สศก. เผยผลการวิจัยการใช้เครื่องเกี่ยวนวดข้าว ชี้รวมกลุ่มและบริหารจัดการช่วยได้

ข่าวทั่วไป Thursday December 29, 2011 13:31 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. เผยผลวิจัยการใช้เครื่องเกี่ยวนวดข้าว พบ เกษตรกรนิยมใช้เครื่องเกี่ยวนวดกันมากขึ้นเนื่องจากประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย แต่ยังพบปัญหาขาดแคลนเครื่องเกี่ยวข้าวในบางพื้นที่ แนะ หากเกษตรกรมีการรวมกลุ่มและนำรูปแบบกลุ่มที่มีการดำเนินโครงการเครื่องเกี่ยวนวดข้าวที่ประสบความสำเร็จมาเป็นต้นแบบในการดำเนินการ จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนเครื่องเกี่ยวนวดข้าวในพื้นที่และสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง

นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการวิจัยการใช้เครื่องเกี่ยวนวดข้าว ปีเพาะปลูก 2552/2553 พบว่า ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายของการใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยวข้าวจนถึงขายใช้เวลาทำงานไร่ละ 45 ชั่วโมง มีค่าใช้จ่ายไร่ละ 1,083 บาท เปรียบเทียบกับการใช้เครื่องเกี่ยวนวดข้าวที่ใช้เวลาเพียงไร่ละ 0.27 ชั่วโมง และมีค่าใช้จ่ายไร่ละ 570 บาท ทำให้เกษตรกรนิยมใช้เครื่องเกี่ยวนวดกันมากขึ้นเนื่องจากประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายมากกว่า ประกอบกับแรงงานคนหายากขึ้นในปัจจุบัน และการเกี่ยวด้วยแรงงานคนไม่สามารถตอบสนองความต้องการเกี่ยวให้ทันฝนได้ เกษตรกรจะใช้แรงงานคนเกี่ยวข้าวก็ต่อเมื่อเกิดน้ำท่วม หรือสภาพแปลงนาเป็นที่ดอน กระทงนาเล็ก ซึ่งเครื่องเกี่ยวนวดข้าวไม่เข้าพื้นที่ แต่เครื่องเกี่ยวนวดข้าวมีราคาสูง และมีกลไกที่ซับซ้อน ผู้ให้บริการเครื่องเกี่ยวนวดข้าวจำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องเครื่องจักรและการดูแลรักษาเป็นอย่างดี เพื่อให้สามารถบริการเกี่ยวนวดข้าวได้มีประสิทธิภาพ

สำหรับเครื่องเกี่ยวนวดข้าว พบว่า มีราคาตั้งแต่คันละ 700,000 บาท ถึง 2,000,000 กว่าบาท ผู้ประกอบการรับจ้างเกี่ยวนวดส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 74 จัดซื้อเครื่องเกี่ยวนวดข้าวโดยใช้เงินกู้ยืม ซึ่งในการรับจ้างเกี่ยวนวดผู้ประกอบการจะให้บริการเกี่ยวข้ามภูมิภาคต่อเนื่องตามช่วงการเก็บเกี่ยวข้าว เริ่มจากช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. ในทุ่งกุลาร้องไห้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเคลื่อนย้ายไปยังภาคกลาง ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. ต่อไปที่ภาคใต้ ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. และกลับมาที่ภาคกลาง (นาปี) และขึ้นเหนือในช่วงเดือน พ.ค.- ต.ค. ทำให้ในฤดูเกี่ยวข้าวมีผู้ให้บริการเครื่องเกี่ยวนวดข้าวกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เดียว เนื่องจากต้องรับงานเกี่ยวข้าวให้เพียงพอกับความสามารถของเครื่องเกี่ยวนวดข้าวและเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่อื่นพร้อมกัน จึงเกิดการตัดราคาและเกิดการขาดแคลนเครื่องเกี่ยวข้าวในบางพื้นที่

จากการศึกษากลุ่มเกษตรกรบ้านดอนขมิ้นและบ้านหนองกกหมาก ตำบลดอนขมิ้น อำเภอท่ามะกา ซึ่งประสบปัญหาทำนาไม่พร้อมกัน เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวเกิดการขาดแคลนเครื่องเกี่ยวนวดข้าว จึงได้จัดทำโครงการเครื่องเกี่ยวนวดข้าว ใช้เงินงบประมาณ SML ของทั้ง 2 หมู่บ้าน ซื้อเครื่องเกี่ยวนวดข้าวขนาดกลาง เพื่อรับจ้างเกี่ยวนวดข้าวทั้งในกลุ่มและนอกกลุ่ม บริหารจัดการดำเนินงานในรูปคณะกรรมการ โดยให้ผลตอบแทนการดำเนินงานแก่ทุกฝ่าย เปรียบเทียบกับการดำเนินธุรกิจชองผู้ประกอบการทั่วไป พบว่า เครื่องเกี่ยวนวดข้าวขนาดใหญ่มีต้นทุนเฉลี่ยไร่ละ 404 บาท รองลงมาเป็นขนาดกลางและขนาดเล็ก ไร่ละ 384 บาท และ 370 บาท ตามลำดับ ส่วนต้นทุนของกลุ่มเกษตรกรฯ คิดเป็นไร่ละ 367 บาท

ด้านรายได้ พบว่า ผู้ประกอบการรับจ้างเกี่ยวนวดที่ใช้เครื่องเกี่ยวนวดข้าวขนาดใหญ่มีรายได้คันละ 725,000 บาท/ปี ขนาดกลางและขนาดเล็ก มีรายได้คันละ 696,000 และ 527,000 บาท/ปี ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มเกษตรกรฯ มีรายได้คันละ 750,000 บาท/ปี สำหรับพื้นที่ให้บริการของเครื่องเกี่ยวนวดข้าวพบว่า เครื่องเกี่ยวนวดข้าวขนาดใหญ่มีพื้นที่ให้บริการคันละ 1,528 ไร่/ปี ขนาดกลาง และขนาดเล็ก มีพื้นที่ให้บริการคันละ 1,515 และ 1,068 ไร่/ปี ตามลำดับ ในขณะที่รถของกลุ่มเกษตรกรฯ มีพื้นที่ให้บริการคันละ 1,500 ไร่/ปี จะเห็นได้ว่ากลุ่มเกษตรกรสามารถบริหารจัดการให้มีรายได้สูงกว่าและมีต้นทุนต่ำกว่าผู้ประกอบการเครื่องเกี่ยวนวดขนาดใหญ่

ดังนั้น หากเกษตรกรในพื้นที่มีการรวมกลุ่มและนำรูปแบบกลุ่มเกษตรกรที่มีการดำเนินโครงการเครื่องเกี่ยวนวดข้าวที่ประสบความสำเร็จมาเป็นโครงการต้นแบบในการดำเนินการ โดยภาครัฐได้การสนับสนุนด้านเงินทุนและให้ความรู้ด้านการดูแลรักษาเครื่องจักร ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเครื่องเกี่ยวนวดข้าวในพื้นที่และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่ง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

แท็ก เกษตรกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ