(ต่อ3)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ทั้งปี 2552 และแนวโน้มปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 5, 2010 15:45 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมัน

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก: เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรก หลังจากลดลงต่อเนื่อง 4 ไตรมาส ในไตรมาสที่สี่ของปี 2552 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และ WTI) อยู่ที่ 75.6 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.6 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ปริมาณความต้องการใช้เพิ่มขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในไตรมาสสี่ปี 2551 ปรับลดลงอย่างมากจากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ตลอดปี 2552 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และ WTI) อยู่ที่ 61.90 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 35.8 เมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งเป็นผลจากฐานราคาน้ำมันดิบในปี 2551 ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์เนื่องจากมีการเก็งกำไรในตลาดน้ำมัน ประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันลดลง และความเสียหายในภาคการเงินที่เกิดขึ้นทำให้การเก็งกำไรในตลาดน้ำมันลดลง อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยได้ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2552 โดยปรับเพิ่มจาก 44.3 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ในไตรมาสแรกของปี เป็น 59.3 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ในไตรมาสที่สองและเป็น 68.3 และ 75.6 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ในไตรมาสที่ 3 และ 4 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น เอเชีย ยุโรป และอเมริกา การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งของประเทศจีน อินเดียรวมถึงการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น

  • ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศ: เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ในไตรมาสที่สี่ปี 2552 ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศทุกประเภทเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว โดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.0 ราคาน้ำมันเบนซิน 91 เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.8 ราคาแก๊สโซฮอล์ 95 (E10)และราคาแก๊สโซฮอล์ 95 (E20) เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.6 และ 46.6 ตามลำดับ และแก๊สโซฮอล์ 91 เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.6 สำหรับราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 5 ลดลงเท่ากันที่ร้อยละ 21.1 ทั้งนี้การที่ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องมาจากราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วลดลงมากตามราคาน้ำมันโลกที่ลดลง และผลจากการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงภายใต้มาตรการ 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน

เฉลี่ยทั้งปี 2552 ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศทุกชนิดลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ยกเว้นราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซิน 91 ลดลงร้อยละ 6.3 ราคาแก๊สโซฮอล์ 95 (E10) ลดลงร้อยละ 4.3 ราคาแก๊สโซฮอล์ 95 (E20) ลดลงร้อยละ 7.2 และราคาแก๊สโซฮอล์ 91 ลดลงร้อยละ 5.2 สำหรับราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 5 ลดลงร้อยละ 20.8 และ 25.3 ตามลำดับ ทั้งนี้ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศที่ลดลงนั้นเป็นไปตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศลดลงในอัตราที่น้อยกว่าราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตเพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงานในเดือนกุมภาพันธ์ และการขยายเพดานจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นจาก 5 บาทต่อลิตรเป็น 10 บาทต่อลิตรในเดือนพฤษภาคม

1.3 สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่ 4 ปี 2552

เศรษฐกิจโลกในไตรมาสสุดท้ายของปี ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าและเริ่มขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาสในไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างชัดเจนทั้งในภาคเศรษฐกิจจริงภาคการเงินและการค้าระหว่างประเทศ ในด้านการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจริง เศรษฐกิจสำคัญๆ ขยายตัวเป็นบวกเกือบทุกประเทศเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2551 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจอื่นๆ และการค้าในภูมิภาคเอเชียฟื้นตัว (2) การฟื้นตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในสหรัฐฯ ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ และ (3) การปรับตัวของสินค้าคงคลัง

ในประเทศสำคัญๆ โดยเฉพาะจีน สหรัฐฯ และประเทศสำคัญอื่นๆ ในเอเชียซึ่งทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการค้าโลกฟื้นตัว อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนยังหดตัวเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ ในกลุ่มนี้ยังหดตัวและประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานอ่อนแอยังเผชิญกับปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ในด้านภาคการเงิน Spread สำคัญๆ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องซึ่งสะท้อนถึงการลดลงของความเสี่ยงในระบบการเงินโลก ในด้านการค้าโลกมูลค่าการนำเข้าของจีน NIEs และ ASEAN-5 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและกลับสู่ระดับในปี2550 ในขณะเดียวกันการนำเข้าของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับต้นปีแม้ว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2551 และ 2550 ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามอุปสงค์การนำเข้าของกลุ่มประเทศยุโรปและญี่ปุ่นยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2550 และ 2551 ค่อนข้างมากและยังไม่มีการปรับตัวดีขึ้นที่ชัดเจนเมื่อเทียบกับต้นปี 2552 สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศที่ยังอ่อนแอ

เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในไตรมาส 4 ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 0.1 (YoY) หลังจากหดตัวต่อเนื่องกัน 4 ไตรมาสและส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งปี 2552 หดตัวร้อยละ 2.4 การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจนำโดยการปรับตัวของสินค้าคงคลังและการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2551 ร้อยละ 1.1 แต่การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวร้อยละ 13.8 ทั้งนี้เมื่อพิจารณากิจกรรมทางเศรษฐกิจไตรมาสต่อไตรมาส พบว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.4 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3 โดยองค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 มาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลังร้อยละ 0.8 การบริโภคภาคเอกชนร้อยละ 0.4 และการส่งออกสุทธิร้อยละ 0.1 ในด้านการผลิต เครื่องชี้สำคัญ ๆ แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนี ISM ภาคอุตสาหกรรมเดือนธันวาคมเพิ่มเป็น 55.9 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เมษายน 2549 ในขณะที่ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ร้อยละ 0.64 (MoM sa.) อย่างไรก็ตามดัชนี ISM นอกภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคมอยู่ที่ 49.8 ปรับลดลงมาจาก 50.5 ในเดือนกันยายนแต่ยังอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับระดับ 39.9 ในเดือนธันวาคม 2551 การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ การคืนภาษีให้แก่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัย รวมทั้งมาตรการขยายปริมาณเงินและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ เป็นประวัติการณ์ ซึ่งสนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภคและตลาดสินทรัพย์ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากการว่างงานที่สูง โดยอัตราการว่างงานในเดือนธันวาคมอยู่ที่ร้อยละ 10.0 เทียบกับร้อยละ 7.4 ในเดือนธันวาคม 2551

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยุโรปในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 0.1 (QoQ) เทียบกับร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ยังคงหดตัวที่ร้อยละ 2.1 (YoY) นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่5 ส่งผลให้ทั้งปี 2552 เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยุโรปหดตัวร้อยละ 4.0 ทั้งนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มยุโรปมีความแตกต่างกัน โดยเศรษฐกิจของเยอรมนี สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 จากการฟื้นตัวของการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ประเทศกลุ่ม PIGS (โปรตุเกส ไอร์แลนด์ กรีซ และสเปน) ประสบปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันออกยังคงอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยและมีความเสี่ยงต่อปัญหาวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของประเทศอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ในกลุ่มนี้ทำให้เครื่องชี้เศรษฐกิจโดยภาพรวมปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนี PMIภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 51.6 ในเดือนธันวาคมเทียบกับ 49.3 ในเดือนกันยายน ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (Economic Sentiment) ในเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นเป็น 95.0 เทียบกับ 87.0 ในเดือนกันยายน อย่างไรก็ตามกลุ่มประเทศยุโรปยังคงเผชิญกับปัญหาอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น โดยในเดือนธันวาคมอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 9.5 เทียบกับร้อยละ 9.1 ในเดือนกันยายน ทั้งนี้การว่างงานของประเทศที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์สูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การฟื้นตัวที่ยังเปราะบางท่ามกลางปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทำให้ธนาคารกลางยุโรปยังคงดำเนินมาตรการดอกเบี้ยต่ำอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับธนาคารกลางอังกฤษซึ่งดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำควบคู่ไปกับการขยายปริมาณเงิน (Quantitative Easing)

เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 4 หดตัวร้อยละ 0.4 นับเป็นการหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากร้อยละ 5.7 และร้อยละ 5.2 ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 1.1 ซึ่งส่งผลให้ทั้งปี 2552 เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ 5.0 ทั้งนี้การปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นในไตรมาสสุดท้ายเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกซึ่งขยายตัวร้อยละ 1.1 และหดตัวร้อยละ 5.0 ในไตรมาสที่ 4 เทียบกับการหดตัวในไตรมาส 3 ร้อยละ 0.4 และร้อยละ 22.7 ตามลำดับ การส่งออกในเดือนธันวาคม 2552 ขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 2 ปี ร้อยละ 12.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน โดยการส่งออกไปยังจีนขยายตัวมากที่สุดร้อยละ 42.8 และการส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียขยายตัวร้อยละ 31.2 การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากระดับ 52.3 ในเดือนพฤศจิกายน เป็นระดับ53.8 ในเดือนธันวาคม ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมรายใหญ่ (Tankan Survey) ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ปรับตัวดีขึ้น 9 จุดจากไตรมาสที่ 3 อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังคงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะเงินฝืด โดยดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธันวาคมหดตัวร้อยละ 1.7 และเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 5.1 ในเดือนธันวาคม จากความเปราะบางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 3 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 โดยมีนโยบายที่สำคัญคือ การกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศโดยเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐและเน้นการเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือนโดยการให้ความช่วยเหลือโดยตรง

เศรษฐกิจจีนไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ขยายตัวสูงสุดนับจากไตรมาสที่ 4 ปี 2550 ที่ร้อยละ 10.7 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 8.7 นำโดยการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน (5.86 แสนล้านดอลลาร์ สรอ.) ซึ่งเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นสำคัญ รวมทั้งการขยายตัวของสินเชื่อรวมมูลค่า 9.63 ล้านล้านหยวน (ร้อยละ 28.7 ของมูลค่า GDP ณ ราคาตลาด) เทียบกับทั้งปี 2551 ที่มีมูลค่า 4.17 ล้านล้านหยวน มาตรการดังกล่าวส่งผลให้การลงทุนขยายตัวต่อเนื่องแม้ว่าสินเชื่อจะลดลงจาก 7.4 ล้านล้านหยวนในครึ่งปีแรกเป็น 2.2 ล้านล้านหยวนในครึ่งปีหลังก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวโดยดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคมอยู่ที่ 56.6 สูงกว่าระดับ 50เป็นเดือนที่ 10 การขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคทำให้การนำเข้าในไตรมาสที่ 4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 11.0 (ปรับปัจจัยฤดูกาล) ในขณะที่การส่งออกในไตรมาสเดียวกันขยายตัวร้อยละ 11.0 (ปรับปัจจัยฤดูกาล) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

เศรษฐกิจเอเชียปรับตัวดีขึ้น โดยได้รับแรงส่งจากการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นสำคัญ ในไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจของประเทศสำคัญ ๆ ในภูมิภาคขยายตัวเป็นบวกเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วและส่วนใหญ่ขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยเกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ขยายตัวร้อยละ 6.0 และ 3.5 ในขณะที่เศรษฐกิจอินโดนีเซียฟิลิปปินส์และเวียดนาม ขยายตัวร้อยละ 5.4 1.8 และ 5.2 ตามลำดับ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชียได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายตัวของเศรษฐกิจและการนำเข้าของประเทศจีนและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดประเทศพัฒนาแล้วยังไม่มีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นมากนัก อย่างไรก็ตามการหดตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกทำให้เศรษฐกิจทั้งปี 2552 ของเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และมาเลเซียหดตัวร้อยละ 0.1 2.1 และ 2.4 ตามลำดับ ขณะที่เศรษฐกิจฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียขยายตัวร้อยละ 0.9 และ 4.5 ตามลำดับสำหรับเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 4.5 ชะลอตัวลงมากเมื่อเทียบกับร้อยละ 6.3 ในปี 2551 นอกจากนั้นการชะลอตัวของอุปสงค์จากต่างประเทศ เมื่อรวมกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอโดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงทำให้เวียดนามประสบปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้รัฐบาลเวียดนามประกาศลดค่าเงินลงร้อยละ 5 พร้อมทั้งเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 6.0 เป็นร้อยละ 7.0 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552

(ยังมีต่อ).../2. แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2553..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ