ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ประมง

ข่าวทั่วไป Wednesday December 14, 2011 14:33 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ

การผลิต

กรมประมงปล่อยปลากินยุงเข้ามากินลูกน้ำยุงลายในแหล่งน้ำท่วม

นายนณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้ก่อตังกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมเปิดเผยว่า ในภาวะน้ำท่วมเริ่มมีความเป็นห่วงว่าจะเกิดปัญหาน้ำท่วมขังและเน่าเสีย จนกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่เป็นพาหะของโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกที่กำลังเฝ้าระวังในขณะนี้ ทั้งนี้ ได้รับข้อมูลว่าจะมีการปล่อยปลากินยุงมาใช้ในการแก้ปัญหายุงชุม โดยจะให้ปลากินลูกน้ำ หลายปีที่ผ่านมาก็เคยมีการปล่อยปลากินยุง และพบว่าได้ก่อปัญหา การรุกรานสัตว์น้ำในท้องถิ่น ทั้งการกินลูกปลาขนาดเล็ก แย่งอาหาร และที่อยู่อาศัย จนทำให้ประชากรปลากินยุงเป็นเอเลี่ยนที่ไม่ควรนำมาใช้แก้ปัญหาดังกล่าว จากการตรวจสอบการนำปลากินยุงมาใช้กำจัดยุงในต่างประเทศ เช่น รัสเซีย อิตาลี ออสเตรเลีย ตุรกี และไทย พบว่าไม่สามารถช่วยแก้ปัญหายุงชุมได้จริงและยังมีการจัดอันดับปลากินยุงได้เป็น 1 ในชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ส่งผลเลวร้ายต่อระบบนิเวศมากที่สุดในโลกอีกด้วย ทั้งนี้ ปลากินยุงเป็นปลาที่ทนอยู่ได้ในน้ำเน่าเสีย แม่ปลา 1 ตัวออกลูกได้ 50 — 300 ตังต่อครั้ง และตั้งท้องทุกๆ 1 — 2 เดือนโดยไม่ต้องผสมพันธุ์ เนื่องจากปลาตัวเมียจะเก็บน้ำเชื้อตัวผู้ไว้ในท้องได้นานหลายเดือน และยังกินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในน้ำเป็นอาหาร เช่น ลูกน้ำ ตัวไร และแพลงก์ตอนสัตว์ ซึ่งเป็นอาหารสัตว์น้ำในท้องถิ่น รวมทั้งแย่งอาหารปลาขนาดใกล้เคียงกัน เช่น ปลาซิวข้าวสาร ปลาหัวตะกั่ว และปลาเข็ม เป็นต้น และได้ทดลองใช้ปลากินยุงปล่อยให้กินลูกน้ำ ปรากฏว่าปลา ชนิดนี้กินลูกน้ำไม่หมด เพราะมันอาศัยแต่บริเวณผิวน้ำ การปล่อยสิ่งมีชีวิตเพื่อกำจัดสิ่งมีชีวิตที่เราไม่ต้องการนั้น ถ้าหากไม่ศึกษาพฤติกรรมของสัตว์ชนิดนั้นให้ดีก็จะก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมา และไม่สามารถควบคุมการขยายพันธุ์ได้ หรืออาจไปกัดทำร้ายปลาชนิดอื่น จนทำให้ติดเชื้อโรค เช่น โรคหนอนพยาธิ ล่าสุดได้ปรึกษากับกรมประมงพร้อมให้คำแนะนำว่า ควรจะปล่อยปลาไทย 2 ชนิด คือ ปลาสลิด กับปลาหมอ เพื่อช่วยกำจัดลูกน้ำยุงลายในแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อน้ำสาธารณะที่น้ำนิ่ง ไม่ไหลเวียน เพราะกรมประมงมีขีดความสามารถในการเพาะพันธุ์ปลาไทยทั้ง 2 ชนิดนี้ได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังสามารถส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงไว้เป็นปลาเศรษฐกิจ ตลอดจนเพาะพันธุ์เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ชุมชนท้องถิ่นที่มีปัญหาน้ำท่วมขังและมียุงชุมได้ด้วย ปลาไทยสามารถว่ายซอกแซกในน้ำได้ดี และทนทานต่อสภาพน้ำเสียได้พอสมควร เช่น ปลากระดี่ ปลากริม ปลาสลิด ปลาหัวตะกั่ว ปลาหมอ และลูกปลาช่อน ปลาเหล่านี้เป็นปลาที่มีอยู่มากในแหล่งน้ำไทย ถ้าเราหามาแล้วปล่อยเลี้ยงไว้ในบ้าน หรือแหล่งน้ำที่ท่วมขังเป็นเวลานาน พอน้ำลดลงก็ปล่อยลงน้ำไป ถ้าจะมีหน่วยงานใดเพาะพันธุ์แจกประชาชนก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี และมีความเสี่ยงน้อยกว่าการใช้ปลากินยุง สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่สามารถหาซื้อปลาไทยขนาดเล็กได ก็ยังสามารถใช้ปลาหางนกยูงและปลากัดทดแทนปลากินยุงได้ แต่ต้องเลี้ยงในพื้นที่ที่มีขอบเขต และระวังอย่าให้หลุดรอดไปยัง แหล่งน้ำธรรมชาติได้

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (17 — 23 ต.ค. 2554) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 935.57 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 464.28 ตัน สัตว์น้ำจืด 471.29 ตัน ประกอบด้วย สัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่

          1.1  ปลาดุก               ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                2.48    ตัน
          1.2  ปลาช่อน             ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                 3.74    ตัน
          1.3  กุ้งทะเล              ส่งเข้าประมูลจำหน่าย               62.25    ตัน
          1.4  ปลาทู                ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                9.74    ตัน
          1.5  ปลาหมึก             ส่งเข้าประมูลจำหน่าย                63.08    ตัน

การตลาด

ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ

2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 38.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคา

2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 77.22 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 77.20 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.02 บาท

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 117.14 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 110.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 7.14 บาท

2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 140.01 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 139.78 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.23 บาท

สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 148.00 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 145.83 บาท ของสัปดาห์ก่อน 2.17 บาท

2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 45.76 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 40.49 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 5.27 บาท

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 68.57 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 68.33 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.24 บาท

2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 89.33 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 96.00 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 6.67 บาท

สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 155.71 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 174.17 บาท ของสัปดาห์ก่อน 18.46 บาท

2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.92 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 8.41 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.49 บาท

สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 3 — 9 ธ.ค. 2554) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 24.60 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 5 - 11 ธันวาคม 2554--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ