ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวทั่วไป Wednesday April 3, 2013 11:20 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

  • โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2

1) ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2556 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน

2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 มีดังนี้

(1) ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 (42 กรัม)

                (2) ข้าวเปลือกเจ้า :-             ตันละ 16,000 บาท
                     ข้าวเปลือกเจ้า 100%          ตันละ 15,000 บาท
                     ข้าวเปลือกเจ้า 5%            ตันละ 14,800 บาท
                     ข้าวเปลือกเจ้า 10%           ตันละ 14,600 บาท
                     ข้าวเปลือกเจ้า 15%           ตันละ 14,200 บาท
                     ข้าวเปลือกเจ้า 25%           ตันละ 13,800 บาท

(3) ข้าวเปลือกเหนียว :-

                     ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (42 กรัม)          ตันละ 16,000 บาท
                     ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (40 กรัม)         ตันละ 15,000 บาท

ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้างต้นให้ปรับเพิ่ม-ลดตามจำนวนกรัม ในอัตรากรัมละ 200 บาท

3) เป้าหมายการรับจำนำ เนื่องจากผลผลิตได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปริมาณรับจำนำจึงกำหนด จำนวน 7.0 ล้านตัน จากที่ สศก.คาดการณ์ผลผลิตไว้ 9.167 ล้านตัน ส่วนปริมาณข้าวเปลือกที่เกษตรกรแต่ละรายจะจำนำได้ ต้องไม่เกินปีละ 2 ครั้ง/แปลง/ราย เกษตรกรสามารถปรับเพิ่มปริมาณรับจำนำได้อีกไม่เกิน ร้อยละ 20 โดยให้เกษตรกรรับรองว่าเป็นผลผลิตของตนเอง และให้คณะอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัด ตรวจสอบเกษตรกรทุกรายที่มีผลผลิตเกินกว่า ร้อยละ 20 รวมทั้งเกษตรกรที่มีวงเงินรับจำนำเกินกว่า 500,000 บาท/ราย/ครั้ง

ทั้งนี้ มีมติเห็นชอบ ไม่ให้เกษตรกรนำข้าวเปลือกที่มีอายุน้อยกว่า 110 วัน ที่มีคุณภาพต่ำ เข้าร่วมโครงการฯ โดยมอบหมายให้กรมการข้าวเป็นผู้รับผิดชอบกำหนดพันธุ์ข้าวว่า มีพันธุ์ใดบ้างที่ไม่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ

4) ระยะเวลาดำเนินการ

(1) ระยะเวลารับจำนำ 1 ตุลาคม 2555 — 15 กันยายน 2556

(2) ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ

(3) ระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม 2555 — 31 มกราคม 2557

5) ผลการดำเนินงาน

จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม — 25 มีนาคม 2556)

                             - จำนวนสัญญา              1,735,881    สัญญา
                             - จำนวนตัน               11,190,438      ตัน
                             - จำนวนเงิน             180,166.055  ล้านบาท
  • ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการชะลอการสั่งซื้อ ทำให้ปริมาณการซื้อขายข้าวมีไม่มาก

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,799 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,811 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.08

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,040 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,071 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.32

ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,645 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,526 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.95

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,350 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,201 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,879 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,203 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,059 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.17 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 180 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,008 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,274 บาท/ตัน)

ราคาลดลงจากตันละ 1,010 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,435 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.20 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 161 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 565 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,409 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 573 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,699 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.40 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 290 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 560 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,263 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 568 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,553 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.41 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 290 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 565 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,409 บาท/ตัน)

ราคาลดลงจากตันละ 566 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,495 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.18 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 86 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 29.0416 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

สมาคมอาหารของเวียดนาม (The VietNam Food Association; VFA) รายงานการส่งออกข้าวในช่วง 1 มกราคม — 21 มีนาคม 2556 เวียดนามส่งออกข้าวรวม 1.098 ล้านตัน มูลค่า 486.378 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7 และร้อยละ 10.2 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่ส่งออกได้ 887,768 ตัน มูลค่า 441.376 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สมาคมอาหารฯ ได้ยกเลิกการกำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำ (MEP) สำหรับข้าวขาว 5% แล้ว (เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ จากที่เคยกำหนดไว้ที่ 410 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน) เพื่อให้การส่งออกคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ส่วนข้าวชนิดอื่นๆ ให้ผู้ส่งออกพิจารณาตามความเหมาะสม ขณะที่วงการค้าข้าวคาดว่า ราคาข้าวมีแนวโน้มอ่อนตัวลง ส่งผลให้การส่งออกดีขึ้น

สถานการณ์ราคาข้าวแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ที่ฟิลิปปินส์จะกลับเข้าสู่ตลาดเพื่อซื้อข้าวอีกครั้งในไตรมาสที่ 2 โดยราคา เอฟ.โอ.บี. ข้าวขาว 5% อยู่ที่ 405-410 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (11,762 บาท/ตัน) ค่อนข้างทรงตัวจากระดับ 400-410 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (11,762 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อน ขณะที่ราคา เอฟ.โอ.บี ขาว 25% อยู่ที่ 380 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (11,036 บาท/ตัน) เพิ่มขึ้นจาก 370 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (10,745 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.70 ขณะที่ราคาข้าวของอินเดีย อยู่ในช่วง 390-450 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (12,197 บาท/ตัน)

ที่มา : Riceonline.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินโดนีเซีย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงรัฐวิสาหกิจ (State Owned Enterprises Minister) กล่าวว่า ในปีนี้ อินโดนีเซียอาจไม่ต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เนื่องจากคาดว่าเกษตรกรสามารถผลิตข้าวได้เพียงพอกับความต้องการในประเทศ ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2555 สต็อกข้าวในคลังขององค์การสำรองอาหารแห่งชาติ หรือ Bulog มีจำนวนสต็อกคงเหลือประมาณ 2.5 ล้านตัน และในปี 2556 คาดว่าจะสามารถจัดหาข้าวจากเกษตรกรได้อีกประมาณ 3.5 ล้านตัน ซึ่งหากเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ก็จะทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าข้าวในปีนี้ โดยในปี 2555 Bulog สามารถจัดหาข้าวได้ประมาณ 2.6 ล้านตัน

ผู้อำนวยการกรมการพัฒนาและการจัดการที่ดิน (Director of land development and management) ของกระทรวงเกษตร คาดว่าในปี 2556 ผลผลิตข้าวส่วนเกินของอินโดนีเซียจะมีจำนวน 8.1-8.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับปี 2555 พร้อมทั้งร้องขอให้ทาง Bulog หยุดนำเข้าข้าวจากต่างประเทศในปีนี้ และหันมาใช้วิธีการจัดหาข้าวจากเกษตรกรในประเทศเพื่อเก็บสต็อกแทนการนำเข้า

ที่ผ่านมาปี 2555 อินโดนีเซียมีผลผลิตข้าวส่วนเกินประมาณ 6.8 ล้านตัน และได้ตั้งเป้าว่าในปี 2557 จะมีผลผลิตส่วนเกินประมาณ 10 ล้านตัน เนื่องจากทางการได้มีการพัฒนาการใช้เทคนิคการผลิตข้าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งสภาพอากาศก็เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากกว่าปีก่อนๆ

ที่มา : Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

จีน

สำนักงานศุลกากรของจีน (Customs General Administration: CGA) รายงานว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2556 จีนนำเข้าข้าวแล้วประมาณ 424,400 ตัน เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 โดยในเดือนมกราคมมีการนำเข้าข้าวจำนวน 304,000 ตัน (เพิ่มขึ้นมากกว่า 7 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555) และในเดือนกุมภาพันธ์นำเข้าข้าวจำนวน 120,400 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555)

สำหรับการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกมีจำนวน 101,300 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 โดยในเดือนกุมภาพันธ์มีการส่งออกข้าวจำนวน 63,100 ตัน (เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555)

ที่มา : Riceonline.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

ปี 2556 วงการค้าคาดว่าอินเดียจะสามารถส่งออกข้าวจำนวน 10.5 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 เนื่องจากคาดว่าผลผลิตข้าวในปีการผลิตถัดไปที่จะเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2556 จะเพิ่มขึ้นเป็น 110 ล้านตัน เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก

คณะรัฐมนตรีของอินเดียได้ผ่านกฎหมายความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งมีแผนที่จะอุดหนุนราคาอาหารสำหรับประชากร 2 ใน 3 ของประเทศ โดยกำหนดให้อาหารเป็นสิทธิตามกฎหมายและจัดสรรเมล็ดพืชเพื่อการบริโภคจำนวน 5 กิโลกรัม ในอัตราคงที่ทุกเดือน ให้กับประชาชนที่มีฐานะยากจนประมาณ 800 ล้านคนทั่วประเทศ รวมทั้งตั้งเป้า

ให้การอุดหนุนราคาจำหน่ายพืชอาหาร ได้แก่ ข้าว ข้าวสาลี และข้าวฟ่าง ให้ขายได้ในราคากิโลกรัมละ 3 2 และ 1 รูปี ตามลำดับ (หรือประมาณ 1.50 บาท 1 บาท และ 50 สตางค์ ตามลำดับ) ให้กับประชากรประมาณ 3 ใน 4 ของประเทศ ซึ่งจะใช้งบประมาณของรัฐในการอุดหนุนราคา ประมาณปีละ 1.3 ล้านล้านรูปี (ประมาณ 650,000 ล้านบาท)

กฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการปรับแก้ไขกว่า 55 ครั้ง ตั้งแต่มีการเสนอร่างกฎหมายครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2554 และในช่วงเวลาเดียวกัน ยังมีการปฏิรูปกฎหมายโรงงานน้ำตาล เสนอให้ยุติกลไกการปล่อยและกระบวนการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นระบบ โดยกำหนดให้โรงงานน้ำตาลจำหน่ายผลผลิตร้อยละ 10 แก่ภาครัฐในราคาที่ต่ำเป็นพิเศษอีกด้วย

ที่มา : Riceonline.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 25 - 31 มีนาคม 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ