ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Monday December 27, 2010 15:11 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ตลาดสุกรในสัปดาห์นี้ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศที่เริ่มเย็นลงทำให้สุกรเจริญเติบโตดี มีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรยังคงทรงตัว แนวโน้มคาดว่าการบริโภคเนื้อสุกรจะเพิ่มขึ้นและราคาจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย เพราะเข้าสู่เทศกาลเฉลิมฉลองวันปีใหม่

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 55.27 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 55.85 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.04 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 53.44 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 59.24 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 54.24 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 56.63 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,600 บาท (บวกลบ 55 บาท) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 51.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 52.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.90 และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 60.50 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 61.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.63

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สัปดาห์นี้ราคาไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะตลาดค่อนข้างคึกคัก เนื่องจากเข้าสู่เทศกาลเฉลิมฉลองวันคริสต์มาส ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อไก่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ปริมาณผลผลิตยังคงทรงตัว แนวโน้มคาดว่าการบริโภคไก่เนื้อจะเพิ่มขึ้นและราคาจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเทศกาลวันหยุดเฉลิมฉลองวันปีใหม่

กรมปศุสัตว์ ได้รับแจ้งจากทางการอียิปต์จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจรับรองโรงงานชำแหละเนื้อไก่ของไทยในช่วงต้นปี 2554 ซึ่งถือเป็นโอกาสดีของตลาดเนื้อไก่สดแช่แข็งของไทย เพราะอดีตที่ผ่านมาอียิปต์ยังไม่เคยนำเข้าเนื้อไก่สดแช่แข็งจากไทยมาก่อน ขณะที่อียิปต์มีประชากรมากถึง 80 ล้านคน มีการบริโภคเนื้อไก่ประมาณ 8 กิโลกรัมต่อคนต่อปีหรือ 640,000 ตันต่อปี นอกจากนี้ยังได้รับแจ้งจากหน่วยงาน Food and Veterinary Officer (FVO) ของสหภาพยุโรป (EU) จะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อตรวจประเมินพิจารณาอนุญาตให้นำเข้าเนื้อสัตว์ปีกสดแช่แข็งจากไทย รวมทั้งมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมป้องกันโรคสัตว์ที่สำคัญ และตรวจประเมินด้านสวัสดิภาพสัตว์ปีก ณ โรงฆ่า ในระหว่างวันที่ 21-25 มีนาคม 2554 และ 28 มีนาคม-1 เมษายน 2554 ตามลำดับ ซึ่งการเข้าตรวจประเมินครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีของอุตสาหกรรมไก่ไทยที่จะสามารถเพิ่มช่องทางการส่งออกเนื้อไก่และเป็ดสดแช่แข็งไปยังตลาดสหภาพยุโรปได้ในอนาคต ทั้งนี้ตลาดสหภาพ ยุโรปมีการบริหารและจัดสรรโควต้าการนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกจากประเทศที่สาม ดังนั้นการแข่งขันเรื่องคุณภาพและมาตรฐานการผลิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากสหภาพยุโรปเปิดตลาดเนื้อไก่สดแช่แข็งให้ไทย ถือเป็นการเปิดช่องทางการส่งออกให้กับอุตสาหกรรมไก่ไทยอีกทางหนึ่ง ซึ่งการส่งออกเนื้อไก่ไทยก่อนการระบาดของไข้หวัดนกเมื่อปี 2546 ที่ผ่านมา ไทยได้ส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็งไปตลาดยุโรป คิดเป็นสัดส่วนกว่า ร้อยละ 25 รองจากตลาดญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนกว่า ร้อยละ 48 ของการส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็งรวมทั้งหมดของไทย นอกจากนี้หากไทยสามารถเปิดตลาดเนื้อไก่สดแช่แข็งไปยัง สหภาพยุโรปได้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเจรจาขอเปิดตลาดเนื้อไก่สดแช่แข็งไปยังญี่ปุ่นได้อีกด้วย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 42.77 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 42.17 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.42 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 39.52 บาท ภาคะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 45.42 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 42.40 บาท และภาคใต้ไม่มีรายงาน ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 16.50 บาท สูงขึ้นจากตัวละ 14.50 บาท จากสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 13.79

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 44.50 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 43.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.30 และราคาขายส่งไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 57.50 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 56.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.77

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ภาวะตลาดไข่ไก่เริ่มคึกคัก สัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเข้าสู่เทศกาลเฉลิมฉลองวันคริสต์มาส ส่งผลให้ความต้องการบริโภคไข่ไก่มีมากขึ้น ในขณะที่สภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลกระทบต่อสุขภาพแม่ไก่ไข่ทำให้ผลผลิตไข่ไก่ออกสู่ตลาดน้อย แนวโน้มคาดว่าการบริโภคไข่ไก่จะเพิ่มขึ้นและราคาจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเทศกาลวันหยุดเฉลิมฉลองวัน ปีใหม่

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์หรือบอร์ดไข่ รายงานสถานการณ์ไก่ไข่และไข่ไก่ โดยกรมปศุสัตว์ประสานกับบริษัทเอกชนที่จะมีการนำเข้าไก่ไข่ในปี 2554 ให้แจ้งปริมาณการนำเข้าภายในต้นเดือนมกราคม เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการติดตามและประเมินปริมาณไข่ไก่ที่จะออกสู่ตลาด เบื้องต้นกรมปศุสัตว์ได้ประมาณการผลิตไก่ไข่ปี 2554 จากฐานข้อมูลการนำเข้าไก่ไข่ปี 2553 โดยมีบริษัทผลิตลูกไก่ไข่พันธุ์ทั้งหมด 19 บริษัท ซึ่งได้มีการนำเข้าไก่ไข่พันธุ์แล้ว 16 บริษัท ในปี 2554 คาดว่าจะมีการนำเข้าไก่ไข่พันธุ์จำนวน 522,382 ตัว ได้จำนวนลูกไก่ไข่ 44,494,380 ตัว ผลผลิตไข่ไก่ประมาณ 33 - 34 ล้านฟองต่อวัน ซึ่งเกินปริมาณความต้องการบริโภคในประเทศ ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่ประชุมจึงเห็นชอบในหลักการแผนงานโครงการรณรงค์เพื่อการบริโภคไข่ 4 โครงการหลัก ได้แก่ 1.โครงการไข่โรงเรียน 2.การวิจัยเชิงการแพทย์ 3.การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคไข่สู่สาธารณชน และ 4.กิจกรรมการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อรณรงค์การบริโภคไข่ไก่เพิ่มขึ้น ซึ่งในระยะสั้นที่ประชุมได้เห็นควรดำเนินการในเรื่องการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคไข่สู่สาธารณชน และกิจกรรมการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อรณรงค์การบริโภคไข่ไก่เพิ่มขึ้นก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อทำให้ปริมาณการบริโภคไข่ไก่ของคนไทยจากเดิมเฉลี่ย 165 ฟองต่อคนต่อปี ไปให้ถึงเป้าหมาย 200 ฟองต่อคนต่อปี

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 278 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 274 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.46 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 272 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 281 บาท ภาคกลางร้อยฟอง 270 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 303 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 26.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 285 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 294 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 295 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.34 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ภาคเหนือร้อยฟองละ 266 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 317 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 278 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 326 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 340 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 44.61 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 44.81 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.45 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 49.43 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 35.21 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 52.39 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 50.03 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 33.00 บาท บาท สูงขึ้นกิโลกรัมละ 32.65 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.07 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 50.00 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 29.64 บาท ภาคกลาง 32.69 บาท ภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 20 — 26 ธ.ค. 2553--

-พห-

แท็ก เกษตรกร   สุกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ