เกษตรฯ เยือนเวียดนาม หารือร่วมรูปแบบความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน เล็งปูแนวทางปรับใช้สินค้าเกษตรไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday January 2, 2013 14:38 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ไทยร่วมหารือกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนาม ปูแนวทางการดำเนินการตามรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้แนวคิดของ World Economic Forum หวังยกระดับคุณภาพสินค้า เดินหน้าเพิ่มรายได้เกษตรกร แนะปรับแนวทางประยุกต์ใช้กับสินค้าเกษตรไทยร่วมกับภาคเอกชนอย่างเหมาะสม
นายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการและรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการเดินทางไปสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ร่วมกับที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายอภิชาต พงษ์ศรีหดุลชัย) และคณะ เพื่อประชุมหารือกับกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนาม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ภาคเอกชน ตลอดจนเกษตรกร เพื่อหาแนวทางการดำเนินการตามรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ภายใต้แนวคิดของ World Economic Forum (WEF) ในการมุ่งเน้นการพัฒนาโดยคำนึงถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความร่วมมือในการประชุมหารืออย่างดียิ่งจากกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนาม การประชุมดังกล่าว ได้เน้นหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานทั้งภาคเอกชน ภาคเกษตรกรของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในเมืองฮานอย ดัคลัก และ โฮจิมินห์ซิตี้ เช่น กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรแห่งชาติ สถาบันนโยบายและยุทธศาสตร์การเกษตรและพัฒนาชนบท รวมทั้งมีการพบปะพูดคุยกับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟที่เข้าร่วมโครงการอีกด้วย ซึ่งพบว่า การดำเนินโครงการใน PPP Model ของเวียดนาม ได้ใช้กลไกการดำเนินงานหลายระดับ โดยในระดับสูงได้จัดตั้ง Task Force ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ในปัจจุบัน และการจัดตั้ง Working Group ในสินค้าที่ต้องการผลักดัน มีวัตถุประสงค์หลักที่แตกต่างกันในแต่ละสินค้า ทั้งการเพิ่มผลผลิตเฉลี่ย การเพิ่มปริมาณสินค้าที่ได้มาตรฐานส่งออก (ในสินค้าชา และกาแฟ) การยกระดับความปลอดภัยอาหารของสินค้าภายในประเทศ (ในสินค้าประมง) และการเพิ่มผลผลิตโดยรวม (สินค้ามันฝรั่ง ถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ซึ่งสถานะในภาพรวมอยู่ในระยะเริ่มต้น/การจัดทำแปลงสาธิต และการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชนยังจำกัดบทบาทสำคัญอยู่เพียงบริษัทข้ามชาติจำนวนหนึ่งเท่านั้น (เช่น Unilever Nestle และ YARA) ในขณะที่บริษัทท้องถิ่นของเวียดนามยังไม่สนใจที่จะเข้าร่วมโครงการในระยะนี้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีของสินค้ากาแฟ ได้เริ่มมีบริษัทท้องถิ่นรายย่อยพิจารณาเข้าร่วมโครงการด้วยแล้ว ทั้งนี้ เพื่อความความสามารถในการแข่งขันของตนเอง ในขณะที่การเข้าร่วมของภาครัฐยังเป็นการเน้นในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นหลัก

รองเลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าการดำเนินโครงการรูปแบบ PPP อาจจะมีประโยชน์หลากหลาย เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ ของภาคเอกชนให้แก่เกษตรกร การยกระดับคุณภาพสินค้าโดยการรับรอง โดยได้มาตรฐานระหว่างประเทศ การเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร (จากราคารับซื้อที่สูงขึ้น) ฯลฯ แต่ภาครัฐของเวียดนามเอง ก็ยังมีความกังวลในหลายประเด็น เช่น การขยายผลจากแปลงสาธิตไปสู่การดำเนินงานเต็มรูปแบบ ซึ่งอาจใช้งบประมาณมากและข้อจำกัดของผู้ประกอบการท้องถิ่นในการแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติ เป็นต้น ทั้งนี้ ประเทศไทยสามารถนำประสบการณ์ของเวียดนามมาถอดบทเรียน โดยอาจพิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามรูปแบบ PPP และเลือกรายการสินค้านำร่องมาพิจารณาร่วมกับภาคเอกชนของไทย ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทข้ามชาติก็ได้ เพื่อจะได้นำไปพิจารณาในคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ