สศก. เผย ผลศึกษาประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดฝักอ่อนปี 53

ข่าวทั่วไป Wednesday April 27, 2011 14:21 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. เผยผลศึกษาการผลิตข้าวโพดฝักอ่อนในแหล่งผลิตภาคตะวันตก พบมีประสิทธิภาพการผลิตสูงถึงร้อยละ 92 โดยปัจจัยที่มีผล ได้แก่ ปริมาณแรงงาน ปริมาณปุ๋ยเคมี และปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์ แนะ เกษตรกรควรรวมกลุ่มปลูก ทำการผลิตในลักษณะมีสัญญาผูกพัน (Contract farming) เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นใจและจูงใจให้ปรับปรุงคุณภาพผลผลิต

นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ได้ศึกษาประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดฝักอ่อน ปี 2553 ของเกษตรกรในแหล่งผลิตภาคตะวันตก ต้นทุนและผลตอบแทนในการผลิต ตลอดจนทัศนคติของเกษตรกร พบว่า มีประสิทธิภาพการผลิตสูงถึงร้อยละ 92 โดยปัจจัยที่มีผลต่อผลผลิตค่อนข้างมาก ได้แก่ ปริมาณแรงงาน ปริมาณปุ๋ยเคมีและปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์

โดยต้นทุนการผลิตข้าวโพดฝักอ่อนทั้งเปลือก เฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.06 บาท ซึ่งราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.13 บาท และเมื่อรวมกับรายได้จากการขายต้นข้าวโพดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 0.63 บาท จะได้รับกำไรกิโลกรัมละ 0.70 บาท

ด้านต้นทุนข้าวโพดฝักอ่อนปอกเปลือก เฉลี่ยกิโลกรัมละ 20.31 บาท ซึ่งราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 20.37 บาท และเมื่อรวมกับรายได้จากการขายต้นข้าวโพดเฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 6.31 บาท จะได้รับกำไรกิโลกรัมละ 6.37 บาท

ส่วนการวัดความด้อยประสิทธิภาพทางเทคนิค พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อความด้อยประสิทธิภาพของเกษตรกรอย่างสำคัญ จำนวนปีที่ปลูกและอายุของเกษตรกร โดยกรณีของจำนวนปีที่ปลูก พบว่าเกษตรกรที่มีระยะเวลาการปลูกอยู่ในช่วง 1-9 ปี มีความสามารถในการเพิ่มผลผลิตได้มากที่สุด ส่วนปัจจัยอายุของเกษตรกร พบว่าเกษตรกรที่มีอายุอยู่ในช่วง 40-57 ปีมีความสามารถในการเพิ่มผลผลิตได้มากที่สุด

สำหรับทัศนคติของเกษตรกรในการปลูกข้าวโพดฝักอ่อน เกษตรกรมีทัศนคติที่ดีและเห็นด้วยเกือบทุกด้านในการปลูก ได้แก่ ด้านการผลิต การตลาด และการให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ไม่แน่ใจในด้านความเสี่ยง ว่าปลูกแล้วจะให้ผลตอบแทนสูงหรือคุ้มค่ากับการลงทุน แม้ว่าผลตอบแทนไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังคงปลูกข้าวโพดฝักอ่อนต่อไป เพราะให้ผลตอบแทนเร็ว ประมาณ 45 - 60 วันต่อการปลูก 1 ครั้ง

          ในการผลิตข้าวโพดฝักอ่อน เกษตรกรสามารถลดความเสี่ยงในเรื่องราคาตกต่ำ โดยรวมกลุ่มให้มีการปลูกในลักษณะมีสัญญาผูกพัน (Contract farming) เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นใจและจูงใจให้ปรับปรุงคุณภาพผลผลิต          ซึ่งภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรสนับสนุนการใช้ปัจจัยการผลิตที่ถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิชาการ เช่น ปุ๋ยเคมี เมล็ดพันธุ์ แรงงาน เพื่อเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพทางเทคนิค นอกจากนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตขาดแคลนในช่วงฤดูฝนที่มีน้ำท่วมแปลงปลูก และเกษตรกรควรแก้ไขปัญหา โดยยกแปลงปลูก ขุดร่องน้ำรอบแปลง หรือเลือกปลูกในพื้นที่ที่มีความชัน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ