเราได้ปรับตัวนำเนื้อหาไปเผยแพร่ในช่องทาง ยูทูป เป็นการปรับตัวตามกระแสผู้อ่าน , มีรายการวิทยุสถานีวิทยุมก. ที่ทำการออกอากาศทุกสัปดาห์ , เว็บไซต์ , บล็อก , เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์,วารสารเกษตร , Kurdi News สื่อทั้งหมดจะลงเผยแพร่ผลงานวิจัยของคณาจารย์มหาวิทยาลัยใน 13 คณะและสถาบันอื่นๆ

KURDI วางแนวทางการเผยแพร่งานวิจัยไว้อย่างไร ? : เรามีกฎกติกาว่า ต้องเป็นเรื่องที่มีลักษณะที่ส่งเสริมการกินดี อยู่ดี มีสุข ของผู้รับ เพราะบางศาสตร์ บางสาขาวิชาเป็นทฤษฎีหรืองานที่ยากแก่การเข้าใจ ยากแก่การเข้าถึง หรือมีคุณค่าทางวิชาการแต่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม หรือไม่มีความน่าสนใจในกระแสสังคม เราก็มีกรรมการคัดเลือกเรื่อง ตามวัตถุประสงค์ มีการสร้างเนื้อหาขึ้นมาใหม่เพื่อให้ผู้อ่านมีความเข้าใจ เข้าถึงได้มากขึ้น ก่อนที่จะเผยแพร่ผลงานวิจัยนั้นๆ ออกไป

กลุ่มผู้รับสารของ KURDI เป็นใคร ? : ผู้อ่าน หรือ ผู้รับสารเรามีหลายกลุ่ม ทั้ง นักวิชาการในมหาวิทยาลัย นิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ตลอดจนเกษตรกร ภาคธุรกิจ

การทำหน้าที่สื่อสารองค์กรให้กับสถาบันการศึกษาเหมือนหรือต่างกับองค์กรอื่นๆ อย่างไร ? : จากประสบการณ์เคยมีส่วนในการวางแผนงานประชาสัมพันธ์ให้กับมหาวิทยาลัย และแลกเปลี่ยนในวงเสวนากับหน่วยงานภาคเอกชน จุดต่างแรก คือ งบประมาณ จุดที่สอง คือ ความรวดเร็วในการปรับแผนเพื่อรองรับสถานการณ์ต่างๆ เพราะหน่วยงานราชการวางแผนการข้ามปี เพื่อใช้งบประมาณในปีถัดไป แต่ในความเป็นจริง “การประชาสัมพันธ์ต้องไล่ตามกระแสปัจจุบันให้ทัน ทันทั้ง คอนเทนต์ และเครื่องมือ " ไม่มีงบประมาณการซื้อสื่อ หรือทำสื่อที่มีราคาแพงๆ ไม่มีแผนการจัดอีเวนท์ที่หรูหรา ต้องเรียบง่ายประหยัด มีกฎข้อบังคับการประกวดราคา การจัดซื้อจัดจ้าง การจ่ายเงินช้า เอกชนมารับงานก็ไม่อยากทำงานด้วย งบต่ำสื่อก็ไม่ค่อยทันสมัยตามราคาที่ควรจะเป็น ภาพลักษณ์ก็จะประมาณอย่างสื่อที่ออกไปเท่าที่ได้ อีกทั้งใช้งบมาก คนก็ไม่เข้าใจ จะมีคำถามมากมายว่าเอาไปทำอย่างอื่นก่อนดีไหม

แต่ในส่วนขององค์กรอื่นโดยเฉพาะเอกชน ที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ การสื่อสาร การสร้างสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ นึกว่าต้องทำอะไรตอบรับกระแสสังคม คิดเดือนเดียวทำได้เลย วางแผนปีต่อปี ปรับแผนง่าย ความคล่องตัวสูง งบประมาณพร้อมจ่ายที่สูงกว่า

ปัญหาในการทำงานและการแก้ปัญหา ? : ปัญหาที่พบคือเราขาดบุคลากรด้านการวางแผนงานประชาสัมพันธ์โดยตรง เพราะกรรมการส่วนใหญ่ที่มาทำงานด้านนี้คืออาจารย์ที่มีงานสอน งานวิจัยในมือ หรือมาเป็นผู้บริหารตามวาระ แผนงานจะไม่นิ่งจะขึ้นอยู่กับนโยบายผู้บริหารในสมัยนั้นๆ บุคลากรที่มีอยู่ก็จะทำงานภายใต้นโยบายผู้บริหารที่ปรับเปลี่ยนกันเสมอ อยากได้มืออาชีพมา แต่นั่นแหละนะมืออาชีพอยู่กับเอกชนเงินเดือนสูงกว่ารัฐบาล ถ้าหน่วยนี้เข้มแข็งอยู่ได้ด้วยตัวเองไม่ว่าผู้บริหารชุดไหนมา งานก็เดินได้ตามแผนที่ควรจะเป็น ถึงผู้บริหารจะให้ความสนใจกับงานนี้หรือไม่ก็ตาม

การทำพีอาร์ในอดีตกับปัจจุบันเหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร ? : สมัยก่อนใช้ คำว่าประสัมพันธ์ แต่ปัจจุบัน ต้องใช้คำว่า สื่อสารองค์กร เพื่อการทำงานครอบคลุม ภาพงานชัดเจนขึ้น มีสื่อมากขึ้น การสื่อสารในองค์กรคำนี้ไม่พอ ปัจจุบันต้องใช้คำว่า การสื่อสารในเครือข่าย เพราะไม่มีองค์กรไหนอยู่ได้ด้วยตัวเองในโลกของสื่อใหม่ จึงจำเป็นที่องค์กรต้องปรับการสื่อสารตามสื่อที่เกิดขึ้นใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

ตามนโยบายการปฎิรูปเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 เราการปรับตัวอย่างไรกับการทำงานในสถาบันการศึกษา ? : ต้องปรับตัวกันอยู่แล้ว ไม่เฉพาะองค์กรที่ปรับ แต่บุคลากรทุกคนต้องปรับ องค์กรจะทำหน้าที่สื่อสารถึงกันให้มีการปรับการทำงาน จัดอบรม คอมพิวเตอร์ โปรแกรมใหม่ที่ส่งเสริมระบบการทำงานที่เลิกการใช้กระดาษให้มากที่สุด มาใช้ระบบเอกสาร การเก็บ การกระจาย การเผยแพร่ ให้เข้าสู่ระบบ Digital หรือ e ให้หมด

อย่างที่สถาบันปรับตัวเต็มรูปแบบด้วยการจัดทำ E-magazine Kurdi for life ฉบับปฐมฤกษ์ จัดทำขึ้นด้วยเจตนารมณ์เพื่อเผยแพร่งานวิจัย ประกาศเกียรติคุณ และนำเสนอผลงานวิจัยของ คณาจารย์และบุคลากรของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการเสนอสาระน่ารู้ที่จะพัฒนาส่งเสริมคุณภาพชีวิต ให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีและมีความสุข ตลอดจนตอบโจทย์ สังคมผ่านงานวิจัยต่างๆ โดยในระยะแรกกำหนดออกเป็นไตรมาส E-magazine Kurdi for life ฉบับนี้เป็นการเริ่มต้นของการเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตอบรับสังคม ดิจิทัลเป็นอย่างดีด้วย

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ใช้บริการ NewsCenter บริการข่าวสารข้อมูลออนไลน์ และ iQNewsClip คลิปปิ้งข่าวออนไลน์ อาจารย์คิดว่ามีประโยชน์อย่างไร ? : ฐานข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกหน่วยงานในมหาวิทยาลัย ที่บุคลากรจะสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลในด้านงานต่างๆ ทั้ง งานวิจัย การเรียน การสอน ถือว่าเป็นสิ่งที่สถาบันการศึกษาควรจะต้องมีไว้รองรับบุคลากร

อนาคตอาจารย์มองว่าสื่อจะไปในทิศทางไหน ? : สื่อยังมีความสำคัญ โลกยังต้องการการสื่อสาร หน่วยงานยังต้องสื่อสารกับสังคมเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องขององค์กร

หากมองในแง่ของธุรกิจ สื่อต้องวิ่งตามโลกดิจิทัลให้ทัน เพราะปัจจุบันผู้รับสารเข้าไปอยู่ในโลกของดิจิทัลแล้ว ดังนั้นองค์กรสื่อไม่ว่าจะสายข่าว สายพีอาร์ สายโฆษณา จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะวิ่งเข้าหาสื่อใหม่เพื่อความอยุ่รอดของธุรกิจ

ท้ายนี้อาจารย์ฝากประชาสัมพันธ์ เชิญชวนเที่ยวงาน เกษตรแฟร์ ประจำปี 2560 โดยปีนี้มาในธีม "ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน" ระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2560 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ