ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ปศุสัตว์

ข่าวทั่วไป Tuesday August 21, 2012 14:18 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สุกร

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สัปดาห์นี้ภาวะตลาดสุกรเริ่มคึกคัก ราคาสุกรที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณสุกรส่วนเกินลดลงและเริ่มสอดคล้องกับความต้องการบริโภค แนวโน้มคาดว่าราคาจะสูงขึ้น ตามความต้องการบริโภคที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้เพราะใกล้เทศกาลสารทจีน

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

สุกรมีชีวิตพันธุ์ผสมน้ำหนัก 100 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 57.19 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 56.34 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.51 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 57.89 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 53.72 บาท ภาคกลาง กิโลกรัมละ 58.66 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 54.25 บาท ส่วนราคาลูกสุกรตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 1,500 บาท (บวกลบ 56 บาท) ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งสุกรมีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 59.50 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 57.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 3.48 และราคาขายส่งสุกรชำแหละ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 70.50 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 68.50 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 2.92

ไก่เนื้อ

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

สถานการณ์ตลาดไก่เนื้อ สัปดาห์นี้ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้ทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณการผลิตไก่เนื้อเพิ่มขึ้นไม่มากนักซึ่งสอดคล้องกับความต้องการบริโภค แนวโน้มคาดว่าการบริโภคไก่เนื้อจะเพิ่มขึ้นและราคาจะปรับตัวสูงขึ้น ในช่วงปลายเดือนนี้เพราะใกล้เทศกาลสารทจีน

จากการที่สหภาพยุโรปอนุญาตให้นำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2555 ในปริมาณ 92,610 ตันต่อปีนั้น ผู้ประกอบการส่งออกไก่สดของไทยยังคงต้องวางแผนรองรับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ เช่น ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นจากภาวะภัยแล้งทั่วโลก และปัญหาวิกฤติยูโรโซนที่ส่งผลกระทบให้ลูกค้าต่อรองราคาสินค้ามากขึ้น รวมทั้งการตรวจสอบคุณภาพไก่สดอย่างเข้มงวด ทั้งเชื้อไข้หวัดนก เชื้อไวรัส และมาตรฐานอื่นๆ ที่ทำทั้งต้นทางและปลายทางซึ่งใช้ระยะเวลากว่าครึ่งเดือน ทำให้ช่วงเดือนแรกของการส่งออกยังไม่สามารถส่งออกไก่สดตอบสนองต่อยอดสั่งซื้อนับหมื่นตันได้ อีกทั้งบราซิลที่กลายเป็นผู้ส่งออกไก่สดรายใหญ่หลังจากไทยประสบปัญหาไข้หวัดนกเป็นระยะเวลา 8 ปี ได้ใช้กลยุทธ์ลดราคาสินค้าไก่สดทุกรูปแบบ ทั้งแบบพื้นฐานและตกแต่งเพิ่มมูลค่า ถึงตันละ 6,000 บาท ทำให้ไทยจำเป็นต้องแข่งขันด้านคุณภาพเพื่อให้สามารถส่งออกได้ในระยะยาว

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ กิโลกรัมละ 41.36 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 41.31บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.12 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 36.00 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 44.34 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 40.51 บาท และภาคใต้กิโลกรัมละ 45.95 บาท ส่วนราคาลูกไก่เนื้อตามประกาศของบริษัท ซี.พี ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 12.50 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไก่มีชีวิตในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 35.00 บาท และราคาขายส่งไก่สดทั้งตัวรวมเครื่องใน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 46.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ไข่ไก่

สถานการณ์การผลิต การค้า และราคาในประเทศ

ในสัปดาห์นี้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงนี้มีฝนตกชุกในหลายพื้นที่ ส่งผลต่อสุขภาพแม่ไก่ไข่ ทำให้ผลผลิตไข่ไก่ออกสู่ตลาดลดลง แนวโน้มคาดว่าราคาจะทรงตัวหรือสูงขึ้นเล็กน้อย

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 258 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 255 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.35 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือร้อยฟองละ 254 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 283 บาท ภาคกลางร้อยฟอง 245 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 281 บาท ส่วนราคาลูกไก่ไข่ตามประกาศของบริษัท ซี.พี. ในสัปดาห์นี้ ตัวละ 6.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งไข่ไก่ (เฉลี่ยเบอร์ 0-4) ในตลาดกรุงเทพฯจากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 275 บาท สูงขึ้นจากร้อยฟองละ 265 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 2.77

ไข่เป็ด

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาไข่เป็ดที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศร้อยฟองละ 297 บาท ลดลงจากร้อยฟองละ 302 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 1.55 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ภาคเหนือร้อยฟองละ 296 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยฟองละ 303 บาท ภาคกลาง ร้อยฟองละ 290 บาท และภาคใต้ ร้อยฟองละ 307 บาท

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ จากกรมการค้าภายใน เฉลี่ยร้อยฟองละ 360 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

โคเนื้อ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคาโค (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 57.79 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 57.85 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.10 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 57.79 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 55.72 บาท ภาคกลางกิโลกรัมละ 60.83 บาท และภาคใต้ กิโลกรัมละ 60.46 บาท

กระบือ

ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ

ราคากระบือ (ขนาดกลาง) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 46.04 บาท บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 46.10 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา ร้อยละ 0.13 โดยแยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ กิโลกรัมละ 61.02 บาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กิโลกรัมละ 43.04 บาท ภาคกลางและภาคใต้ไม่มีรายงานราคา

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 13 - 19 สิงหาคม 2555--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ