การสัมมนาร่วมกับธนาคารโลกเพื่อเผยแพร่สาระสำคัญของรายงานการพัฒนาโลกปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 23, 2009 15:57 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับธนาคารโลก ได้เป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาเผยแพร่สาระสำคัญของรายงานการพัฒนาโลก ปี 2552 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2552 เวลา 08.30-11.00 น. ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ และได้จัดการประชุม Roundtable Discussion ระหว่างเวลา 13.30-16.00 น. ณ ห้องประชุมเดช สนิทวงศ์ สศช.

การสัมมนาฯ ในช่วงเช้ามีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่สาระสำคัญของรายงานการพัฒนาโลกปี 2552 (World Development Report 2009: Reshaping Economic Geography) ซึ่งธนาคารโลกได้จัดทำและเผยแพร่รายงานดังกล่าวไปแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 โดยมีวิทยากรซึ่งเป็นผู้แทนจากธนาคารโลกและเป็นผู้เขียน WRD 2009 ประกอบด้วย Dr. Indermit S. Gill หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ด้านภูมิภาคยุโรป และเอเชียกลาง Dr. Chorching Goh นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ด้านการลดความยากจนและการจัดการทางเศรษฐศาสตร์ ด้านภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลาง และ Dr. Yukon Huang อดีตผู้อำนวยการด้านจีนและรัสเซีย มาเข้าร่วมการสัมมนา

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานการสัมมนาในช่วงเช้า ได้กล่าวเปิดงานต่อผู้เข้าร่วมการสัมมนาว่า สศช. และธนาคารโลกมีความสัมพันธ์มายาวนาน โดยที่ผ่านมาได้ร่วมกันดำเนินงานโครงการศึกษาวิจัยที่มีคุณค่าใน หลายด้านเป็นจำนวนมาก ปัจจุบัน สศช. กำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารโลกในการหานโยบายระยะยาวเพื่อการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากวิกฤตการเงินที่ไทยและทั่วโลกเผชิญอยู่ โดย สศช. มีความเห็นว่าสิ่งที่ WDR 2009 ต้องการถ่ายทอด ได้แก่ นโยบายที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเติบโตในระยะยาว คือนโยบายที่สนับสนุนการกระจุกตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการเชื่อมโยงการบูรณาการทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและข้ามประเทศ รวมทั้งต้องการเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิเศรษฐศาสตร์ โดยคำนึงถึงมิติด้านความหนาแน่น ระยะทาง และการแบ่งสรรหน้าที่กัน (Density, Distance, Division) ทั้งนี้การที่ WDR 2009 ได้ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงแนวทางดังกล่าวจะทำให้การเติบโตเกิดขึ้นอย่างไม่สมดุล แต่จะช่วยให้ส่วนต่างๆ ของสังคมได้รับประโยชน์จากการพัฒนาทั่วถึงมากขึ้นนั้น การค้นพบดังกล่าวได้ท้าทายข้อสันนิษฐานเดิมที่ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะต้องมีการกระจายตัวเพื่อให้คนยากจนและผู้ด้อยโอกาสได้รับประโยชน์ ซึ่ง สศช. เชื่อว่าการสัมมนาครั้งนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่าย และเป็นก้าวสำคัญในการ “เปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ” ดังที่นำเสนอใน WDR 2009 ตลอดจนสะท้อนให้เห็นทิศทางสำหรับการช่วยเหลือคนยากจนและผู้ด้อยโอกาส และช่วยทำให้ทุกฝ่ายมองเห็นความสำคัญของโลกาภิวัตน์มากขึ้น

ในภาคบ่ายเป็นการประชุม Roundtable Discussion เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายระดับอาวุโสจากหน่วยงานต่าง ๆ โดยมี นายปรเมธี วิมลศิริ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. เป็นประธานที่ประชุม ซึ่งคณะผู้แทนจากธนาคารโลกได้นำเสนอสาระสำคัญของรายงานWDR 2009 โดยต่อเนื่องภาคเช้า ซึ่งในการจัดทำรายงานได้มีการรวบรวมบทเรียนที่ได้จากการศึกษาทิศทางการพัฒนาประเทศจากทั่วโลกตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งในกรณีที่ประสบความสำเร็จและกรณีล้มเหลว โดยพบว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จในอดีต อาทิ สหรัฐอเมริกา ประเทศในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ตลอดจนประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงในปัจจุบัน อาทิ จีน อินเดีย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีนโยบายที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่สนับสนุนการกระจุกตัวทางภูมิศาสตร์ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการรวมตัวทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของมิติทางภูมิเศรษฐศาสตร์ 3 ประการ คือ Density, Distance, Division โดยในรายงาน WDR 2009 ได้เสนอว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้ทุกส่วนของสังคมได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างทั่วถึง คือ การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในทุกระดับทางภูมิศาสตร์ ได้แก่ ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระหว่างประเทศ โดยจำแนกความต้องการการพัฒนาของแต่ละพื้นที่ตามมิติทางภูมิศาสตร์ดังกล่าว ซึ่งWDR 2009 ระบุว่า แต่ละมิติมีแนวทางการพัฒนา ดังนี้

Density - การพัฒนาสู่ความเป็นเมือง (Urbanization)ส่งเสริมการรวมตัวเป็นเมือง และการขยายตัวของเมืองที่มีความหนาแน่น (Higher Densities) เป็นมิติสำคัญที่สุดในการพัฒนาในระดับท้องถิ่น

Distance - การพัฒนาเชิงพื้นที่ (Territorial Development)ส่งเสริมให้ลดความห่างไกลจากเมือง โดยให้มีระยะทางสั้นลง หรือ ต้นทุนการเดินทางต่ำลง และส่งเสริมให้ประชากรเคลื่อนย้ายเข้าใกล้พื้นที่ที่มีความหนาแน่น (Shorter Distances) เป็นมิติสำคัญที่สุดในการ พัฒนาในระดับชาติ

Division - การเชื่อมโยงหรือการรวมตัวทางเศรษฐกิจ (Regional Integration)ลดการแบ่งแยกทางเศรษฐกิจ หรือกำแพงการค้า (Fewer Divisions) เป็นมิติสำคัญที่สุดในระดับระหว่างประเทศ หรือภูมิภาค

ในทุกมิติทางภูมิศาสตร์ดังกล่าวข้างต้นมีขั้นตอนการพัฒนาเหมือนกัน คือ เริ่มจากการจัดตั้งกลไกเชิงสถาบัน (Institutions) เป็นอันดับแรกสุด อันดับต่อไปคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) จากนั้นจึงเป็นการเข้าแทรกแซง (Interventions) ซึ่งหากจำแนกตามมิติ แต่ละพื้นที่มีความต้องการการพัฒนาไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น พื้นที่ที่มีความหนาแน่นน้อย ห่างไกลจากเมืองหรือโอกาสทางเศรษฐกิจมาก และมีการแบ่งแยกทางเศรษฐกิจมาก ขั้นตอนที่ต้องทำคือ การจัดตั้งกลไกเชิงสถาบันขึ้นมาดูแล เช่น การจัดการที่ดิน และการบริการขั้นพื้นฐาน ก่อนที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือเข้าแทรกแซง ซึ่งการพัฒนาไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยปราศจากความเสี่ยง หรือความสูญเสีย การเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจตามที่เสนอใน WDR 2009 อาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างไม่สมดุลในทุกพื้นที่และสำหรับคนทุกกลุ่ม แต่การเติบโตดังกล่าวจะทำให้ส่วนต่าง ๆ ของสังคม รวมถึงกลุ่มคนที่อยู่ห่างไกลจากโอกาสทางเศรษฐกิจ ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างทั่วถึงมากขึ้น

สำหรับปัญหาของความไม่สมดุลนั้นจะต้องมีการแก้ไขกันต่อไป โดยรายงาน WDR 2009 ระบุว่าสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการทำให้การพัฒนามีความสมดุลมากขึ้น คือ การพิจารณาความต้องการเฉพาะของแต่ละพื้นที่ ซึ่งทุกพื้นที่จำเป็นต้องมีบริการขั้นพื้นฐานกระจายออกไปอย่างเท่าเทียมกันเพื่อเพิ่มความสมดุลของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่สภาพทางภูมิศาสตร์จะเป็นตัวกำหนดความแตกต่างของความต้องการโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น การผลักดันให้กระจายโครงสร้างพื้นฐานออกไปให้เหมือนกันในทุกพื้นที่หรือการกระตุ้นหรือสร้างแรงจูงใจให้มีการกระจายตัวของการลงทุนออกไปยังพื้นที่ห่างไกลโดยไม่จำเป็นจะก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองและเป็นโทษมากกว่า โดยความผิดพลาดดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายประเทศ

ที่ประชุมได้มีการเสนอความเห็นและข้อพิจารณาหลายประการ โดยผู้แทนธนาคารโลกได้ให้ข้อพิจารณาต่อเรื่องปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการขยายตัวของเมืองว่า ควรมีการปรับปรุงกลไกเชิงสถาบันเพื่อมาจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น โดยยกตัวอย่างว่ากรุงเทพฯ ขาดกลไกเชิงสถาบันที่มีประสิทธิภาพอาทิ การจัดการปัญหาจราจร (การจอดรถกีดขวาง) และขาดการวางผังเมืองที่ดีนอกจากนี้ วิทยากรให้ข้อสังเกตว่า เมื่อเดินทางข้ามประเทศในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น เขตพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีความแตกต่างกันของ landscape ของการผลิตทางเศรษฐกิจ โดยในการเดินทางข้ามประเทศสหรัฐอเมริกาจากทางฝั่งตะวันออกมายังฝั่งตะวันตกจะพบว่าแต่ละโซนมีการแบ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเกษตร หรือการบริการอย่างชัดเจน ในขณะที่ landscape ของระบบสวัสดิการทางสังคม เช่น โรงเรียนโรงพยาบาล มีการกระจายตัวอย่างทั่วถึงกันและมีความคล้ายคลึงทั่วประเทศทั้งในเขตพื้นที่เมืองและชนบท แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน และอินเดีย เป็นต้น landscape ของการผลิตทางเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบขนส่ง โทรคมนาคม จะมีความคล้ายคลึงกันทั่วประเทศ ขณะที่landscape ของระบบสวัสดิการทางสังคมยังมีความแตกต่างกันมาก

ผู้เข้าร่วมการประชุมหารือยังได้มีการตั้งข้อสังเกตโดยยกกรณีผลกระทบจากวิกฤตการเงินที่ผ่านมาว่า ประเทศที่มีการเชื่อมโยงหรือการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับสูงมากก็จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมาก ซึ่งวิทยากรยอมรับว่าจริง อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นหลังวิกฤติคือ ประเทศเหล่านั้นมีการฟื้นตัวเร็วกว่าและดีกว่าประเทศอื่น ๆ ที่มีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับที่ต่ำกว่า

--สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ