ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Tuesday August 16, 2011 15:12 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ตลาดสุกรในสัปดาห์นี้ ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากโรค PRRS (โรคทางระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจ) และสภาพอากาศที่แปรปรวนมีผลต่อปริมาณการผลิตและการเจริญเติบโตของสุกร ทำให้สุกรที่ออกสู่ตลาดมีปริมาณลดลงส่งผลให้ราคาสุกรปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดราคาควบคุมของสุกรทั้งระบบ ทั้งสุกรมีชีวิต สุกรชำแหละ และราคาขายปลีกเนื้อสุกร แนวโน้มคาดว่าราคาสุกรจะทรงตัว

กรมการค้าภายในโดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้ประกาศใช้มาตรการควบคุมราคาสุกร และให้ติดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน มีผลตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2554 เป็นเวลา 6 เดือน โดยกำหนดราคาในเขตกรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก สำหรับสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม ราคาไม่เกินกิโลกรัมละ 81 บาท สุกรชำแหละ (ซีก) ราคาไม่เกินกิโลกรัมละ 93 บาท และเนื้อสุกรขายปลีก (เนื้อสะโพก เนื้อไหล่) ราคาไม่เกินกิโลกรัมละ 152 บาท ส่วนภาคอื่นกำหนดราคาบวกเพิ่มขึ้นแตกต่างกันไป เช่น ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ราคาขายปลีกไม่เกินกิโลกรัมละ 157 บาท และภาคใต้ไม่เกินกิโลกรัมละ 162 บาท โดยผู้ประกอบการที่มีสุกรมีชีวิตในครอบครองเกิน 500 ตัว และซากสุกรเกิน 5 ตัน ต้องรายงานทุก 15 วัน ทั้งนี้กรมการค้าภายในจะควบคุมราคาสุกรอย่างจริงจัง หากพบว่าผู้ค้าขายเกินกว่าราคาควบคุม จะดำเนินการทางกฎหมายทันที

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 76.38 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 73.73 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 3.59 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 72.12 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 74.35 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 78.02 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 78.28 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 2,400 บาท (บวกลบ 80 บาท) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 80.50 บาท และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 90.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สัปดาห์นี้ราคาไก่เนื้อมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากมีปริมาณไก่เนื้อและไก่ใหญ่ออกสู่ตลาดมาก ประกอบกับมีฝนตกทั่วทุกภาคและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลให้กำลังซื้อลดลง แนวโน้มคาดว่าราคาจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย จากปัจจัยบวกในเทศกาลสารทจีน

หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศปรับลดราคาแนะนำไก่เนื้อลง กก.ละ 5 บาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. 54 ที่ผ่านมานั้น ด้านบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ปฯ กล่าวว่า เห็นด้วยที่มีการปรับราคาแนะนำเนื้อไก่ลง เพื่อผู้บริโภคจะได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากราคาไก่เป็นหน้าโรงงานได้ลดลงจากกก.ละ 55 บาท ลงเหลือกก.ละ 38 บาทแล้ว ราคาขายปลีกเนื้อไก่ก็น่าจะลดลงตาม และคาดว่าราคาเนื้อไก่จะไม่ขึ้นสูงกว่านี้ หลังจากที่ทำนิวไฮกก.ละ55บาท ทั้งนี้หลังจากปรับลดราคาแนะนำแล้วเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายกรมการค้าภายในควรจะได้ติดตามการจำหน่ายขายปลีกอย่างใกล้ชิด ด้านบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับลดราคาแนะนำใหม่ทางกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ให้เวลาห้างปรับตัวเคลียร์สต๊อกเดิม 3-4 วัน ส่วนราคาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทางบิ๊กซีบวกกำไรไม่มาก เพราะการแข่งขันสูงมาก โดยโมเดิร์นเทรดส่วนใหญ่แข่งขันใช้วิธีหั่นราคาขาย ราคาที่ขายจึงเป็นราคาตามกลไกตลาด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 46.71 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 47.10 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.83 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 40.52บาท ภาคะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 48.16 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 47.36 บาท และภาคใต้กิโลกรัมละ 53.52 บาท ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ตัวละ 15.50 บาท ลดลงจากตัวละ 16.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 6.06

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 39.50 บาท และราคาขายส่งไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 52.50 ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ในสัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันราคาเนื้อสุกร เนื้อวัว และเนื้อไก่ ได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ภาวะตลาดไข่ไก่ค่อนข้างคึกคัก ผู้บริโภคหันมาบริโภคไข่ไก่มากขึ้น เพราะไข่ไก่เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่มีราคาไม่แพงนัก แนวโน้มคาดว่าราคาจะสูงขึ้นเล็กน้อย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 304 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 300บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.33 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 317 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 278 บาท ภาคกลางร้อยฟอง 301 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 324 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ตัวละ 28.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 328 ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 319 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 315 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.23 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ภาคเหนือร้อยฟองละ 313 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 324 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 310 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 346 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 380 บาท

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 51.57 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 51.28 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.57 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 54.43 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 43.45 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 57.82 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 58.76 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 39.10 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 55.40 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 35.84 บาท ภาคกลางและภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 8 — 14 สิงหาคม 2554--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ