(ต่อ4)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม และแนวโน้มปี 2552-2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 21, 2009 15:34 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

1.3 ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่สามปี 2552 และแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2552

ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจสิ้นสุดลงและเริ่มเข้าสู่ช่วงของการฟื้นตัวโดยเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามพลวัตรของการฟื้นตัวมีแนวโน้มชะลอลงในไตรมาสสุดท้ายของปี เนื่องจากแรงส่งจากมาตรการเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวในไตรมาสที่สามเริ่มลดลง แนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและฐานที่ต่ำในไตรมาสสุดท้าย คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกในไตรมาสสุดท้ายขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 0.7 - 1.2 แต่เศรษฐกิจและการค้าโลกทั้งปีมีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 1.1 และร้อยละ 12 ตามลำดับ เนื่องจากการหดตัวรุนแรงในช่วงครึ่งปีแรกสถานการณ์ภาคการเงินในประเทศอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ปรับตัวดีขึ้นโดยลำดับในขณะที่ภาคเศรษฐกิจจริงเริ่มเข้าสู่ภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยูโรโซนเริ่มขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าเป็นไตรมาสที่สอง อย่างไรก็ตาม อังกฤษยังคงอยู่ในภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียฟื้นตัวอย่างรวดเร็วนำโดยการขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นของจีน การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ทำให้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่และประเทศในกลุ่มอาเซียนขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าอย่างต่อเนื่อง และเป็นปัจจัยสนับสนุนทำให้เศรษฐกิจของประเทศสิงคโปร์และเกาหลีใต้เริ่มขยายตัวเป็นบวกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่ประเทศในเอเชียอื่น ๆ ปรับตัวดีขึ้น

การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรม เป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางด้านการเงินและการคลังโดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมรถยนต์ เมื่อรวมกับการสะสมสินค้าคงคลังในภาคธุรกิจ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมในสหรัฐฯและประเทศอุตสาหกรรมสำคัญอื่น ๆ เริ่มขยายตัว ดัชนี ISM ในสหรัฐฯและดัชนี PMI ในประเทศอุตสาหกรรมสำคัญอื่น ๆ เริ่มปรับตัวสูงกว่าระดับ 50 ซึ่งเป็นระดับที่แสดงถึงการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม การเลิกจ้างลดลง ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและเอกชนปรับตัวดีขึ้น ราคาหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น และส่งผลดีต่อการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าคงทนซึ่งได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ในขณะเดียวกันการขยายสินเชื่อและการลงทุนจำนวนมหาศาลของจีนซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวเร่งขึ้นการค้าในภูมิภาคขยายตัวและเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญที่ทำให้ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคปรับตัวดีขึ้นและหลุดพ้นจากภาวะการหดตัวทางเศรษฐกิจ

ในไตรมาสสุดท้ายของปี คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ ๆ จะยังคงขยายตัวจากไตรมาสที่สามอย่างต่อเนื่อง แต่พลวัตรของการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้ามีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงเนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันการฟื้นตัวของการบริโภคและการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่สามเริ่มสิ้นสุดลง โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมการทดแทนรถยนต์เก่าด้วยรถยนต์ใหม่ทั้งในสหรัฐฯ และกลุ่มยูโรโซน ในขณะเดียวกันการขยายสินเชื่อโดยธนาคารในการกำกับของรัฐบาลในจีนมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นและเริ่มจำกัดการขยายสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ฐานการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่กระจายตัวครอบคลุมสาขาเศรษฐกิจเป็นวงกว้างมากขึ้นและฐานที่ต่ำในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมาคาดว่าจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนาสำคัญ ๆ เริ่มขยายตัวเป็นบวกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกในไตรมาสสุดท้ายของปีขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 0.7 - 1.2 เมื่อรวมกับการหดตัวรุนแรงในช่วงครึ่งปีแรก แนวโน้มดังกล่าวคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2552 หดตัวประมาณร้อยละ 1.1 และ 11.9 ตามลำดับ เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.8 และ 3.0 ในปี 2551 โดยมีความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจประเทศสำคัญ ๆ และแนวโน้มในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีสรุปได้ดังนี้

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ

(%YoY)

                       2550  2551  2551        2552               2552  2553
                        ทั้งปี   ทั้งปี    Q3    Q4    Q1    Q2    Q3    ทั้งปี*  ทั้งปี*
          โลก*          5.2   2.8   2.3  -0.2  -4.0  -2.5  -0.2   -1.1   3.0

สหรัฐอเมริกา 2.0 0.4 0.0 -1.9 -3.3 -3.8 -2.3 -2.6 2.0

กลุ่มยูโรโซน 3.0 0.7 0.6 -1.5 -4.9 -4.6 -4.1 -4.2 0.7

          อังกฤษ         3.1   0.7   0.0  -1.0  -4.9  -5.6  -5.2   -4.4   1.1
          ญี่ปุ่น           2.4  -0.7  -0.3  -4.3  -8.7  -6.4  -4.5   -5.4   1.6
          จีน           13.0   9.1   9.0   6.8   6.1   7.9   8.9    8.5   9.0
          อินเดีย         9.3   7.3   7.7   5.8   5.8   6.1   6.4*   5.7   7.0

เกาหลีใต้ 5.1 2.2 3.1 -3.4 -4.3 -2.5 0.6 -1.0 3.7

          ไต้หวัน         5.7   0.1  -1.0  -8.4 -10.2  -7.5   2.7*  -4.1   4.0
          ฮ่องกง         6.4   2.6   1.7  -2.5  -7.8  -3.8  -2.4   -3.4   3.6
          สิงคโปร์        7.7   1.1   0.0  -4.2 -10.1  -3.3   0.6   -3.0   4.7

มาเลเซีย 6.3 4.6 4.7 0.1 -6.2 -3.9 -1.2 -3.2 3.5

          ฟิลิปปินส์        7.2   3.8   5.0   4.5   0.4   1.5   1.8*   1.3   3.4
          เวียดนาม       8.2   6.3   6.5   5.6   3.1   3.9   5.8    4.6   6.0
          อินโดนีเซีย      6.3   6.1   6.9   5.6   4.4   4.0   4.2    4.2   5.1

ที่มา: รวบรวมจากแหล่งต่างๆ

หมายเหตุ * ประมาณการโดย สศช.

เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ไตรมาสที่สามขยายตัวร้อยละ 3.5 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (ปรับฤดูกาล) เป็นการขยายตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2551 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า GDP หดตัวร้อยละ 2.3 ชะลอลงจากการหดตัวร้อยละ3.8 ในไตรมาสที่สอง การปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสำคัญ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคสินค้าคงทนที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขยายตัวถึงร้อยละ 22.3 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าโดยเฉพาะการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้รับผลประโยชน์จากมาตรการลดภาษีขยายตัวถึงร้อยละ 23.4 สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของตลาดที่อยู่อาศัย ทั้งทางด้านยอดจำหน่ายบ้านเก่า ราคาบ้านยอดขายบ้านใหม่และการขออนุญาตก่อสร้าง ในขณะที่การลงทุนนอกภาคอสังหาริมทรัพย์หดตัวในอัตราที่ชะลอลงร้อยละ 2.5 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 9.6 ในไตรมาสที่สอง ในด้านการผลิต ดัชนี ISM ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 44.8 ในเดือนมิถุนายนเป็น52.6 ในเดือนกันยายน. ในขณะที่ดัชนี ISM นอกภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจาก 47.0 เป็น 50.9 ในช่วงเดียวกัน อย่างไรก็ตามดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมชี้ให้เห็นว่าการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตยังคงกระจุกตัวอยู่ในสาขาอุตสาหกรรมที่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การว่างงานลดลงจากร้อยละ 9.5 ในเดือนมิถุนายนเป็น 9.4 ในเดือนกรกฎาคม แต่กลับเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 9.8 ในเดือนกันยายน ในขณะเดียวกันอัตราแลกเปลี่ยนยังคงอ่อนตัวอย่าง ต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักอื่นๆ และเมื่อรวมกับอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนตัวส่งผลให้การขาดดุลการค้าปรับตัวลดลงโดยใน 8 เดือนแรกของปีนี้ขาดดุลที่ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ สรอ.(ปรับปัจจัยฤดูกาลออก) เทียบกับ 8 เดือนแรกของปีก่อนที่ 4.9 แสนล้านดอลลาร์สรอ.

ในไตรมาสสุดท้ายของปี คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่สาม อย่างไรก็ตามพลวัตรการฟื้นตัวมีแนวโน้ม ชะลอตัวลงเนื่องจากแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่สามเริ่มลดลง7 ซึ่งสอดคล้องกับเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจล่าสุด โดยเฉพาะอัตราการว่างงานที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นร้อยละ 10.2 ในเดือนตุลาคม และดัชนี ISM นอกภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงจาก 50.9 ในเดือนกันยายน เป็น50.6 ในเดือนตุลาคม แม้ว่าดัชนี ISM ภาคอุตสาหกรรมจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 52.6 เป็น 55.7 ในช่วงเวลาเดียวกันก็ตามอย่างไรก็ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เริ่มกระจายตัวมากขึ้นคาดว่าจะทำให้พลวัตรการฟื้นตัวมีความต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้าย แม้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากไตรมาสก่อนหน้ามีแนวโน้มชะลอตัวลงก็ตาม ในขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ โดย อัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายนอยู่ที่ร้อยละ -1.3 (%YoY) ภายใต้แนวโน้มดังกล่าวคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0-0.25 รวมถึงการขยายปริมาณเงินที่คาดว่าจะยังคงดำเนินการต่อไป ทั้งนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯในปี 2552 มีแนวโน้มจะหดตัวประมาณร้อยละ 2.6

เศรษฐกิจประเทศกลุ่มยูโรโซน ในไตรมาสที่สามเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วหดตัวร้อยละ 4.1 ชะลอลงจากการหดตัวร้อยละ 4.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าขยายตัวร้อยละ 0.4 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 0.1 ในไตรมาสที่สอง การฟื้นตัวนำโดยเยอรมนีและฝรั่งเศส ที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสที่สามในขณะที่เศรษฐกิจสเปน ไอร์แลนด์ และ เนเธอร์แลนด์ ยังคงอยู่ในภาวะหดตัวทางเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนนำโดยการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมรวมถึงการปรับตัวดีขึ้นของสาขาการก่อสร้าง ทั้งนี้การฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเยอรมนีและฝรั่งเศสซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการ Cash for Clunkers ซึ่งทำให้ดัชนี PMI ในเยอรมนีและฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นจาก 52.2 และ 47.0 ในเดือนกรกฎาคมเป็น 52.4 และ 54.8 ในเดือนกันยายน อย่างไรก็ตามการผลิตภาคอุตสาหกรรมในประเทศอื่น ๆ ยังไม่ฟื้นตัวส่งผลให้ดัชนีPMI ของกลุ่มประเทศยุโรปโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ 49.3 ในเดือนกันยายน แม้ว่าจะปรับตัวสูงขึ้นจาก 42.6 ในเดือน มิถุนายนก็ตาม ในด้านอุปสงค์ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคภาคครัวเรือนเริ่มหดตัวช้าลงตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเฉพาะดัชนีด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและยอดขายรถยนต์ในเยอรมนีและฝรั่งเศสซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้าอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนในไตรมาสที่สาม โดยล่าสุดในเดือนตุลาคม อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ -0.1 เทียบกับ -0.3 ในเดือนกันยายนในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (Economic Sentiment Index: ESI ) ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาสที่สามจาก 75 ในเดือนกรกฎาคม เป็น 82.8 ในเดือนกันยายนอย่างไรก็ตามอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 8.6 ในเดือนมิถุนายน เป็นร้อยละ8.9 ในเดือนกันยายน

ในไตรมาสสุดท้ายของปี คาดว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนจะยังคงขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าอย่างต่อเนื่องโดยมีปัจจัยสนับ สนุนจากการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญ รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของความ เชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามพลวัตรของการฟื้นตัวยังคงอ่อนตัวเนื่องจากแรงส่งของมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มลดลง (โดยเฉพาะมาตรการ Cash for Clunkers ในเยอรมนีที่สิ้นสุดในเดือนสิงหาคม 2552 ประเทศฝรั่งเศสสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2552 ส่งผลให้ดัชนี PMI ของประเทศเยอรมนีปรับตัวลดลงจาก 52.4 ในเดือนกันยายน เป็น 52.3 ในเดือนตุลาคม อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวที่เริ่มขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น และทำให้ดัชนี PMI โดยรวมของกลุ่มประเทศยูโรเพิ่มขึ้นสูงกว่า 50 เป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคมคาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายจะ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนจะหดตัวประมาณร้อยละ 4.2

เศรษฐกิจอังกฤษ หดตัวในอัตราที่ชะลอลงในไตรมาสที่สาม โดยหดตัวร้อยละ 5.2 เทียบกับการหดตัวร้อยละ5.5 ในไตรมาสที่สอง และเมื่อเปรียบเทียบไตรมาสต่อไตรมาส เป็นการหดตัวร้อยละ 0.4 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 0.6 ในไตรมาสก่อนหน้าเป็นการหดตัวต่อเนื่องกันเป็นไตรมาสที่ห้า ยาวนานที่สุดของเศรษฐกิจอังกฤษนับตั้งแต่ปี 2498 การหดตัวทางเศรษฐกิจสอดคล้องกับดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งไตรมาส แม้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 47.4 ในเดือนมิถุนายน เป็น 49.9 ในเดือนกันยายนก็ตาม ในขณะที่อัตราการว่างงานในไตรมาสที่สามปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 0.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 7.8 อย่างไรก็ตามสถานการณ์ความไม่แน่นอนในภาคการเงิน8 ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจริงในขณะที่อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีการค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 2.4 ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วนอกจากนี้สถานการณ์ของตลาดที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

ในไตรมาสสุดท้ายของปี เศรษฐกิจอังกฤษมีแนวโน้มที่จะมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคมปรับตัวขึ้นเท่ากับ 53.7 จาก 49.9 ในเดือนกันยายน สูงสุดในรอบ 2 ปี แสดงถึงการเริ่มขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ดัชนี PMIภาคบริการได้ปรับตัวเข้าสู่ระดับสูงสุดในรอบ 26 เดือน จาก 55.3 ในเดือนกันยายนเป็น 56.9 ในเดือนตุลาคม และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจอังกฤษจะปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความล่าช้าในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ และประเทศสำคัญ ๆ ในกลุ่มยูโรโซน รวมทั้งปัญหาในภาคการเงินยังคงเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ คาดว่าจะทำให้ธนาคารกลางอังกฤษยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องทั้งนี้ธนาคารกลางอังกฤษได้ขยายขอบเขตมาตรการขยายปริมาณเงิน(Quantitative Easing) จากเดิมที่ 1.75 แสนล้านปอนด์ เป็น 2 แสนล้านปอนด์9 รวมทั้งการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 0.5 ต่อไป คาดว่าเศรษฐกิจอังกฤษทั้งปีจะหดตัวประมาณร้อยละ 4.4

เศรษฐกิจญี่ปุ่น ในไตรมาสที่สาม เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ 4.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 7.0 ในไตรมาสที่สอง แต่เมื่อเทียบ กับไตรมาสก่อนหน้า เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 1.2 (%QoQ)เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.6 ในไตรมาสที่สอง การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการใช้จ่ายภาครัฐและการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยูโรโซน และการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจจีน ในขณะที่การส่งออกในไตรมาสที่สาม ขยายตัวจากไตรมาสที่สอง ร้อยละ 12.9 (%QoQ) ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากร้อยละ 14.5 (%QoQ) ในไตรมาสที่สอง การขยายตัวของการส่งออกส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้า (ปรับฤดูกาล) ร้อยละ 1.4 ในเดือนกันยายนซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ในขณะที่ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 48.2 ในเดือนมิถุนายนเป็นระดับ 54.5 ในเดือนกันยายนซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงเปราะบาง เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 55 ของ GDP ยังคงมีแนวโน้มหดตัว ดัชนีการค้าปลีกเดือนกันยายน 2552 หดตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากอัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 5.4 ในไตรมาสที่สามเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.2 ในไตรมาสที่สอง คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสสุดท้าย จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในตลาดส่งออก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยูโรโซน รวมทั้งแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน และการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ตามแม้ว่าการผลิตและการส่งออกจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าแต่ดัชนีผลผลิตในเดือนกันยายนยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึงร้อยละ 18.9 ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังคงมีความเปราะบางเนื่องจากอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง เมื่อรวมกับแรงกดดันด้านภาวะเงินฝืด คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยังไม่เปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายการเงิน และเศรษฐกิจทั้งปีจะหดตัวประมาณร้อยละ 5.4

เศรษฐกิจจีน ไตรมาสที่สามขยายตัวร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว และเป็นการขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 6.1 และร้อยละ 7.9 ในไตรมาสแรกและสอง ตามลำดับการขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นเป็นผลมาจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภายใต้การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน (5.86 แสนล้านดอลลาร์สรอ.) ซึ่งเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นสำคัญ รวมทั้งการขยายสินเชื่อของธนาคารที่อยู่ในความดูแลของรัฐบาล โดยสินเชื่อของสถาบันการเงินในไตรมาสที่สามอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านหยวน ส่งผลให้ 9 เดือนแรกของปี 2552 มีสินเชื่อมูลค่ารวม 8.7 ล้านล้านหยวน หรือประมาณร้อยละ 29 ของ GDP ในปี 2551 เทียบกับสินเชื่อมูลค่ารวมทั้งปี 2551 จำนวน 4.17 ล้านล้านหยวน ทั้งนี้การลงทุนในสินทรัพย์คงทนในไตรมาสที่สามขยายตัวร้อยละ 33.4 เทียบกับ ร้อยละ 33.5 ในไตรมาสที่สอง เช่นเดียวกับการบริโภคที่ยังขยายตัวได้ดี โดยการค้าปลีกในเดือนสิงหาคม และกันยายน ขยายตัวอย่างต่อเนื่องร้อยละ 15.4 และ 15.5 ตามลำดับ การส่งออกปรับตัวดีขึ้นชัดเจน มูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่สามขยายตัวร้อยละ 17.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เทียบกับการหดตัวรุนแรงร้อยละ 30.7 ในไตรมาสแรกของปี การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออก ส่งผลให้ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจาก 53.2 ในเดือนมิถุนายน เป็น 54.3 ในเดือนกันยายน

ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องแม้ว่าทางการจีนจะเริ่มแสดงความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มผลกระทบของมาตรการขยายสินเชื่อต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและเริ่มจำกัดการขยายสินเชื่อในบางสาขาการผลิตก็ตาม ในขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2552 จะขยายตัวร้อยละ 8.5

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นตลาดส่งออก โดยเฉพาะการ ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นของเศรษฐกิจจีน และการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเศรษฐกิจเกาหลีใต้และสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 0.6 และ 0.6 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 2.2 และ 3.3 ในไตรมาสที่สอง และเป็นการขยายตัวของ GDP เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็นครั้งแรก หลังจากเศรษฐกิจทั้งสองประเทศหดตัวต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน ในขณะที่เศรษฐกิจฮ่องกงหดตัวร้อยละ 2.4 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่สองที่หดตัวร้อยละ 3.8 เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไต้หวันที่คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ 2.7 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 7.5 ในไตรมาสก่อน ในด้านการผลิต การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ NIEs เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่สาม ขยายตัวร้อยละ2.2 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 8.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ในด้านอุปสงค์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชน โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นจากไตรมาส ก่อนหน้าร้อยละ 9.2 (%QoQ) ขยายตัวต่อเนื่องจากร้อยละ 18.8 ในไตรมาสที่สอง ในขณะที่ดัชนีการค้าปลีกเริ่มขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี ร้อยละ 1.3 (%YoY) เทียบกับการหดตัวร้อยละ 1.6 ในไตรมาสที่สอง

ในไตรมาสสุดท้ายของปี เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ยังมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า โดยรับแรง สนับสนุนจากพลวัตรการฟื้นตัวในภาคการผลิต การส่งออก รวมทั้งการฟื้นตัวของอุปสงค์ภาคครัวเรือน แนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าเมื่อรวมกับฐานที่ต่ำในไตรมาสสุดท้ายของปีคาดว่าจะทำ ให้เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในไตรมาสสุดท้ายจะมีอัตราการขยายตัวที่เป็นบวกทุกประเทศ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้ สิงค์โปร์ ฮ่องกง และไต้หวัน ในปี 2552 หดตัวประมาณร้อยละ 1.0 3.0 3.4 และ 4.1 ตามลำดับ

เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน ปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรก โดยในไตรมาสที่สาม เศรษฐกิจเวียดนาม และอินโดนีเซีย ขยายตัวร้อยละ5.8 และ 4.2 ตามลำดับ เทียบกับร้อยละ 3.9 และ 4.0 ในไตรมาสที่สอง ตามลำดับ ในขณะที่เศรษฐกิจมาเลเซียหดตัวร้อยละ 1.2 ชะลอลง จากการหดตัวร้อยละ 3.9 ในไตรมาสที่สอง สำหรับเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ซึ่งภาคการเกษตรได้รับผลกระทบอย่างมากจากพายุไต้ฝุ่นคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.8 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจอาเซียน ได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ ส่งผลให้การส่งออกฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยหดตัวช้าลงตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ การส่งออกของประเทศกลุ่มอาเซียน10 ในไตรมาสที่สาม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วหดตัวร้อยละ 22.9 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 26.5 และ 28.2ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สอง

ในไตรมาสสุดท้ายของปี คาดว่าสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะมีความชัดเจนมากขึ้น เช่นเดียวกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้คาดว่าปี 2552 เศรษฐกิจมาเลเซียจะหดตัวร้อยละ 3.2 ในขณะที่เศรษฐกิจเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 4.2 และร้อยละ 1.3 ตามลำดับ

(ยังมีต่อ).../2.แนวโน้มเศรษฐกิจไทย..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ