สศข.8 เกาะติดสถานการณ์การผลิตกาแฟ 5 จังหวัดภาคใต้ตอนบน

ข่าวทั่วไป Thursday December 20, 2012 12:43 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศข.8 ติดตามสถานการณ์การผลิตกาแฟในพื้นที่จังหวัดรับผิดชอบ 5 จังหวัดภาคใต้ตอนบน (ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง นครศรีธรรมราช และกระบี่) เผย ทุกพื้นที่มีแนวโน้มพื้นที่ให้ผลและผลผลิตลดลง เหตุจากปัจจัยทางด้านราคารับซื้อ และสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ส่งผลเกษตรกรหันปลูกพืชอื่นทดแทน มีเพียงนครศรีธรรมราชที่ให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เหตุจากเกษตรกรมีการดูแลรักษาสวนกาแฟที่ยังไม่โค่นทิ้งให้อยู่ในสภาพดี

นายสมพงศ์ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 สุราษฎร์ธานี (สศข.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามสถานการณ์การผลิตกาแฟในพื้นที่จังหวัดรับผิดชอบ 5 จังหวัดภาคใต้ตอนบน (ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง นครศรีธรรมราช และกระบี่) ปี 2556 ซึ่งพบว่า สถานการณ์การผลิตกาแฟ ทุกพื้นที่ในภาคใต้ตอนบน มีแนวโน้มพื้นที่ให้ผลและผลผลิตลดลง เนื่องจากปัจจัยทางด้านราคา ณ จุดรับซื้อของเกษตรกรที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ คือ 65 - 68 บาทต่อกิโลกรัม ประกอบกับราคาปัจจัยการผลิตได้มีการปรับตัวสูงขึ้น และสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ รวมทั้งต้นกาแฟมีอายุมากขึ้น ทำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นทดแทน อีกทั้งเกษตรกรมีการโค่นต้นกาแฟที่ปลูกแซมในสวนผลไม้ทิ้งเนื่องจากผลไม้อยู่ในช่วงให้ผลผลิต และขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยว

สำหรับพันธุ์ที่ปลูกนั้น เกษตรส่วนใหญ่นิยมปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้า มีการเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนตุลาคม ถึงธันวาคม 2555 และผลผลิตออกมากช่วงเดือน พฤศจิกายน และธันวาคม 2555 โดยเมื่อสำรวจข้อมูลของแต่ละจังหวัด พบว่า จังหวัดชุมพร มีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่ตำบลเขาค่ายในพื้นที่อำเภอสวี และตำบลรับร่อในพื้นที่อำเภอท่าแซะ มีเนื้อที่ยืนต้นและเนื้อที่ให้ผลลดลง ประมาณร้อยละ 5 เนื่องจากปัจจัยทางด้านราคาและสภาพอากาศดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกษตรกรโค่นกาแฟทิ้ง และปรับเปลี่ยนพื้นที่มาปลูกทุเรียน ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า สำหรับผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก 141 กิโลกรัม/ไร่ เหลือ 135 กิโลกรัม/ไร่ หรือร้อยละ 4 ส่วนจังหวัดสุราษฏร์ธานี แหล่งผลิตสำคัญ ได้แก่ ตำบลคลองชะอุ่นในพื้นที่อำเภอพนม ตำบลเสด็จในพื้นที่อำเภอเคียนซา และตำบลประสงค์ในพื้นที่อำเภอท่าชนะ โดยเนื้อที่ยืนต้นและเนื้อที่ให้ผลลดลง ประมาณร้อยละ 27 ผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก 110 กิโลกรัม/ไร่ เหลือ 89 กิโลกรัม/ไร่ หรือประมาณร้อยละ 19

ด้านจังหวัดระนอง แหล่งผลิตสำคัญ ได้แก่ ตำบลในวงเหนือในพื้นที่อำเภอละอุ่น ตำบล จปร. ในพื้นที่อำเภอกระบุรี ตำบลลำเลียงในพื้นที่อำเภอกระบุรี และตำบลบ้านนาในพื้นที่อำเภอกะเปอร์ มีเนื้อที่ยืนต้นและเนื้อที่ให้ผลลดลง ประมาณร้อยละ 19 ผลผลิตต่อไร่ คาดว่าลดลง ประมาณร้อยละ 15 จาก 121 กิโลกรัม/ไร่ เหลือ 103 กิโลกรัม/ไร่ สำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราช แหล่งผลิตสำคัญ ได้แก่ ตำบลควนทองในพื้นที่อำเภอขนอม ตำบลสีขีดในพื้นที่อำเภอสิชล และตำบลบางขันในพื้นที่อำเภอบางขัน โดนเนื้อที่ยืนต้นและเนื้อที่ให้ผลลดลง ประมาณร้อยละ 80 โดยมีการเกษตรกรตัดต้นกาแฟที่ปลูกแซมในสวนผลไม้ ยางพารา และปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตแล้วทิ้ง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 21 จาก 112 กิโลกรัม/ไร่ เป็น 136 กิโลกรัม/ไร่ เนื่องจากเกษตรกรมีการดูแลรักษาสวนกาแฟที่ยังไม่โค่นทิ้งให้อยู่ในสภาพดี และจังหวัดกระบี่ แหล่งผลิตสำคัญ ได้แก่ ตำบลดินแดงในพื้นที่อำเภอลำทับ ตำบลคลองท่อมเหนือในพื้นที่อำเภอคลองท่อม และตำบลเขาเขนในพื้นที่อำเภอปลายพระยา เนื้อที่ยืนต้นและเนื้อที่ให้ผลลดลง ประมาณร้อยละ 15 ด้านผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง ประมาณร้อยละ 10 จาก 126 กิโลกรัม/ไร่ เหลือ 113.00 กิโลกรัม/ไร่ อย่างไรก็ตาม ในส่วนจังหวัดพังงามีพื้นที่เพาะปลูกเพียงเล็กน้อย เนื่องจากเกษตรกรหันไปปลูกปาล์มน้ำมัน และยางพาราแทนการปลูกกาแฟ ส่วนจังหวัดภูเก็ตนั้นไม่มีพื้นที่เพาะปลูกกาแฟ นายสมพงศ์กล่าวในที่สุด

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ