ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวทั่วไป Monday April 29, 2013 14:56 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

  • โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2

1) มติ ครม. วันที่ 31 มี.ค. 56 รับทราบกรอบ ชนิดปริมาณ ระยะเวลา วิธีการ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขโครงการจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 และอนุมัติกรอบวงเงินและแหล่งเงินทุนหมุนเวียนรับจำนำข้าวเปลือก จำนวน 7 ล้านตัน เป็นจำนวนเงิน 105,000 ล้านบาท

2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ครั้งที่ 2 ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ครั้งที่ 2 ณ ความชื้นไม่เกิน 15 % ดังนี้

(1) ข้าวเปลือกปทุมธานี (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

(2) ข้าวเปลือกเจ้า :-

ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท

(3) ข้าวเปลือกเหนียว :-

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว ตันละ 16,000 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น ตันละ 15,000 บาท

ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ข้างต้น ให้ปรับเพิ่ม — ลด ตามจำนวนกรัม ในอัตรากรัมละ 200 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม — ลด ตามจำนวนกรัม โดยเมล็ดยาว ในอัตรากรัมละ 160 บาท และเมล็ดสั้น ในอัตรากรัมละ 150 บาท

3) เป้าหมายการรับจำนำ เนื่องจากผลผลิตส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปริมาณรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 จึงกำหนดจำนวน 7 ล้านตัน จากที่ กษ.ประมาณการไว้เบื้องต้น จำนวน 9.167 ล้านตัน ส่วนปริมาณข้าวเปลือกที่เกษตรกรแต่ละรายจะจำนำได้ ต้องไม่เกินปีละ 2 ครั้ง/แปลง/ราย เกษตรกรสามารถปรับเพิ่มปริมาณรับจำนำได้อีกไม่เกิน 20% โดยให้เกษตรกรรับรองว่าเป็นผลผลิตของตนเอง และให้คณะอนุกรรมการระดับจังหวัด ตรวจสอบเกษตรกรทุกรายที่มีผลผลิตเกินกว่า 20% รวมทั้งเกษตรกรที่มีวงเงินรับจำนำเกินกว่า 500,000 บาท/ราย/ครั้ง

ทั้งนี้ในเรื่องของพันธุ์ข้าวที่รับจำนำ ไม่ให้เกษตรกรนำข้าวเปลือกที่มีอายุน้อยกว่า 110 วัน ที่มีคุณภาพต่ำเข้าร่วมโครงการ และพันธุ์ข้าวตามที่กรมการข้าว จะประกาศกำหนดไม่ให้เข้าร่วมโครงการ

4) ระยะเวลา

(1) ระยะเวลารับจำนำ 1 ก.พ. — 15 ก.ย. 56

(2) ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ

(3) ระยะเวลาโครงการ 1 ต.ค. 55 — 31 ม.ค. 57

5) ผลการดำเนินงาน

จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม — 22 เมษายน 2556)

                             - จำนวนสัญญา              1,413,240    สัญญา
                             - จำนวนตัน               12,932,668    ตัน
                             - จำนวนเงิน             208,215.952    ล้านบาท
  • ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการชะลอการสั่งซื้อ เนื่องจากตลาดปลายทางมีความต้องการข้าวลดลง ทำให้ปริมาณการซื้อขายข้าวมีไม่มาก

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,527 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,595 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.44

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,721 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,829 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.10

ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,545 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,105 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 4.27

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,310 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,300 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.07

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,255 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,831 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,247 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,709 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.64 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 122 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,024 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,236 บาท/ตัน)

ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,019 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,180 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.49 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 56 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 574 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,388 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 571 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,351 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.53 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 37 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 569 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,245 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 566 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,208 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.53 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 37 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 560 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,988 บาท/ตัน)

ราคาลดลงจากตันละ 564 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,151 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.71 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 163 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 28.5507 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

สมาคมอาหารของเวียดนาม รายงานการส่งออกข้าวช่วง วันที่ 1-18 เมษายน 2556 มีจำนวน 282,860 ตัน มูลค่า 118.896 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในช่วง 1 มกราคม—18 เมษายน 2556 เวียดนามส่งออกข้าวรวม 1.734 ล้านตัน มูลค่า 760.243 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 และร้อยละ 7.2 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่ส่งออกข้าวได้ 1.5 ล้านตัน มูลค่า 709.314 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สถานการณ์ราคาข้าวทรงตัว แม้ว่าเวียดนามจะชนะการประมูลข้าวของฟิลิปปินส์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ตาม แต่เนื่องจากข้าวล็อตดังกล่าวมีปริมาณไม่มากพอที่จะส่งผลต่อราคาในตลาด ขณะที่ความต้องการข้าวจากต่างประเทศยังมีไม่มากนัก จึงคาดว่าราคาข้าวยังคงมีแนวโน้มอ่อนตัวลง โดยราคา เอฟ.โอ.บี. ข้าวขาว 5% ตันละ 385 ดอลลาร์สหรัฐฯ (10,992 บาท/ตัน) ลดลงจากตันละ 385-400 ดอลลาร์สหรัฐฯ (11,240 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อน ร้อยละ1.91 ขณะที่ราคา เอฟ.โอ.บี. ข้าวขาว 25% ตันละ 360 ดอลลาร์สหรัฐฯ (10,278 บาท/ตัน) ลดลงจากตันละ 370 ดอลลาร์สหรัฐฯ (10,595 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อน ร้อยละ 2.70 ขณะที่ราคาข้าวของอินเดียและปากีสถาน มีราคาตันละ 435 และ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 12,420 บาท/ตัน และ 11,991 บาท/ตัน ตามลำดับ

เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา เวียดนามชนะการประมูลขายข้าวขาว 25% (G to G) ปริมาณ 187,000 ตัน

ในราคาตันละ 459.75 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่รัฐบาลฟิลิปปินส์ โดยจะมีการส่งมอบในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2556

ที่มา Riceonline.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ฟิลิปปินส์

สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ที่ตั้งอยู่ในฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า คณะนักวิจัยของทางสถาบันอยู่ระหว่างการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว ให้มีคุณสมบัติทนต่อความเค็มของดินให้ได้มากที่สุด ให้สมบูรณ์แบบที่สุด ก่อนที่จะนำไปทดลองปลูกจริง

IRRI ระบุว่า บรรดานักวิจัยหวังที่จะพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ เพื่อให้ชาวนานำไปปลูกได้จริงภายใน 4-5 ปีข้างหน้า โดยข้าวสายพันธุ์นี้ จะมีคุณสมบัติในการทนความเค็มเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า จากสายพันธุ์ที่เคยพัฒนามาก่อนหน้านี้ ซึ่งมีแนวโน้มว่า อินเดีย และบังคลาเทศ อาจจะเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากการพัฒนาดังกล่าว โดยในปัจจุบันนี้มีพื้นที่นาข้าวมากถึง 125 ล้านไร่ทั่วโลก ที่กำลังประสบปัญหาในเรื่องดินเค็ม

ข้าวสายพันธุ์ใหม่นี้ เป็นการพัฒนาพันธุ์ขึ้นมาจากการนำสายพันธุ์ข้าวป่าที่พบในพื้นที่น้ำกร่อย มาผสมกับพันธุ์ข้าวที่ปลูกภายในสถาบัน ซึ่งพันธุ์ข้าวที่ได้สามารถขจัดความเค็มของดินให้ระเหยไปในอากาศผ่านทางต่อมเกลือที่อยู่บริเวณใบข้าวได้

หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ข้าวพันธุ์นี้จะทำให้ชาวนาสามารถใช้ประโยชน์ในนาข้าวตามพื้นที่ชายฝั่งที่ปนเปื้อนด้วยน้ำเค็มได้ โดยที่ผ่านมาพื้นที่เพาะปลูกเหล่านี้มักถูกทิ้งร้าง เนื่องจากการกินพื้นที่เข้ามาของน้ำทะเลทำให้ดินบริเวณนี้เสื่อมสภาพ

ทั้งนี้ เหตุการณ์ต่างๆ อย่างเช่น สึนามิเมื่อปี 2554 ในญี่ปุ่น ที่ทำให้เกิดน้ำทะเลไหลเข้าท่วมนาข้าวหลายหมื่นไร่นั้น กลายมาเป็นแรงกระตุ้นให้ทั่วโลกหาทางพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ ที่สามารถเติบโตได้ดีในพื้นที่ลักษณะนี้

ที่มา Oryza.com, กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

สถานการณ์ราคาข้าวภายในของอินเดียยังคงปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาข้าวที่ประชาชนนิยมบริโภคในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 40-50 รูปีต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 750-925 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน (21,413-26,409 บาท/ตัน) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณร้อยละ 25-30 ขณะที่ข้อมูลของทางการอินเดียระบุว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 15 ซึ่งผู้ค้าข้าวในประเทศระบุว่าราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องมาจากรัฐบาลได้เพิ่มราคารับซื้อข้าวขั้นต่ำ (The minimum support price of rice) จากเกษตรกร ประมาณร้อยละ 16 อย่างไรก็ตาม คาดว่าสาเหตุหลักน่าจะมาจากการที่รัฐบาลได้ยกเลิกการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น

ที่มา Riceonline.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

จีน

          สำนักงานศุลกากรของจีน (Customs General Administration: CGA) รายงานว่า ปี 2556 ในช่วง 3 เดือนแรก (มกราคม-มีนาคม) จีนนำเข้าข้าวแล้วประมาณ 692,200 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 190 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีทีผ่านมา โดยในเดือนมกราคม มีการนำเข้าจำนวน 304,000 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 733 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา) เดือนกุมภาพันธ์ นำเข้าจำนวน 120,400 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีทีผ่านมา) และในเดือนมีนาคม นำเข้าจำนวน 267,900 ตัน            สำหรับการส่งออกในช่วง 3 เดือนแรก (มกราคม-มีนาคม) มีการส่งออกข้าวจำนวน 167,100 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 55 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีทีผ่านมา

ที่มา Riceonline.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

สหภาพยุโรป

รายงานจากคณะกรรมาธิการยุโรป (The European Commission) ระบุว่า ในปี 2556/57 สหภาพยุโรป (EU) คาดว่าจะมีการนำเข้าข้าวประมาณ 2,928,000 ตัน ลดลงประมาณร้อยละ 9 หรือ 306,000 ตัน จากตัวเลขประมาณการในปี 2555/56 ที่ 3,234,000 ตัน เนื่องจากคาดว่าพื้นที่เพาะปลูกข้าวพันธุ์จาปอนิก้า (japonica) จะลดลง

ทั้งนี้รายงานระบุว่า คาดการณ์ปริมาณผลผลิตข้าวทั้งพันธุ์อินดิก้า (Indica) และจาปอนิก้า (Japonica)

จะลดลงในปี 2556/57 ขณะที่ผลผลิตข้าวเมล็ดกลางในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป 28 ประเทศ จะลดลงประมาณ 2 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี โดยคณะกรรมาธิการยุโรป ประมาณการว่าผลผลิตข้าวเมล็ดกลางจะมีประมาณ 1.8 ล้านตันลดลงเกือบร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนผลผลิตข้าวเมล็ดยาวนั้นคาดว่าจะมีปริมาณ 1.1 ล้านตันลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ พื้นที่เพาะปลูกข้าวของสหภาพยุโรป (EU) คาดว่าจะลดลงประมาณร้อยละ 8 เหลือเพียงประมาณ 2.675 ล้านไร่

ที่มา Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

สหรัฐอเมริกา

ผลการตรวจสอบตัวอย่างข้าวเกี่ยวกับปริมาณสารตะกั่วในข้าวจากหลายประเทศรวมทั้งไทยที่นำเข้าไปยังสหรัฐฯ พบว่า ปริมาณสารตะกั่วในข้าวที่นำเข้าจากแทบทุกประเทศสูงเกินกว่าปริมาณที่แนะนำให้บริโภคในแต่ละวัน ซึ่งองค์การอาหารและยาของสหรัฐ (เอฟดีเอ) กำหนดไว้ และมีปริมาณสูงเกินกว่าระดับปลอดภัย ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบดังกล่าวถูกเผยแพร่ในการประชุมของสมาคมเคมีแห่งสหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ปัจจุบันสหรัฐฯ นำเข้าข้าวคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 7 ของปริมาณการบริโภคในประเทศ โดยประมาณร้อยละ 65 ของข้าวที่นำเข้าทั้งหมดมาจากภูฏาน อิตาลี จีน ไต้หวัน อินเดีย อิสราเอล สาธารณรัฐเช็ก และไทย

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมอนเมาธ์ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ได้ตรวจสอบโดยซื้อข้าวหลายยี่ห้อจากร้านค้าท้องถิ่น นำมาตรวจวัดปริมาณสารตะกั่วที่มีอยู่และเปรียบเทียบกับปริมาณที่แนะนำให้บริโภคในแต่ละวัน พบว่า ปริมาณสารตะกั่วที่พบมากกว่าปริมาณที่เอฟดีเอแนะนำ ซึ่งอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพคือ 10 เท่า ซึ่งเกณฑ์กำหนดตั้งแต่ 2 ถึง 12 เท่า ทั้งนี้ ปริมาณสูงสุดของตะกั่วตรวจพบในข้าวที่นำเข้าจากไต้หวันและจีน

คณะผู้วิจัยชี้ว่าปัจจัยสำคัญ คือ สภาพการเพาะปลูกข้าวซึ่งมักใช้ระบบชลประทานจึงทำให้ข้าวไวต่อสารพิษที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อม ประกอบกับอาหารในปัจจุบันที่นำเข้ามาจากทั่วโลกซึ่งมีการปนเปื้อนของสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน แต่ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานกลางด้านสิ่งแวดล้อมจึงทำให้ปัญหาดังกล่าวยังคงอยู่ โฆษกเอฟดีเอระบุว่า จะนำผลวิจัยใหม่นี้ไปประกอบการทบทวนระดับการปนเปื้อนในอาหารภายใต้คณะทำงาน (บีบีซี) ที่จัดตั้งขึ้น

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 22 - 28 เมษายน 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ