สศก. แจงความก้าวหน้าการดำเนินงานการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนฯ ฉบับที่ 11 ระบุ ขณะนี้ ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์แล้ว โดยที่ประชุมมีมติให้ สศก. หารือร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อทบทวนและเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะประธานกรรมการเพื่อพิจารณา ก่อนนำเสนอ ครม. ต่อไป
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง ความก้าวหน้าการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 - 2559) ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้จัดทำขึ้นโดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติเศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. 2522 มาตรา 5 (1) ซึ่งได้กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่พิจารณากำหนดนโยบายการเกษตรและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยขณะนี้แผนพัฒนาการเกษตรดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์แล้ว ในคราวการประชุมครั้งที่ 3/2554 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2554 และครั้งที่ 4/2554 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2554 โดยที่ประชุมได้มีมติให้ สศก. หารือเพิ่มเติมกับผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อพิจารณาทบทวนตามข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุม แล้วเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานกรรมการเพื่อพิจารณา ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สำหรับการดำเนินการจัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนาการเกษตรฯ ดังกล่าว ของ สศก. นั้น ได้ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งภาคการเกษตรใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยมีแนวทางการดำเนินงานที่เน้นให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีความมั่นคงด้านอาหาร เป็นฐานสร้างรายได้ให้แผ่นดิน กำหนดเป้าหมายความผาสุกของเกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 80 ในปี 2559 เศรษฐกิจภาคเกษตรเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี และทรัพยากรการเกษตรมีความเหมาะสมต่อการผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ซึ่งดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตร ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 3 ด้าน คือ
1. พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร โดยการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เข้าสู่ภาคเกษตรทดแทนรุ่นเดิม ส่งเสริมให้องค์กรเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรมีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพและรายได้ สร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในด้านบัญชีต้นทุนอาชีพ และด้านวิทยาศาสตร์เข้าสู่ Smart Farmer สร้างขีดความสามารถให้กับเกษตรกรและชุมชน ในการรับมือกับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ สร้างความมั่นคง ปลอดภัย ด้านอาหารในครัวเรือนเกษตรในด้านการผลิตอาหารเพียงพอปลอดภัย
2. พัฒนา ขีดความสามารถในการผลิต การจัดการสินค้าเกษตร และความมั่นคงด้านอาหาร โดยการพัฒนาการผลิต และการสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นลดต้นทุนการผลิต และพัฒนาคุณภาพ ส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Product) เสริมสร้างการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นพืชอาหารและพลังงานให้เกิดความมั่นคง รวมทั้งสนับสนุนเพื่อจัดสรรผลผลิตพืชอาหารและพลังงานให้เพียงพอต่อการบริโภคและทดแทนพลังงาน สนับสนุนการพัฒนาระบบตลาดสินค้าเกษตร สร้างความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภูมิภาคและระหว่างประเทศ ส่งเสริม และพัฒนางานวิจัยด้านการเกษตร และ
3. พัฒนาทรัพยากรการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ สมดุลและยั่งยืน โดยการส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรการเกษตรและโครงสร้างพื้นฐานการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างเหมาะสมและยั่งยืน สนับสนุนและผลักดันให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร เตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและวางระบบการป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยธรรมชาติ รวมทั้ง พัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตราการจัดเก็บภาษี และค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมตามประเภทของธุรกิจต่อไปนที่เกี่ยวข้องจะต้องไปดำเนินการร่างกฎหมายรอง และพิจารณให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์
อย่างไรก็ตาม ซึ่งทุกภาคส่วนต้องมีบทบาทและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้แผนพัฒนาการเกษตรเกิดสัมฤทธิ์ผล และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างแผนพัฒนาการเกษตรฯ นโยบายรัฐบาล และแผนการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งแผนระดับอื่นๆ โดยมีทิศทางการพัฒนาที่ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรฯ ตลอดจนการติดตามประเมินผลแผน เพื่อติดตามความก้าวหน้า และประเมินผลสำเร็จและผลกระทบของการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--