สศก. เปิดผลศึกษาการจ้างแรงงานต่างด้าวใน 3 จ. ภาคกลาง ระบุมีแนวโน้มการจ้างที่ถูกกฎหมายมากขึ้น

ข่าวทั่วไป Tuesday March 13, 2012 15:19 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. ชูผลศึกษาแรงงานต่างด้าวในจังหวัดนครปฐม ชลบุรี และสมุทรปราการ เผย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายถึงร้อยละ 80และมีทิศทางการจ้างแบบถูกกฎหมายมากขึ้น เนื่องจากเกษตรกรและผู้ประกอบการในภาคเกษตรส่วนใหญ่ต้องการจ้างแรงงานแบบต่อเนื่อง จึงมีการปรับอัตราค่าจ้างและสวัสดิการให้เพื่อเป็นสิ่งจูงใจ ส่งผลให้ภาคเกษตรมีแรงงานเพื่อใช้ในการผลิตได้ในระยะยาวยิ่งขึ้น

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการศึกษาถึงแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรจังหวัดนครปฐม ชลบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร จึงพบว่ามีการขยายตัวของภาคธุรกิจ โรงแรม อุตสาหกรรมและบริการมาก ทำให้ขาดแคลนแรงงานไทยที่ทำงานในภาคเกษตร เนื่องจากทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวต่างเคลื่อนย้ายไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเส้นทางที่แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่เดินทางเข้ามาใน 3 จังหวัดดังกล่าว จะผ่านทางด่านจังหวัดสระแก้ว และตาก

จากการสำรวจ พบว่า แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในจังหวัดนครปฐมและสมุทรปราการเป็นแรงงานสัญชาติพม่ามากที่สุด ส่วนจังหวัดชลบุรีเป็นสัญชาติกัมพูชามากที่สุด ขณะที่กิจการในภาคเกษตรที่มีความต้องการใช้แรงงานต่างด้าวมาก ได้แก่ กิจการไม้ดอกไม้ประดับ (สวนกล้วยไม้) สวนยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ไร่อ้อย ฟาร์มสุกร แพปลาน้ำจืด ประมงทะเล และแปรรูปสินค้าเกษตร ซึ่งเกษตรกรและผู้ประกอบการในภาคเกษตรส่วนใหญ่จะจ้างแรงงานแบบถาวร ดังนั้น จึงต้องมีการจูงใจให้แรงงานต่างด้าวเพื่อทำงานในระยะยาว โดยการให้อัตราค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า 200 บาทต่อวัน ซึ่งเท่ากับแรงงานไทย รวมทั้งมีการจัดสวัสดิการต่างๆ อย่างหลากหลาย เช่น ที่พัก ค่ารักษาพยาบาล โบนัส ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้แรงงานต่างด้าวใน 3 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎหมายถึงร้อยละ 80 ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีจดทะเบียนต่ออายุใบอนุญาตทำงานหรือทำพาสปอร์ต โดยนับเป็น 3 จังหวัดในภาคกลางที่มีแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนขอใบอนุญาตทำงานติดอันดับ 10 จังหวัดมากที่สุดของประเทศ (อันดับจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวจดทะเบียนขอใบอนุญาตทำงาน ได้แก่ สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ภูเก็ต ตาก ระนอง สมุทรปราการ ชลบุรี นครปฐม และสงขลา ตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม พบว่า แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ มีความพึงพอใจการทำงานในประเทศไทย เนื่องจากสามารถส่งรายได้ให้ครอบครัวไปยังประเทศของตนได้เดือนละไม่ต่ำกว่าหมื่นบาท

เลขาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า การมีแรงงานต่างด้าวทดแทนแรงงานไทยใน 3 จังหวัดดังกล่าว นับว่าช่วยให้เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถทำการเกษตรต่อไปได้ ถึงแม้ว่าเกษตรกรและผู้ประกอบการมีความต้องการที่จะจ้างแรงงานไทยมากกว่า เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนและไม่มีปัญหาในการสื่อสาร อีกทั้งแรงงานไทยมีพื้นฐานการพัฒนาฝีมือแรงงานและการศึกษาที่ดีกว่า แต่เนื่องจากปัจจุบัน เกษตรกรมีแนวโน้มเข้าสู่วันสูงอายุมากขึ้น ไม่สามารถทำงานหนักๆ ได้ ทำให้ความต้องการแรงงานต่างด้าวมีแนวโน้มมากขึ้น และอาจจะขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในการทำการเกษตรในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะมีการใช้แรงงานต่างด้าวทดแทนแรงงานไทยมากขึ้นใน 3 จังหวัดนี้ และจะเป็นแรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น จึงนับว่าเป็นข้อดีต่อการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว และยังเป็นต้นแบบให้ผู้ประกอบการพิจารณาถึงอัตราค่าจ้างและสวัสดิการแก่แรงงานภาคเกษตรอย่างไม่แตกต่างกับนอกภาคเกษตร รวมทั้งให้การสนับสนุนในการจดทะเบียน ทำพาสปอร์ต และพิสูจน์สัญชาติ เพื่อจูงใจให้มีแรงงานต่างด้าวถูกต้องตามกฏหมายทำงานในภาคเกษตรมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจพบว่า นอกจากการจูงใจในเรื่องอัตราค่าจ้างและสวัสดิการแล้ว ทางเกษตรกรและผู้ประกอบการได้ให้ข้อเสนอว่า ควรมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนงานของแรงงานต่างด้าว ให้เหมาะสมไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาคเกษตร เช่น การออกกฎหมายให้แรงงานสามารถเปลี่ยนงานได้แต่ต้องอยู่ในภาคเกษตรเหมือนเดิม เป็นต้น และควรมีการสำรวจความต้องการแรงงานต่างด้าวเพื่อให้โควต้าตามจำนวนที่ขาดแคลนจริง รวมทั้งการพิสูจน์สัญชาติ และลดค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนและการทำพาสปอร์ต ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรมีแรงงานใช้ในกิจการผลิตและดำรงรักษาอาชีพทำการเกษตรในพื้นที่ดังกล่าวได้ต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ