ผลกระทบการแข็งค่าของเงินบาทที่มีต่อการส่งออกสินค้าเกษตร

ข่าวทั่วไป Thursday April 25, 2013 14:29 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ดร.จารึก สิงหปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2555 และ ทวีความร้อนแรงมากขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 28.63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐนั้น (ณ วันที่ 22 เมษายน 2556) ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าและบริการ รวมถึงการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยด้วย ดังนั้น ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร จึงได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบจากการแข็งค่าเงินบาทต่อภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ และปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าประมง ผลไม้ ไก่เนื้อ ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลังเพื่อประเมินมูลค่าความเสียหายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556
          สำหรับผลการวิเคราะห์ พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่า      เงินบาทคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 7,694.28 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.28 ของมูลค่าความ          เสียหายรวมในกลุ่มการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ โดยสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง (เดกซ์ทรินและโมดิไฟด์สตาร์ช) และสินค้าประมง

ทั้งนี้ หากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จะส่งผลต่อปริมาณการส่งออก ผลไม้ ไก่เนื้อ และ มันสำปะหลัง (หัวมันสำปะหลังสดและแห้ง หรือ มันสำปะหลังอัดเม็ด) อย่างมีนัยสำคัญอีกเช่นกัน และผลการวิเคราะห์ในครั้งนี้ มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นร้อยละ 7.44 ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีอัตราลดลงร้อยละ 3.12 เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการส่งออกในช่วงไตรมาสเดียวกันของปี 2555

ผลกระทบจากการแข็งค่าเงินบาท เดือน ม.ค. — มี.ค. 2556

                    ช่วงเวลา          ร้อยละ          มูลค่าการส่งออก           ผลกระทบ
                                  ผลกระทบที่เกิดขึ้น      (ล้านบาท)              (ล้านบาท)
                    ไตรมาส 1         -4.28           179,772.92            7,694.28

สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากการแข็งค่าของเงินบาทต่อการส่งออกสินค้าเกษตรนั้น จากผลการวิเคราะห์เบื้องต้น ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายดังนี้

1. ภาครัฐ

1.1 ส่งเสริมการพัฒนาการผลิตและการบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม/การแปรรูปให้กับสินค้าเกษตร และลดต้นทุนการผลิต

1.2 เร่งรัดการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจที่เหมาะสมหรือจัดทำโซนนิ่งเกษตร โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของดิน ชนิดพืชที่ปลูก และความพร้อมของระบบชลประทาน เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการผลิตกับการตลาด รวมถึงพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์การเกษตรของประเทศเชื่อมโยงกับภูมิภาค

1.3 ส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคสินค้าเกษตรภายในประเทศเพื่อทดแทนการส่งออก รวมไปถึงสร้างความตระหนักในการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานรับรอง

2. ผู้ส่งออกควรพัฒนาคุณภาพสินค้า โดยสร้างแบรนด์สินค้า และความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว (Identity) ให้กับสินค้าเกษตรไทย รวมถึงยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มและเป็นที่ต้องการของตลาด

3. ภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ควรมีบทบาทร่วมกันในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการแข็งค่าของเงินบาท โดยแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดระดับผลกระทบในปัจจุบันคือ การขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ จากเดิมที่ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐ ซึ่งมีปริมาณความต้องการสินค้าเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่อง ควรส่งเสริมการทำตลาดใหม่ไปยังตลาดในกลุ่มภูมิภาคเดียวกันหรือในเขตตะวันออกกลาง เช่น สินค้าข้าว ควรเจาะตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียนหรือตะวันออกกลาง และสินค้ายางพารา ควรเน้นตลาดในเอเชีย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ