สศก. แจงข้อมูล ลิ้นจี่ ลำไย ภาคเหนือ เผย อากาศแปรปรวนฉุดผลผลิตลด

ข่าวทั่วไป Wednesday May 22, 2013 13:50 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เปิดผลสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคเหนือ สศก. แจงลิ้นจี่ในแหล่งผลิตหลัก 4 จังหวัดภาคเหนือ มีปริมาณผลผลิต 47,920 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 16 เหตุจากสภาพอากาศหนาวเย็นไม่ต่อเนื่องในช่วงติดดอก ด้านผลผลิตลำไยในแหล่งผลิตหลัก 8 จังหวัด ให้ปริมาณผลผลิตรวมประมาณ 5.98 แสนตัน หรือลดลงร้อยละ 2 จากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง คาดผลผลิตลำไยในฤดูออกวางท้องตลาดกลางเดือนกรกฎาคมนี้

นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประมาณการผลผลิตลิ้นจี่ 4 จังหวัดภาคเหนือ และลำไยใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ปี 2556 ซึ่งพบว่า ลิ้นจี่ในแหล่งผลิตหลัก 4 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา เชียงใหม่ และน่าน มีปริมาณผลผลิต 47,920 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วประมาณ 9,600 ตัน หรือลดลงถึงร้อยละ 16 สาเหตุจากสภาพอากาศหนาวเย็นไม่ต่อเนื่องในช่วงติดดอก และบางพื้นที่มีฝนตกทำให้แตกใบอ่อนแทนการแทงช่อดอก ทำให้การออกดอกของลิ้นจี่ปีนี้กระปริดกระปรอย และล่าช้ากว่าปกติประมาณหนึ่งเดือน ส่วนคุณภาพลิ้นจี่ปีนี้ไม่ค่อยสู้ดีนัก จากสภาพอากาศร้อนและแล้งจัด ทำให้ลิ้นจี่มีเนื้อบาง ลูกเล็ก เมล็ดโต และสีผิวไม่เข้ม โดยในปีนี้จะได้เห็นลิ้นจี่ทยอยวางขายในท้องตลาดในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง มิถุนายน ซึ่งล่าช้ากว่าปกติเกือบเดือน

ส่วนผลผลิตลำไยในแหล่งผลิตหลัก 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ ตาก แพร่ และน่าน พบว่า จะมีปริมาณผลผลิตรวมประมาณ 5.98 แสนตัน ลดลงจากปีที่แล้ว 12,000 ตัน หรือลดลงร้อยละ 2 แบ่งเป็นผลผลิตลำไยในฤดู 4.73 แสนตัน ซึ่งจะเริ่มออกตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึง กันยายน และ นอกฤดู 1.25 แสนตัน โดยผลผลิตลำไยในฤดูปีนี้จะลดลงจากปีที่แล้วเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปีนี้ลำไยจะมีการติดดอกดีกว่าปีที่แล้วก็ตาม แต่จากสภาพอากาศแปรปรวน มีฝนตกในช่วงหน้าหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่ลำไยกำลังแทงช่อดอก ทำให้บางพื้นที่ลำไยแตกใบอ่อนแทนการแทงช่อดอก รวมทั้งเกิดพายุฤดูร้อนและมีลูกเห็บตกทำให้ดอกร่วง ประกอบกับขณะนี้ลำไยที่อยู่ในระยะผลเจริญเติบโต ต้องประสบภาวะอากาศร้อนและแล้งจัด ต้นลำไยบางส่วนที่สภาพต้นไม่สมบูรณ์มีการสลัดผลเล็กทิ้ง ดังนั้น จะต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ของลำไยในฤดูอย่างใกล้ชิด ซึ่งผลผลิตอาจลดลงอีกจากที่คาดการณ์ไว้ หากหลังจากช่วงกลางเดือนพฤษภาคมไปแล้วฝนยังไม่ตก อาจทำให้ผลลำไยที่กำลังสร้างเนื้อขาดน้ำอย่างรุนแรง ผลลำไยอาจหยุดชะงักการเติบโต บางส่วนอาจผลร่วงและผิวแตก ทั้งนี้ การเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย คาดว่าจะล่าช้ากว่าปีที่แล้วซึ่งเป็นผลมาจากการติดดอกของลำไยที่ล่าออกไป โดยผลผลิตลำไยในฤดูออกจะวางขายในท้องตลาดให้ได้ ลิ้มชิมรสกันในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ