PR Interview: ทฤษฎีมดกัดช้าง ส่ง "กัมปนาท ถวัลย์กิจดำรงค์" สู่ผู้นำ "เดอะ เรด คอมมูนิเคชั่น"

ข่าวทั่วไป Friday March 3, 2017 16:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มดตัวเล็กๆ อาจถูกบดขยี้และดูเหมือนจะไม่สามารถเดินหน้าทำอะไรใหญ่ๆ ได้ แต่เมื่อมดหลายตัวมาอยู่รวมกัน ผนึกกำลังกัน ก็อาจทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน นี่คือที่มาของทฤษฎีชื่อเก๋ “มดกัดช้าง" ที่ทำให้เกิดบริษัทพีอาร์จิ๋วแต่แจ๋ว “เดอะ เรด คอมมูนิเคชั่น" ภายใต้การบริหารของผู้นำวิสัยทัศน์ไกลอย่าง “กัมปนาท ถวัลย์กิจดำรงค์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ เรด คอมมูนิเคชั่น จำกัด ผู้ที่กุมงานไม่มากแต่ความสามารถครอบคลุมในทุกสายข่าว รู้ลึก รู้จริง ทันเทรนด์ เข้าใจตลาด และไม่สะดุดกับยุคดิจิตอล ไทยแลนด์ 4.0 ส่งผลให้ กัมปนาท แห่ง เดอะ เรด คอมมูนิเคชั่น คนนี้ สามารถนำทีมจับงานชิ้นใหญ่ได้โดยไม่ต้องอาศัยความใหญ่โตของบริษัท แฮปปี้ทั้งพีอาร์ ทั้งลูกค้า วินๆ ต่อเนื่องได้นานข้ามปี

กัมปนาท ถวัลย์กิจดำรงค์ กับที่มาของ เดอะ เรด คอมมูนิเคชั่น?

ที่มาก็คือว่า ตัวผมเองอยู่ในธุรกิจและงานในเรื่องการสื่อสารมาโดยตลอด เริ่มมาจากงานนักข่าวที่เดอะเนชั่น จากนั้นได้มาทำในส่วนของออนไลน์ ในสมัยที่อินเทอร์เน็ตเข้ามาใหม่ๆ ก็จะได้เรียนรู้กับออนไลน์เยอะ ซึ่งประสบการณ์ทุกอย่างเอามาถูกปรับใช้ในงาน แล้วบังเอิญได้มาจับงานพีอาร์เลยได้ใช้สกิลที่มี ตรงนี้เลยเกิดเป็นเดอะ เรด คอมมูนิเคชั่น ตอนแรกทำงานอยู่เอเจนซี่ก่อน แล้วมีลูกค้าสนใจอยากให้ช่วยทำประชาสัมพันธ์ให้ อันนั้นเป็นก้าวแรกที่เข้ามาทำงานในวงการพีอาร์ ลูกค้าเจ้าแรกตั้งแต่ก่อตั้ง จริงๆ ก่อตั้งมาแล้ว 2 บริษัท แต่ที่ทำหลักๆ คือ เดอะเรดคอมมูนิเคชั่น ซึ่งตัวเดอะเรดเองจะทำในส่วนของพีอาร์ด้วย คอนซัลท์ด้วย ที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร คือเป็นในเรื่องของคอร์ปอเรทคอมมูนิเคชั่น แบรนด์คอมมูนิเคชั่น และก็เป็นงานพีอาร์ที่เป็นบายอีเวนท์

ตอนทำเนชั่นเป็นนักข่าว แล้วทำไมถึงข้องเกี่ยวได้ทำพีอาร์ด้วย?

ไม่ๆ ตอนเนชั่นยังไม่ได้ทำพีอาร์ แต่เนชั่นเราเป็นนักข่าว เราได้เรียนรู้เรื่องการสื่อสาร การเขียนข่าว การจับประเด็น อันนี้เป็นพื้นฐานพอมาทำงานพีอาร์แล้ว เวลาคุยกับลูกค้าเราจะรู้ว่าอะไรที่ทำให้นักข่าวสนใจได้ แล้วเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการจะพรีเซนท์ อันนี้ก็จะมาช่วยเราได้เยอะ ในเรื่องการทำข่าวประชาสัมพันธ์ ทำประเด็น ทำจดหมายเชิญนักข่าว

เล่าถึงตอนแรกที่บอกว่าทำเอเจนซี่มาก่อนสักนิดนึง?

ตอนอยู่เอเจนซี่ที่แรก อยู่ทีมแอดเวอร์ไทซิ่งครับ ตอนนั้นดูในส่วนของออนไลน์คอมมูนิเคชั่น เป็นยุคแรกๆ ของการทำสื่อสารด้านออนไลน์ แล้วตอนนี้พอได้มาทำงานจริงๆ ทุกอย่างได้นำกลับมาใช้หมดเลย ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ เราจะเห็นว่าตอนนี้คนที่รับการสื่อสารส่วนใหญ่ จะสื่อสารผ่านออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์ก เว็บไซต์ เราจะเห็นเว็บไซต์ข่าวใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะ หรือแม้กระทั่งตัวสำนักข่าวเองก็ต้องปรับตัวเองเข้ามามีแพลตฟอร์มด้านออนไลน์ด้วย อันนี้จะทำให้เราเข้าใจถึงธรรมชาติในเรื่องของข่าว ในเรื่องของการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น

อะไรทำให้พี่เปลี่ยนใจผันตัวเองจากนักข่าวมาสู่วงการพีอาร์

คือจริงๆ แล้วตอนเป็นนักข่าว เรารู้สึกว่าเราสนุกกับงานนักข่าวนะ แต่พอทำมาสักพักนึงก็รู้สึกว่ามันยังไม่ใช่กับสิ่งที่เราต้องการ ก่อนมาเป็นพีอาร์ผมทำเว็บดีไซเนอร์มาก่อนด้วย ทำอินเทอร์เน็ตดีไซน์ สายออนไลน์มาเลย แล้วตอนทำแอดเวอร์ไทซิ่งเอเจนซี่นี่ แผนกตัวเองอยู่ติดกันกับแผนกพีอาร์ แล้วเวลาเค้าประชุมงานกัน ด้วยความที่เราเคยเป็นนักข่าวก็จะมีข้อเสนอแนะนู่นนี่ตลอดว่าเฮ้ย ทำไมไม่ทำอย่างนี้ล่ะ ก็เลยกลายเป็นว่าเราได้เรียนรู้งานพีอาร์ไปด้วย อันนั้นเป็นจุดเริ่มต้น จากนักข่าว จากเว็บดีไซน์เนอร์ ทำไมถึงกลายมาเป็นพีอาร์ครับ

เห็นว่าทำพีอาร์มา 2 บริษัทแล้วก่อนจะมาเปิด เดอะ เรด ?

พี่เคยเปิดบริษัทร่วมกับเพื่อนมาก่อน ก็ทำมาได้สัก 3-4 ปี ก่อนจะแยกออกมาเปิดบริษัทเอง ส่วนที่แยกตัวออกมาก็ด้วยความที่ตอนนั้นเรามีโจทย์ท้าทายตัวเองอยู่อย่างนึง คือมีระบบที่พี่คิดไว้ว่ามันน่าจะดี แล้วอยากพิสูจน์ว่ามันจะทำได้มั้ย ถ้าเอาระบบแบบนี้มาใช้ในการทำงานแล้วผลจะรุ่งหรือเปล่า ก็เลยคิดว่าไหนลองหน่อย ก็มาลองเสี่ยงกับบริษัทของตัวเองแล้วกัน

ระบบของเราที่ว่าเป็นยังไงคะ?

ที่พี่ทำตอนนี้พี่เน้นในเรื่องการทำพีอาร์คอนซัลท์ การสร้างประเด็นข่าวให้แข็งแรง ทุกคนจะถามว่าคุณทำงานพีอาร์ คุณมีคอนเนคชั่นกับนักข่าวหรือเปล่า คือมันจำเป็นที่พีอาร์ต้องมีคอนเนคชั่นกับนักข่าว แต่อย่าลืมว่านักข่าวเองก็ต้องการข่าวที่มีแวลู มีคุณค่าต่อคนอ่านได้ด้วย เราจะไม่อยากทำข่าวที่เป็นรีลีสอย่างเดียวที่ส่งไปแล้วไม่มีใครสนใจอ่าน อันนี้เราถูกสอนมาจากตอนเราเป็นนักข่าว ก็เป็นข้อแตกต่างอย่างหนึ่ง แล้วอีกอย่างคือเราไม่ค่อยตามใจลูกค้า เราเป็นพีอาร์ค่อนข้างจะดื้ออะ (หัวเราะ) เราทำงานกับลูกค้าเหมือนเป็นที่ปรึกษา จะยึดว่าการทำงานกับลูกค้าไม่จำเป็นต้องตามใจลูกค้าเสมอไป แต่ว่าต้องเป็นคนที่สามารถให้คำแนะนำที่ดีกับลูกค้าได้ บางครั้งในสิ่งที่ลูกค้าต้องการอาจไม่ใช่สิ่งที่นักข่าวต้องการก็ได้ ฉะนั้น เราต้องบาลานซ์ในสิ่งที่ลูกค้าต้องการและสิ่งที่นักข่าวต้องการให้เป็นการสื่อสารที่ออกไปได้ อันนี้คือเป็นการทำงานของเรา

บริษัทนี้เปิดมานานแค่ไหนแล้วคะ?

เดอะ เรด ตอนนี้ก็น่าจะเข้าปีที่ 5 - 6 แล้ว เราเป็นเอเจนซี่เล็กๆ มีลูกค้าอยู่ในมือที่สามารถดูแลได้ เราคุยกับลูกค้าเหมือนเป็นหนึ่งในบริษัทเค้า ไม่ใช่แค่วิ่งไปประชุมเฉพาะเวลามีงาน บางครั้งนักข่าวยกหูมาถามประเด็นต่างๆ ข้อมูลบางส่วนเราสามารถให้กับนักข่าวได้เลย เพราะเรามีข้อมูลอยู่ในมืออยู่แล้ว นอกจากนักข่าวต้องการความเห็นจากลูกค้าเรา อันนั้นเราก็จะส่งต่อให้ลูกค้าเป็นคนตอบได้

จุดเริ่มต้นในการเปิดบริษัทของตัวเองมีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้างไหม?

คือผมเป็นคนที่ค่อนข้างโชคดีนะ ตรงที่ว่าลูกค้ารักเรา ถึงเราจะออกมาเปิดบริษัทใหม่ก็จะมีลูกค้าส่วนนึงที่ยังอยากให้เราดูแลต่อก็ยังเรียกเราไปทำงาน ส่วนนึงก็มาจากการที่เราไปพรีเซนต์ตัวเองด้วย งานพีอาร์มันมาจากออร์แกไนเซอร์ ทีมอีเวนท์ และจากการที่เราไปพรีเซนต์ลูกค้าโดยตรง ผมโชคดีตรงที่มีเพื่อนอยู่ในวงการค่อนข้างเยอะ แล้วก็ช่วยกันทำงาน ถึงเราจะไม่ได้เป็นบริษัทใหญ่ แต่เราสามารถร่วมงานกันได้ ร่วมกันทำงานเพื่อไปหยิบงานชิ้นใหญ่ๆ มาทำได้ บางทีบริษัทเล็กๆ ก็ไม่สามารถเซอร์วิสลูกค้าได้อย่างครบถ้วน เราเชื่อในทฤษฎี “มดกัดช้าง" ว่าเอาจุดเด่นของแต่ละคนมารวมกันเพื่อสร้างในสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าได้ (ชื่อทฤษฎีนี่คือมาจากไหน อะไรทำให้คิดถึงคำนี้ขึ้นมา?) พี่ไม่รู้ว่ามันมีหรือเปล่า แต่พี่เรียกมดกัดช้างอะ (หัวเราะ) ก็ธรรมดามดมันตัวเดียวมันไปทำอะไรใหญ่ๆ ไม่ค่อยได้หรอก แต่พอมันรวมกันหลายๆ ตัว มันทำอะไรใหญ่ๆ ได้เหมือนกัน ก็ลองคิดๆ ดู มีคุยกันในวงว่า เออ...พวกเราก็เหมือนมดกัดช้างเนอะ พี่มีเพื่อนที่เป็นออร์แกไนเซอร์ที่บริษัทไม่ใหญ่มาก เค้าก็ถนัดออร์แกไนซ์ พี่มีเพื่อนทำโปรดักชั่น มีเพื่อนทำวิดีโอ มีเพื่อนทำครีเอทีฟโฆษณาที่บริษัทไม่ใหญ่มาก แต่พวกนี้คือเก่ง เป็นสเปเชียลลิสต์ในทางของเค้า ทุกคนก็บอก คุณก็เก่งในวงการพีอาร์นี่ แทนที่จะหาลูกค้าคนเดียว ก็เหมือนเราช่วยกันหาลูกค้า ก็เลยมีโอกาสในการทำงานมากขึ้น

บริษัทไซส์เล็กมีพนักงานกี่คน?

จริงๆ ในทีมมีประมาณ 4-5 คน แต่ถ้างานเข้ามาเยอะเราก็จะมีใช้ฟรีแลนซ์มาช่วยทำโปรเจคด้วยเหมือนกัน เรามีลูกค้ารีเทรน ลูกค้าที่ทำสัญญากับเราเป็นรายปี และลูกค้าที่เป็นลักษณะ Job by Job ด้วยเหมือนกัน

ทำไมถึงใช้ชื่อบริษัทว่า เดอะ เรด คอมมูนิเคชั่น?

เอาจริงๆ เลยปะ นึกอะไรไม่ออก มันต้องจดทะเบียนแล้วเนี่ย (หัวเราะ) มาพูดดีๆ ว่าทำไมถึงเรด เรดมันเป็นสีของความมีพลัง เราเชื่อว่าการทำงานมันต้องการพลัง ทุกคนต้องการพลัง เรด สีแดงแม้แต่หยดเดียวไปวางที่ไหนก็สามารถเปล่งประกายออกมาได้ได้ สีแดงมีหลายเฉด สีทุกสีมีหลายเฉด แต่ลองเอาแดงไปวางกับที่ไหนมันก็จะขึ้นอยู่ดี มันก็จะเห็นเป็นจุดแดงๆ อยู่ดี อันนี้มันถึงบอกว่าเรดก็เป็นส่วนนึงอยู่ในทุกๆ สิ่ง (ทำไมไม่ส้ม ก็เจิดจ้าเหมือนกัน พระอาทิตย์เลย?) ส้มมันก็เจิดจ้าเหมือนกัน แต่คนใช้กันเยอะ และพี่อยากได้แม่สี เรดมันมีความเป็นแม่สีอยู่ ส้มมันมีการเจือจาง อาจจะเจือขาวเจือเหลืองกันไป แต่เรดมันคือแม่สีนะ ก็เหมือนกับเราเป็นตัวจริงนะ เราไม่ใช่เป็นส่วนผสมของอันอื่นแล้วออกมาเป็นเรา

เกณฑ์การรับลูกค้าของเราเป็นยังไง?

เราต้องออกตัวก่อนว่าด้วยความที่ไม่ใช่บริษัทใหญ่ ก่อนจะรับงานกับลูกค้าเราจะคุยกันก่อนว่าลูกค้าต้องการอะไร และเราทำอะไรให้ลูกค้าได้บ้าง ถ้าทำงานด้วยกันได้ คุยกันรู้เรื่อง มีความเข้าใจที่ตรงกัน เราก็โอเคนะ ส่วนใหญ่ลูกค้าพี่เป็นเหมือนเพื่อนเป็นเหมือนพี่น้อง เป็นเหมือนคนในบริษัทเดียวกัน เพราะการทำงานของพี่แทบจะไปฝังตัวนั่งอยู่กับลูกค้าแล้ว เราถึงรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร ลูกค้าคิดอะไร ลูกค้าที่เคมีไม่ตรงกันมากๆ เราก็จะขออนุญาต Job by Job ไปก่อน ทดลองทำงานด้วยกันไปก่อน ส่วนลูกค้าที่เคมีตรงกัน ต่อให้ไม่เซ็นสัญญาเค้าก็ยังทำงานร่วมกับเราในโปรเจคอื่นๆ ต่อไปอยู่ดี แต่ถ้าเคมีไม่ตรงกันต่อให้เซ็นสัญญามันก็มีฉีกกันได้ ฉะนั้นเราเอาการทำงานที่ทำแล้วสบายใจดีกว่า

เกณฑ์ในการวัดผลล่ะคะ?

เกณฑ์ในการวัดผลจริงๆ เราไม่ได้ดูที่ปริมาณงานอย่างเดียวนะ เรามองที่การสื่อสารออกไปว่าสิ่งที่เราสื่อสารออกไป ใช่สิ่งที่ลูกค้าต้องการมั้ย ใช่สิ่งที่นักข่าวต้องการหรือเปล่า การทำงานมันไม่ได้มองในส่วนของลูกค้าอย่างเดียว มันมองที่สื่อด้วย ที่คนรับสื่อด้วย(คนอ่านข่าว) พี่มีสิ่งนึงที่อยู่ในใจตลอดเวลาว่า การทำงานข่าวประชาสัมพันธ์ ต่อให้เราทำงานกับลูกค้าแต่มันก็ต้องมีคุณค่ากับคนอ่านด้วย อันนี้อาจจะเป็นสิ่งที่ถูกหล่อหลอมมาจากการที่เคยเป็นนักข่าวมาก่อนด้วย

พี่รับงานสายไหนบ้าง?

จริงๆ ก็รับทุกสายนะ ตั้งแต่สายยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ บันเทิง การตลาด ขึ้นอยู่กับลูกค้า ลูกค้าจะชอบถามว่าเราถนัดสายไหน จริงๆ มันไม่ได้มีสายถนัดหรอกพอทำงานเยอะๆ ทำไปนานๆ มันทำได้ทุกสายแหละ วิธีการมองประเด็นมันอยู่ที่ว่าสิ่งที่ลูกค้าต้องการ สิ่งที่สื่อแต่ละสายต้องการคืออะไร เรามองประเด็นตรงนั้นแล้วแตกมันออกมามากกว่า

มีสายที่เราไม่อยากรับบ้างมั้ย

ไม่มีนะ ถ้ามีก็อยากทำหมด เราอยากทำทุกครั้งถ้ามีอะไรใหม่ๆ เข้ามา มีลูกค้าใหม่ๆ เพราะมันเหมือนเราได้เรียนรู้ ครั้งแรกที่เราคุยกับลูกค้าเรารู้ไม่เท่าลูกค้าหรอก แต่ถ้าเราได้มีทติ้งกับเขาสักครั้งสองครั้ง เราจะเริ่มรู้จักลูกค้า รู้จักธุรกิจของลูกค้าที่ทำ เพราะการทำงานของพี่จะไม่ใช่แค่คุยกับลูกค้าอย่างเดียว แต่พี่จะกลับมาทำการบ้าน มาหาข้อมูลเพิ่มเติม อย่างทำอสังหาฯ เราก็ต้องมาดูเทรนด์ ดูตลาดด้วย แล้วมาคุยกับลูกค้าว่าเจ้าอื่นในตลาดเขามองแบบนี้ ของเรามองแบบไหน เหมือนหาแวลูให้กับตัวข่าวและนักข่าวด้วย

ขอสัดส่วนงานที่รับมากสุด 3 อันดับ?

ธุรกิจ การตลาด เป็นอันดับหนึ่ง อสังหาฯ อันดับ 2 รถยนต์อันดับ 3 (อสังหาฯมาแรงมั้ยคะปีนี้?) เท่าที่มองนะครับ น่าจะดีขึ้นในปีนี้ มันต้องมองตลาดด้วย ทุกคนเชื่อว่าตลาดบนยังดี ซื้อด้วยทรัพย์สินของเค้า ไม่ต้องไปกู้ ไม่ต้องไปพึ่งแบงค์ แต่ตลาดกลางยังต้องไปพึ่งแบงค์เยอะ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาแบงค์ค่อนข้างจะเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อ แต่ปีนี้น่าจะดีขึ้น เพราะช่วงรถคันแรกที่ผ่อนๆ กัน 4 - 5 ปี ก็น่าจะทยอยหมดกันแล้ว ก็น่าจะมีเงินเหลือ ก็เริ่มมาคิดถึงเรื่องการซื้อบ้านซื้ออสังหาฯบ้าง (เหมือนสายรถยนต์ปีนี้แผ่วลงมั้ย?) สายรถยนต์ ใช่ ดูเหมือนแผ่วลง แต่พี่ยังเชื่อว่าตลาดในเมืองไทยยังสามารถเติบโตได้ เพราะคนยังต้องการจะมีรถ บางครั้งคนทำงานยอมเช่าบ้านแต่ขอซื้อรถก่อน เพราะรถมันสามารถขับไปทำงานทำมาหากินได้ แต่คนมองว่าบ้านจ่ายค่าเช่าก่อนนะ พอผ่อนรถหมดแล้วค่อยมาผ่อนบ้านก็ยังได้ ก็ยังเชื่อว่ารถยังไปได้

ย้อนมาที่ภาพรวมตลาดพีอาร์บ้าง พี่มองว่ามีเทรนด์ไปในทิศทางไหน สำหรับปีนี้ ปีหน้า?

เทรนด์พีอาร์ตอนนี้ต้องยอมรับจริงๆ ว่า พีอาร์ต้องปรับตัวเยอะ เราเห็นชัดเลยว่าธุรกิจที่เป็นสื่อออฟไลน์ค่อนข้างจะมีปัญหาและพวกหนังสือก็ปิดตัวไปเยอะเลย พีอาร์จึงต้องทันสื่อออนไลน์ สื่อออนไลน์ก็จะมีทั้งเป็นเว็บไซต์ข่าว มีทั้งโซเชียลมีเดีย เราต้องเรียนรู้มันและครีเอทคอนเทนต์ใหม่ๆ เพื่อให้สื่อพวกนี้สนใจคอนเทนต์ของเรา การทำพีอาร์ สิ่งที่จะทำให้เราแตกต่างหรืออยู่ในตลาดได้ คือการที่เราเป็นสามารถที่ปรึกษาทางด้านพีอาร์ที่แข็งแรงให้กับลูกค้า ไม่ใช่เรื่องของการทำข่าวอย่างเดียวแล้ว มันอาจจะไปช่วยในเรื่องการสื่อสารด้านการขายของลูกค้าด้วย เพราะธุรกิจมันอยู่ได้ด้วยการขายสินค้า การมีกำไร การสื่อสารจึงต้องสร้างแวลูและเสริมในเรื่องธุรกิจให้กับลูกค้าได้ด้วย

จากมุมมองของพี่การจะเป็นพีอาร์ในปัจจุบันจะต้องทำอะไรได้บ้าง ความต้องการของลูกค้าเมื่อก่อนกับปัจจุบันต่างกันอย่างไร?

ที่ผ่านมาลูกค้าอาจจะมองเรื่องจำนวนของสื่อที่ได้รับการเผยแพร่ ได้รับการเผยแพร่เยอะก็ดี คือมันก็ดีนะ ได้รับการเผยแพร่เยอะมีคนเห็นข่าวของลูกค้าได้เยอะ แต่ในปัจจุบันนอกจากจำนวนสื่อเยอะแล้วต้องมองย้อนกลับมาด้วยว่า สิ่งที่เราสื่อสารออกไปคนอยากอ่านหรือเปล่า เพราะว่าการที่เราสื่อสารออกไปแล้วส่งสิ่งที่คนไม่อยากอ่านออกไปมันก็ไม่มีประโยชน์ คนเปิดเจอก็จะเปิดหนีไป ฉะนั้นแล้ว วันนี้คนทำพีอาร์ต้องสร้างแวลูให้กับสิ่งที่ตัวเองต้องการสื่อสารให้มากๆ ต้องสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้ทันกับเทคโนโลยีที่มันมาเร็วขึ้น และต้องเดินหน้าไกลกว่าสิ่งที่มันมีอยู่ หมายถึงว่า ทุกวันนี้...โอเคโซเชึยลมีเดียมาจริง แต่เราต้องมองว่า ต่อไปมันจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากยุคโซเชียลมีเดีย คือเราก็ไม่รู้ว่าโซเชียลมีเดียมันจะอยู่ได้นานแค่ไหน โซเชียลมีเดียมาเยอะจริง แต่มันจะถูกเจือไปด้วยข่าวสารที่ไม่ได้กรองก็เยอะ อันนี้เราจะทำยังไงให้สามารถดึงดูดคนอ่านให้มาสนใจในสิ่งที่เราต้องการสื่อสารได้

พี่มองว่าตอนนี้บริษัทเราประสบความสำเร็จแค่ไหน เมื่อเทียบจากมุมมอง จากความต้องการของเรา?

มันก็เทียบยากนะ มอยู่ที่เป้าหมายของเรามากกว่า บางบริษัทอาจจะตั้งเป้าหมายที่การมีลูกค้าเยอะๆ ตัวเลขสูงๆ แต่ของเราถามว่าประสบความสำเร็จมั้ย มันประสบความสำเร็จตามโจทย์ที่เราต้องการ คือหนึ่งเราทำงานแล้วเรามีความสุข สองเราทำงานแล้วลูกค้ามีความสุข สามเราทำงานแล้วสื่อที่ทำงานกับเรามีความสุข ของเรามันทำงานด้วยความสุข ถามว่าบริษัทมันต้องอยู่ที่กำไร ต้องอยู่ที่ผลประกอบการมั้ย ก็ใช่ แต่มันก็ไม่ใช่ทั้งหมด อย่างที่บอกว่าเราอาจจะไม่ได้รับลูกค้าเยอะมากเหมือนบริษัทใหญ่ แต่ลูกค้าที่ทำงานกับเราแล้วมีความสุข ถ้ามองว่าเป็นความสำเร็จ ตรงนี้มันก็คือใช่

เป้าหมายภายในปีนี้ และเป้าหมายในอีก 3-5 ปีข้างหน้า?

ปีนี้คือดูแลลูกค้าให้ดีที่สุด ลูกค้าที่มีอยู่ ลูกค้าที่จะเข้ามาใหม่ ดูแลให้ดีที่สุด ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาได้มากที่สุด นี่คือสิ่งที่เราวางเป้าไว้ ส่วนจำนวนลูกค้า ปีนี้ก็เยอะขึ้น หลากหลายขึ้น แต่ไม่เป็นอุปสรรคเพราะเราสนุกกับการทำงาน ลูกค้าสนุกกับเรา ส่วนเป้าหมายระยะยาว 3 - 5 ปี ก็มีแพลนจะขยายทีมเพิ่ม ดูแนวโน้มแล้ว หลังจากปีนี้ อีกสองสามปีเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้นด้วย แล้วก็น่าจะมีการใช้งบในส่วนนี้เยอะขึ้น มีสื่อใหม่ๆ เยอะขึ้น ทีมใหม่ที่จะรับเข้ามาก็ต้องโฟกัสไปที่สื่อใหม่ๆ เยอะขึ้น เราเรียกมว่าฟิวเจอร์มีเดียดีกว่า เราไม่รู้หรอกว่ามันจะมา วันนึงมันอาจจะมีแอปพลิเคชั่นที่ดูข่าว ฟีดข่าวได้เองมากขึ้น

พี่รู้สึกว่าตัวเองโชคดีมั้ยเพราะอยู่กับดิจิตอลมาตั้งแต่ยุคบุกเบิกเลย พอมายุคนี้เลยปรับง่ายกว่าคนทั่วไป?

จริงๆ มันถือว่าโชคดีมาก เพราะยุคก่อนหน้านี้เคยคิดว่าตัวเองโชคไม่ดี อยู่ในยุคที่ไม่รู้ว่าอินเทอร์เน็ตมันจะไปทางไหนต่อ มันหาที่โตต่อไปได้ แต่พอเรื่องของสมาร์ทโฟน เรื่องของธุรกิจอีคอมเมิร์ซมันเข้ามา การที่คนคุ้นเคยกับการใช้ออนไลน์มากขึ้น มันทำให้เราที่มีพื้นฐานการใช้ออนไลน์มาตั้งแต่แรกปรับตัวได้เร็วกว่าคนอื่น และเรามองช็อตต่อๆไปออกมากขึ้น เพราะเรามีเพื่อนฝูงที่มีความรู้อยู่ในวงการไอที พี่จะมีการคุยอัพเดทเทรนด์พวกนี้กับเพื่อนสนิทๆ กันอยู่บ่อยๆ เพื่อนอยู่ในวงการอยู่แล้วก็จะมาเล่าให้ฟังว่าจะเป็นยังไง จะพัฒนายังไง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตลอด เราก็จะได้แนวคิดมาปรับในการทำงานของเรา

การแข่งขันในวงการบ้างดีกว่า?

แข่งขันกันค่อนข้างรุนแรงเหมือนกันนะ มีบริษัทเปิดใหม่เยอะ บริษัทพีอาร์ตั้งง่าย แต่บางทีก็อยู่ยาก เพราะว่าถ้าเราไม่สามารถมีเน็ตเวิร์ก ถ้าเป็นพีอาร์เดี่ยวๆ แล้วไปแข่งกับหลายๆ เจ้าเนี่ย มันค่อนข้างเจาะยาก แล้วต้องดูศักยภาพด้วยว่า การทำงานมันถูกจำกัดด้วยสายใดสายหนึ่งหรือเปล่า การจำกัดตัวเองมากๆ มันทำให้โอกาสในการได้ลูกค้าใหม่ๆ จะยากขึ้น ถามพี่ว่าถนัดสายไหนพี่ถึงบอกว่าพี่ทำได้ทุกสาย เพราะพี่ทำมาหมดแล้ว

จุดแข็ง จุดขาย จุดเด่นของบริษัทเรา?

เดอะ เรด เราเป็นพีอาร์คอนซัลท์ เราร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับลูกค้า ไม่ใช่ Just PR ไม่ใช่เป็นแค่พีอาร์อย่างเดียว บางครั้งเรานำประสบการณ์ที่เรามีมาช่วยแชร์ในเรื่องการทำตลาด ในเรื่องการสื่อสารด้วยเหมือนกัน เรามีการมิกซ์และการแชร์มุมมองต่างๆ กับลูกค้าได้ นับว่าเป็นจุดแข็งของเรา เราทำงานเป็นทีมกับลูกค้า

หัวใจการเป็นพีอาร์ที่ดี คำแนะนำสำหรับน้องๆ พีอาร์รุ่นใหม่?

การเป็นพีอาร์ทีดีคือคุณต้องมีมุมมองที่ค่อนข้างกว้าง คุณต้องขยันที่จะหาข้อมูล ขยันอ่านข่าว ขยันตามเทรนด์ให้ทัน วันนี้ พรุ่งนี้ ปีนี้ ปีหน้า เค้าจะคุยอะไรกัน มันไม่ใช่แค่เรื่องข่าว คุณต้องมีมุมมองด้านธุรกิจด้วย คุณต้องดูเทรนด์ด้านธุรกิจว่าในแต่ละปี ในแต่ละธุรกิจมีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร เพราะการทำงานกับลูกค้าต้องให้คำแนะนำกับลูกค้าได้ อย่างเรามองเศรษฐกิจในปีนี้จะโตเท่าไหร่ จะมีผลอย่างไรกับลูกค้าอย่างไร จะช่วยลูกค้ายังไง ถ้าลูกค้ามองเห็นการเติบโตอย่างนี้ลูกค้าจะทำการตลาดอย่างไร เราไม่ได้เป็นแค่พีอาร์ ไม่ได้เป็นแค่ที่ปรึกษาด้านพีอาร์อย่างเดียว แต่เราต้องเป็นที่ปรึกษาทางด้านการตลาดได้ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ