เดินหน้าขับเคลื่อนนิคมการเกษตร ลุยเพิ่มอีก 3 แห่งในปี 56 ครบเป้าหมาย 20 นิคมตามแผนแม่บท

ข่าวทั่วไป Monday April 2, 2012 15:30 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. ร่วมขับเคลื่อนนิคมการเกษตร เผย ที่ประชุมคณะกรรมการติดตามสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการนิคมการเกษตร ลุยเพิ่มเป้าหมายแบบบูรณาการในปี 56 อีก 3 นิคม ตามแผนแม่บทนิคมการเกษตร ปี 2553 - 2557 ที่กำหนดไว้ คือ นิคมการเกษตรข้าวหอมมะลิ จ.ร้อยเอ็ด นิคมการเกษตรข้าวหอมมะลิ จ.อุบลราชธานี และนิคมการเกษตรข้าวหอมมะลิ จ.อำนาจเจริญ

นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์วิกฤติอาหารและพลังงานตั้งแต่ปี 2550 ประเทศไทยได้มีความตื่นตัวเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ปลูกพืชอาหารและพืชทดแทนพลังงานอย่างสมดุลเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานของประเทศในระยะยาว โดยรัฐบาลได้มีนโยบายกำหนดแนวทางการคุ้มครองและรักษาพื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรม และเพื่อให้เป็นฐานการผลิตทางการเกษตรในระยะยาว ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มีนโยบายมุ่งเน้นให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีอาหารบริโภคที่เพียงพอและปลอดภัยและการผลิตทางการเกษตรเป็นฐานในการสร้างงานให้ประเทศด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชทดแทน

ดังนั้น รัฐบาลจึงได้จัดตั้งนิคมการเกษตรพืชอาหารและพืชพลังงานทดแทน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนโครงการนิคมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยกำหนดพื้นที่นำร่องนิคมการเกษตรปี 2551 - 2552 จำนวน 17แห่ง มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในด้านจำนวนพื้นที่การผลิตและมูลค่าการจำหน่าย 5ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน ประกอบด้วยหน่วยงานหลัก คือ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมชลประทาน และกรมพัฒนาที่ดิน

การดำเนินงานในปี 2553 — 2554 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ดำเนินการประเมินผลโครงการนิคมการเกษตรนำร่อง จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ นิคมการเกษตรข้าว จังหวัดสุพรรณบุรี นิคมการเกษตรข้าว จังหวัดฉะเชิงเทรา นิคมการเกษตรข้าว จังหวัดร้อยเอ็ด นิคมการเกษตรข้าว จังหวัดนครศรีธรรมราช นิคมการเกษตรมันสำปะหลัง จังหวัดจันทบุรี นิคมการเกษตรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จังหวัดตาก และ นิคมการเกษตรปาล์มน้ำมัน จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเป็นการประเมินโครงการ 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ 1) ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2) ด้านการเพิ่มศักยภาพการผลิต 3) ด้านการพัฒนาเกษตรกรและการสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกร และ 4) ด้านการเพิ่มศักยภาพการแปรรูปและการตลาด โดยพบว่า นิคมการเกษตรทั้ง 7 แห่ง สามารถดำเนินการได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ แต่ควรต้องมีการขับเคลื่อนในการบูรณาการโครงการ เนื่องจากบางหน่วยงานไม่สามารถจัดสรรงบประมาณได้ตามแผนงานโครงการที่กำหนด สำหรับด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะเรื่องแหล่งน้ำ ควรส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับความรู้เทคนิควิธีการใหม่ๆ ยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จากการประชุมคณะกรรมการติดตามสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการนิคมการเกษตร

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 มีมติเห็นชอบให้เพิ่มเป้าหมายนิคมการเกษตรแบบบูรณาการในปี 2556 อีก 3 นิคม คือ นิคมการเกษตรข้าวหอมมะลิ จังหวัดร้อยเอ็ด นิคมการเกษตรข้าวหอมมะลิ จังหวัดอุบลราชธานี และนิคมการเกษตรข้าวหอมมะลิ จังหวัดอำนาจเจริญ รวมทั้งสิ้นเป็น 20 นิคม ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทนิคมการเกษตร ปี 2553 - 2557 ที่กำหนดไว้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


แท็ก ลุย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ