กองทุน FTA เร่งเครื่อง รับ AEC ปูทางช่วยเหลือเกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ข่าวทั่วไป Tuesday April 10, 2012 13:34 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. โดยกองทุน FTA เร่งเครื่องประชาสัมพันธ์ ช่วยเกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนการช่วยเหลือจากกองกองทุนฯ รองรับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AECในปี 58พร้อมเตรียมกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริม สนับสนุน สินค้าที่มีศักยภาพควบคู่ไปกับการเยียวยาสินค้าที่ได้รับผลกระทบ สร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกร

นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการกองทุน FTA : เสริมสร้างเกษตรกรไทยรับมือ AEC ว่า การจัดสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางการขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุน FTAกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในส่วนของภาคตะวันออก และช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อดำเนินการปรับโครงสร้างการผลิตปศุสัตว์ ประมง และสินค้าเกษตร เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด ปาล์มน้ำมัน มะพร้าวผล พริกไทย เพื่อรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าที่อาจส่งผลในอนาคต ซึ่งการรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อให้อาเซียนกลายเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานฝีมือได้อย่างเสรี มีมาตรฐานสินค้า กฎเกณฑ์ กฎระเบียบเดียวกัน โดยการรวมเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันของอาเซียน จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายการผลิตในภูมิภาค เสริมสร้างศักยภาพของอาเซียนในการเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก ซึ่งประเทศสมาชิกจะร่วมกันดำเนินมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอาเซียน และเมื่อมองถึงโอกาสของสินค้าเกษตรที่สำคัญในภาคตะวันออก เช่น ปศุสัตว์ ประมง และผลไม้ต่างๆ ที่มีอยู่หลากหลายชนิดก็จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยจำนวนมาก

และจากสถานการณ์ที่มีต่อตลาดสินค้าเกษตรในภาคตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้ต่างๆ นั้น จะเห็นได้ว่าเป็นผลด้านบวกมากกว่าด้านลบ เนื่องจากแนวโน้มการส่งออกผลไม้สดและผลไม้แปรรูปของประเทศไทยไปยังอาเซียนในปี 2551 คิดเป็นมูลค่า 4,796 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 5,727 ล้านบาท ในปี 2552 ในทางกลับกันประเทศไทยนำเข้าผลไม้จากอาเซียนในปี 2551 และ 2552 มีมูลค่ารวม 1,323 ล้านบาท และ 883 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งลดลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมกำหนดนโยบายในการส่งเสริม สนับสนุน สินค้าที่มีศักยภาพควบคู่ไปกับการเยียวยาสินค้าที่ได้รับผลกระทบ อาทิ การจัดทำยุทธศาสตร์ไม้ผล (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย ลิ้นจี่ )เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิตในประเทศ การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ การสร้างระบบมาตรฐานและตรวจสอบรับรองสินค้า นอกจากนี้ การจัดตั้งกองทุน FTA เพื่อสนับสนุนเงินปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าที่ได้รับผลกระทบก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่สามารถช่วยเหลือได้ รวมทั้งเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรไทยในภาคตะวันออกว่ารัฐบาลไม่ทอดทิ้งท่านอย่างแน่นอน

สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมา กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรฯ หรือ กองทุน FTAได้รับอนุมัติงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตั้งแต่ปี 2549 - 2554 จำนวน 544.80 ล้านบาท เป็นการอนุมัติเงินช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าทุกกรอบการค้า ในด้านพืช ได้แก่ โครงการปรับโครงสร้างสินค้าชา โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมัน โครงการปรับโครงสร้างสินค้ากาแฟแบบครบวงจร โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวและสร้างความเข้มแข็งให้ชาวนาเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน โครงการส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีทดแทนสวนเก่าเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า AFTA และโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีของสหกรณ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันข้าวไทยสู่สากล งบประมาณรวม 366.89 ล้านบาท ส่วนในด้าน ปศุสัตว์ ได้แก่ โครงการคัดเลือกพ่อพันธุ์กำแพงแสนเพื่อใช้ผลิตน้ำเชื้อ โครงการจัดตั้งตลาดกลางโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านโคเนื้อ โครงการลดต้นทุนและปรับปรุงประสิทธิภาพการเลี้ยงโคนมด้วยวิธีปฏิบัติได้และเห็นผลจริง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าโคนม และผลิตภัณฑ์นมของสหกรณ์โคนมบ้านบึง โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าสุกรของชุมนุมสหกรณ์การปศุสัตว์ภาคตะวันออก และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าสุกรของสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรอุตรดิตถ์ งบประมาณรวม 177.90 ล้านบาท

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ