
ดีลอยท์ (Deloitte) บริษัทตรวจสอบบัญชีชั้นนำของโลก เปิดเผยว่า มาเลเซียเป็นผู้นำด้านการเสนอขายหุ้นครั้งแรกแก่สาธารณชน (IPO) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 แม้เผชิญความท้าทายระดับภูมิภาคมากขึ้น
รายงานระบุว่า มาเลเซียมีการทำ IPO ในช่วงครึ่งปีแรก จำนวน 32 ครั้ง เพิ่มขึ้นราว 48% เมื่อเทียบปีต่อปี โดยมูลค่าการทำ IPO อยู่ที่ 940 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.05 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นราว 109% และการใช้เงินทุนของตลาด IPO โดยรวมอยู่ที่ 4.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.31 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นราว 165%
หว่อง กา ชุน หุ้นส่วนฝ่ายสนับสนุนบัญชีธุรกรรมของดีลอยท์ มาเลเซีย กล่าวว่า แนวโน้มการทำ IPO ของมาเลเซียยังคงมีทิศทางที่ดีในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากมีการทำ IPO ในช่วงครึ่งปีแรก 32 ครั้ง ซึ่งช่วยให้ตลาดหลักทรัพย์มาเลเซีย (Bursa Malaysia) มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายทำ IPO ทั้งปี 60 ครั้ง
อย่างไรก็ดี หว่องชี้ว่า มาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์สร้างความไม่แน่นอนและส่งผลกระทบต่อตลาด IPO ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนระวังมากขึ้นและมองหาสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า รวมถึงบริษัทต่างๆ อาจเลื่อนการทำ IPO โดยเฉพาะบริษัทส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานและแรงกดดันทางต้นทุน
นอกจากนั้น หว่องคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีแบรนด์ติดตลาดอยู่แล้วจะยังคงเป็นรากฐานสำคัญของภูมิทัศน์เศรษฐกิจมาเลเซียและมีแนวโน้มใช้ประโยชน์จากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งมาคว้าโอกาสระดมทุนในตลาด IPO มากขึ้น
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สำหรับภาพรวมของตลาด IPO ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงแข็งแกร่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 โดยมีการทำ IPO 53 ครั้ง ลดลง 21% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มูลค่าการระดมทุนรวมกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.54 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้น 3% และใช้เงินทุน 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.5 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 33%