ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม และแนวโน้มปี 2550 - 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 3, 2007 15:42 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสามปี 2550 ขยายตัวร้อยละ 4.9 สูงกว่าร้อยละ 4.3 ในไตรมาสสองและร้อยละ 4.2 ในไตรมาสแรก จากการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นและการเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้นมาก รวมทั้งการส่งออกยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดีแม้ว่าจะเริ่มชะลอตัว รวม 3 ไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 4.5
- ภาพรวมเศรษฐกิจยังมีเสถียรภาพ ในไตรมาสสามอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 1.6 ลดลงจากร้อยละ 2.4 และ 1.9 ในไตรมาสแรกและไตรมาสสอง เฉลี่ย 10 เดือนเท่ากับร้อยละ 2.1 อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.2 ในไตรมาสที่สามและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.93 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และรวม 3 ไตรมาสแรกเกินดุล 9.26 พันล้านดอลลาร์
- อัตราดอกเบี้ยตลาดเงินปรับลดลง การขยายสินเชื่อเร่งตัวมากขึ้น ในขณะที่เงินฝากเริ่มชะลอตัว แต่โดยรวมสภาพคล่องยังอยู่ในระดับสูง ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดหลักทรัพย์มีความผันผวนตามตลาดการเงินโลก โดยเฉลี่ยค่าเงินบาทแข็งขึ้น และดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้น
- ฐานะการคลังขาดดุลงบประมาณและขาดดุลเงินสด ซึ่งเป็นไปตามการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกันยายน 2550 เท่ากับร้อยละ 37.84 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 37.72 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2550 แต่ต่ำกว่าร้อยละ 41.28 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2549
- ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 มีปัจจัยที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจหลายด้าน ประกอบด้วยความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยต่ำลง และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาลและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการส่งออกที่จะยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี
- คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2550 จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4.5 โดยที่การส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนหลักแม้ว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปีเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ในขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปี อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีจะเท่ากับร้อยละ 2.3 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 6.0 ของ GDP และอัตราการว่างงานจะยังต่ำร้อยละ 1.5
- ในปี 2551 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 4.0-5.0 โดยที่อุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวได้ดีขึ้นและชดเชยผลกระทบจากการส่งออกชะลอตัว และการขยายตัวของเศรษฐกิจจะมีลักษณะที่สมดุลมากขึ้น ปัจจัยภายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยต่ำ อัตราการว่างงานต่ำ การดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล และความแน่นอนในด้านการเมืองจะมีผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนดีขึ้น แต่แรงกดดันจากต้นทุนราคาน้ำมันจะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 3.0-3.5 และมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกทั้งราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
1 . ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสที่สาม
1.1 เศรษฐกิจในไตรมาสที่สามปี 2550 ขยายตัวร้อยละ 4.9: ปรับตัวดีขึ้นกว่าในครึ่งแรกของปีจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ ภายในประเทศ การเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาลที่ได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดีแม้ว่าจะชะลอตัวกว่าในครึ่งแรก รวม 3 ไตรมาสแรกของปีเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 4.5
ประเด็นหลัก
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสามขยายตัวร้อยละ 4.9 สูงกว่าร้อยละ 4.2 และ 4.3 ในไตรมาสแรกและไตรมาสสอง ซึ่งนับว่าเป็นการปรับตัวดีขึ้นกว่าในครึ่งแรกของปี อันเนื่องมาจากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชน และการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดีแม้ว่าจะชะลอตัวกว่าในครึ่งแรก รวม 3 ไตรมาสเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 4.5 และภาพรวมเศรษฐกิจยังมีเสถียรภาพ โดยที่อัตราการว่างงานยังต่ำที่ร้อยละ 1.2 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 1.6 ลดลงจากร้อยละ 2.4 และ 1.9 ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองตามลำดับ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2,928 ล้านดอลลาร์ สรอ. และรวมเกินดุล 9,262 ล้านดอลลาร์ สรอ. ใน 9 เดือนแรกของปี การขยายตัวและสัญญาณที่ดีในไตรมาสสาม มีดังนี้
- การใช้จ่ายครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เทียบกับที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.3 และ 0.8 ในไตรมาสแรกและไตรมาสสองหมวดการใช้จ่ายที่มีการปรับตัวดีขึ้น ประกอบด้วย เฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์นั่งส่วนบุคคล และเครื่องดื่มเป็นต้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงซึ่งในไตรมาสสามสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 และเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ
- การลงทุนภาคเอกชนเริ่มขยายตัว โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 จากที่ลดลงร้อยละ 2.3 ในไตรมาสแรก และลดลงร้อยละ 0.7 ในไตรมาสสอง โดยที่การลงทุนทั้งในเครื่องจักรและอุปกรณ์และการลงทุนในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น
- การเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาลเพิ่มขึ้นมาก ในไตรมาสสามการเบิกจ่ายภาครัฐเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดร้อยละ 26 ของกรอบวงเงินงบประมาณ ซึ่งเป็นรายจ่ายรัฐบาลจำนวน 407,027.20 ล้านบาท (เทียบกับการเบิกจ่าย 348,588.4 ล้านบาทในไตรมาสสามปี 2549) สำ หรับการลงทุนรัฐวิสาหกิจนั้นมีการเบิกจ่ายจำ นวน 78,082.47 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากการเบิกจ่ายจำนวน 69,449.37 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน) และ ณ ราคาปี 2531 รายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภครัฐบาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากร้อยละ 9.4 และ 9.2 ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองและการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เร่งตัวกว่าในครึ่งแรกของปี
- การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดส่งออกสินค้าสำคัญ ในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติกและรถยนต์ จากที่เคยพึ่งพิงตลาดหลักไปสู่ตลาดใหม่ช่วยชดเชยผลกระทบจากการส่งออกไปตลาดหลักชะลอตัว นอกจากนี้การที่ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่สำคัญและมีสัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 40 ของตลาดโลก ประกอบกับการพัฒนาสินค้าประเภทต่าง ๆ ไปสู่การเป็นสินค้าดิจิตอลมากขึ้น อาทิ เครื่องเสียง กล้องถ่ายรูปโทรศัพท์เคลื่อนที่ โทรทัศน์ เป็นต้น ทำ ให้การส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์จากประเทศไทยยังขยายตัวได้ดี
- สถานการณ์ด้านท่องเที่ยวกลับมาปรับตัวดีขึ้นเช่นกันโดยที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 จากที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.4 ในไตรมาสที่สอง
- การนำเข้าสินค้าทุนฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 ปรับตัวดีขึ้นจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 ในไตรมาสสอง และหดตัวร้อยละ 6.6 ในไตรมาสแรก โดยที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 ซึ่งฟื้นตัวต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 8.1 ในไตรมาสแรกและขยายตัวร้อยละ 5.2 ในไตรมาสสอง กลุ่มสินค้าทุนที่มีการนำ เข้าเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องกลการเกษตร และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เป็นต้น รวมทั้งการนำ เข้าเครื่องบินของบริษัทการบินไทย จำ กัด (มหาชน)จำนวน 1 ลำ
- การปรับโครงสร้างด้านการใช้พลังงานทำให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวในภาวะราคาน้ำมันสูงได้ดีขึ้นกว่าในอดีตประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ทำให้แรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นไม่รุนแรงมาก การปรับตัวที่ดีขึ้น ได้แก่ การใช้น้ำมันไบโอดีเซลและแก๊สโซฮอล์ทดแทน
น้ำมันดีเซลหมุนเร็วและน้ำมันเบนซินมากขึ้นมีส่วนทำให้ปริมาณการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงรวมลดลงร้อยละ 5.8 โดยที่ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบลดลงร้อยละ 3.6
นอกจากนี้การที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจัดหาได้มากกว่าแผนและทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันเตาได้มากกว่าแผน ทำให้สามารถลดค่า Ft ลงได้ 3 ครั้ง รวม 12.31 สตางค์ต่อหน่วย
ภาวะเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ เป็นดังนี้
- การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นทั้งการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร และการก่อสร้าง ไตรมาสที่สามการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.1 ปรับตัวดีขึ้นจากที่ลดลงร้อยละ 2.3 และ 0.7 ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองที่ผ่านมา โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 1.3 ปรับตัวดีขึ้นจากที่ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 1.7 ในช่วงครึ่งแรกของปีโดยมีการลงทุนในรถยนต์เพื่อการพาณิชย์เพิ่มขึ้น มีการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 โดยเฉพาะนำเข้าเครื่องจักรกลไฟฟ้า1 เครื่องจักรกลเพื่อการเกษตร อุปกรณ์ที่ทำจากยาง และอุปกรณ์ที่ทำจากโลหะที่เพิ่มขึ้นชัดเจน สำหรับการลงทุนก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 0.7 ดีขึ้นจากที่ลดลงร้อยละ 1.2 ในไตรมาสที่สอง โดยการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและการก่อสร้าง
อาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 1.9 และ 5.1 และการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 7.9 แต่เริ่มมีทิศทางการปรับตัวดีขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนในไตรมาสที่สามนี้มาจากการใช้กำลังการผลิตของหลายอุตสาหกรรมที่เกือบเต็มกำลัง อาทิ กระดาษ เคมีภัณฑ์ รถยนต์ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องซักผ้า เป็นต้น ประกอบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้นจากบรรยากาศทางการเมืองที่เริ่มมีความแน่นอนมากขึ้นหลังจากมีการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ มีการประกาศวันเลือกตั้ง และการดำเนินมาตรการขับเคลื่อน
เศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามรวม 3 ไตรมาสแรกของปีการลงทุนภาคเอกชนลดลง 0.7 โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรลดลงร้อยละ 0.7 และการลงทุนก่อสร้างลดลงร้อยละ 0.4
- การใช้จ่ายครัวเรือนเริ่มปรับตัวดีขึ้น ในไตรมาสที่สามการใช้จ่ายครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เทียบกับร้อยละ 1.3 และ 0.8 ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองที่ผ่านมา โดยการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนกลับมาขยายตัวร้อยละ 0.4 จากที่ลดลงร้อยละ 7.4 ในครึ่งแรกของปี โดยมีการใช้จ่ายซื้อสินค้าประเภทรถยนต์นั่ง และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาทิ โทรทัศน์ หม้อหุงข้าว ตู้เย็น และเครื่องซักผ้า เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุน
จากการส่งเสริมการขายที่จูงใจ ได้แก่ การปรับลดราคาลง และการผ่อนชำระโดยเสียดอกเบี้ยต่ำ สำหรับการใช้จ่ายซื้อสินค้ากึ่งคงทนขยายตัวร้อยละ 0.9 จากที่ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 0.2 ในช่วงครึ่งแรกของปี สินค้าไม่คงทนประเภทอาหารขยายตัวตัวร้อยละ 2.2 และบริการขยายตัวใกล้เคียงไตรมาสที่แล้วที่ร้อยละ 1.5
อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี การบริโภคภาคเอกชนยังอ่อนแอ โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 1.3 โดยการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนลดลงร้อยละ 4.9 การใช้จ่ายซื้อสินค้ากึ่งคงทนและไม่คงทนชะลอตัวลง แต่การใช้จ่ายซื้อสินค้าประเภทอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3
- การส่งออกชะลอตัวลงทั้งการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม การส่งออกในไตรมาสที่สามขยายตัวร้อยละ 12.6 ชะลอตัวลงจากเฉลี่ยร้อยละ 18.9 ในช่วงครึ่งแรกของปีโดยปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 และราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เมื่อคิดในรูปเงินบาทมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพียงร้อยละ 1.8 และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 5.5 สาเหตุสำคัญของการส่งออกที่ชะลอตัวลงเนื่องมาจากความกังวลต่อปัญหา subprime
ของสหรัฐฯ ที่จะกระทบเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังฟื้นตัว ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องโดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยเท่ากับ 34.06 ในไตรมาสที่สาม2 หรือแข็งค่าขึ้นร้อยละ 9.7 จากไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว ทำให้มีการเลื่อนการส่งออกสินค้า ซึ่งจะเห็น
ได้ว่ามูลค่าการส่งออกในเดือนกรกฎาคม และเดือนกันยายนที่ชะลอตัวลงมาก
(ยังมีต่อ).../การส่งออกสินค้า..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ