เกษตรฯ ร่วม FAO สร้างมาตรฐานชุดข้อมูลผ่านเว็บท่า พัฒนาเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตร

ข่าวทั่วไป Wednesday May 15, 2013 16:15 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เกษตรฯ ลงนามร่วม FAO มอบ สศก. หน่วยงานหลัก เดินหน้าในโครงการแบ่งเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับพืชหลัก มุ่งสร้างมาตรฐานชุดข้อมูลผ่านเว็บท่า พร้อมจัดตั้งจัดตั้งคณะกรรมการทั้งภายในและภายนอกกระทรวงเกษตรฯ เข้ากำกับดูแลโครงการ หวังส่งเสริมการวางแผนการใช้พื้นที่ดินอย่างเหมาะสม สร้างเสถียรภาพให้กับราคาสินค้าเกษตร

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ภายหลังร่วมพิธีลงนามเอกสารโครงการความร่วมมือทางวิชาการภายใต้กรอบความร่วมมือระดับประเทศ (Country Programming Framework: CPF) ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับ FAO วันที่ 15 พฤษภาคม 2556 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี ซึ่งการลงนามดังกล่าว Mr. Vili A. Fuavao, Deputy Regional Representative, FAO ประจำประเทศไทย ได้ลงนามใน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ TCP/THA/3403 “National Agro-economic Zoning for Major Crops in Thailand” ลงนามกับเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และโครงการ TCP/THA/3401 “Enhancement of Beef Productivity through Animal Identification and Traceability” ลงนามร่วมกับอธิบดีกรมปศุสัตว์ (นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ)

สำหรับโครงการ “National Agro-economic Zoning for Major Crops in Thailand” หรือ การแบ่งเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับพืชหลักในประเทศไทยที่ทาง สศก. ได้ร่วมลงนามนั้น ได้มุ่งสร้างมาตรฐานของชุดข้อมูลผ่านเว็บท่า (Web portal) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย พร้อมกับมีแลกเปลี่ยนและติดต่อระหว่างกันเพิ่มขึ้น และมุ่งหวังที่จะนำข้อมูลเหล่านี้นำมาใช้ในการแบ่งเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรหลักให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในการจัดทำการแบ่งเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรหลัก จะมีพิจารณาข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงความต้องการด้านอาหาร ด้านอาหารสัตว์ การส่งออกและพลังงานชีวภาพ รวมถึงมาตรการจูงใจด้านสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อให้ผลตอบแทนสูงสุดแก่เกษตรกรและรัฐบาลด้วย

อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของพืชเกษตรหลักของประเทศไทย ยังน้อยกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ สาเหตุหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้ที่ดิน วิธีการเพาะปลูกและเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมสำหรับพืชชนิดนั้นๆ ของเกษตรกร อีกทั้งการผันผวนของราคาสินค้า และปริมาณการผลผลิตที่ต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรไทยยังคงมีฐานะยากจน ขณะเดียวกัน ประเทศไทยแม้จะมีข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรดินและการใช้พื้นดินมีอยู่มาก แต่ยังมีการจัดชุดข้อมูลในรูปแบบที่แตกต่างกันและเข้าถึงได้ยาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดทำเว็บท่า เพื่อให้กระทรวงหรือองค์กรต่างๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลภาคการเกษตร รวมทั้งสามารถนำมาจัดทำการแบ่งเขตเกษตรเศรษฐกิจพืชหลักของประเทศไทยได้ง่ายขึ้น

ดังนั้น สศก. จึงได้ร่วมกับ FAO และหน่วยงานต่างๆ ของไทย จัดทำโครงการแบ่งเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับพืชหลัก ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมันและ กาแฟ ในประเทศขึ้น โดยจะมีการใช้รูปแบบมาตรฐานของชุดข้อมูลด้านทรัพยากรดินและการใช้พื้นที่ดินที่อยู่ในเว็บท่า มาช่วยในการจัดแบ่งเขตเกษตรเศรษฐกิจ โดยการจัดทำการแบ่งเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรหลัก จะพิจารณาข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงความต้องการด้านอาหาร ด้านอาหารสัตว์ การส่งออกและพลังงานชีวภาพ รวมถึงมาตรการจูงใจด้านสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อให้ผลตอบแทนสูงสุดแก่เกษตรกรและรัฐบาล

ในการนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จะมีการจ้างที่ปรึกษาชาวต่างชาติและ ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญชาวไทย รวมถึงมีการจัดตั้งจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการ (Project Steering Committee) ขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานภายนอก ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน หอการค้าไทย คณะกรรมการอุตสาหกรรมแห่งประเทศ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมด้วย โดยมีเลขาธิการ สศก. เป็นประธานคณะกรรมการ รองเลขาธิการ สศก. เป็นรองประธาน และผู้แทนจากศูนย์สารสนเทศการเกษตร สศก. เป็นเลขานุการของคณะกรรมการชุดดังกล่าว

ทั้งนี้ คาดว่า โครงการดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมการวางแผนการใช้พื้นที่ดินอย่างเหมาะสม รวมถึงการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังจะช่วยให้การจัดการด้านอุปสงค์ อุปทานสำหรับสินค้าเกษตรหลักที่เป็นพืชอาหารและไม่ใช่พืชอาหารมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มผลผลิต การช่วยรัฐบาลในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร และการสร้างเสถียรภาพให้กับราคาสินค้าเกษตรได้ เลขาธิการกล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ