ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวทั่วไป Tuesday May 28, 2013 17:17 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2

1) มติ ครม. วันที่ 31 มี.ค. 56 รับทราบกรอบ ชนิดปริมาณ ระยะเวลา วิธีการ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขโครงการจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 และอนุมัติกรอบวงเงินและแหล่งเงินทุนหมุนเวียนรับจำนำข้าวเปลือก จำนวน 7 ล้านตัน เป็นจำนวนเงิน 105,000 ล้านบาท

2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ครั้งที่ 2 ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ครั้งที่ 2 ณ ความชื้นไม่เกิน 15 % ดังนี้

(1) ข้าวเปลือกปทุมธานี (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

(2) ข้าวเปลือกเจ้า :-

ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท

(3) ข้าวเปลือกเหนียว :-

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว ตันละ 16,000 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น ตันละ 15,000 บาท

ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ข้างต้น ให้ปรับเพิ่ม — ลด ตามจำนวนกรัม ในอัตรากรัมละ 200 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม — ลด ตามจำนวนกรัม โดยเมล็ดยาว ในอัตรากรัมละ 160 บาท และเมล็ดสั้น ในอัตรากรัมละ 150 บาท

3) เป้าหมายการรับจำนำ เนื่องจากผลผลิตส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปริมาณรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 จึงกำหนดจำนวน 7 ล้านตัน จากที่ กษ.ประมาณการไว้เบื้องต้น จำนวน 9.167 ล้านตัน ส่วนปริมาณข้าวเปลือกที่เกษตรกรแต่ละรายจะจำนำได้ ต้องไม่เกินปีละ 2 ครั้ง/แปลง/ราย เกษตรกรสามารถปรับเพิ่มปริมาณรับจำนำได้อีกไม่เกิน 20% โดยให้เกษตรกรรับรองว่าเป็นผลผลิตของตนเอง และให้คณะอนุกรรมการระดับจังหวัด ตรวจสอบเกษตรกรทุกรายที่มีผลผลิตเกินกว่า 20% รวมทั้งเกษตรกรที่มีวงเงินรับจำนำเกินกว่า 500,000 บาท/ราย/ครั้ง

ทั้งนี้ในเรื่องของพันธุ์ข้าวที่รับจำนำ ไม่ให้เกษตรกรนำพันธุ์ข้าวเปลือกที่มีอายุน้อยกว่า 110 วัน ที่มีคุณภาพต่ำเข้าร่วมโครงการ และพันธุ์ข้าวตามที่กรมการข้าว จะประกาศกำหนดไม่ให้เข้าร่วมโครงการ

4) ระยะเวลา

(1) ระยะเวลารับจำนำ 1 ก.พ. — 15 ก.ย. 56

(2) ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ

(3) ระยะเวลาโครงการ 1 ต.ค. 55 — 31 ม.ค. 57

5) ผลการดำเนินงาน

จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม — 13 พฤษภาคม 2556)

                             - จำนวนสัญญา              1,413,717    สัญญา
                             - จำนวนตัน               15,437,705      ตัน
                             - จำนวนเงิน             248,547.058  ล้านบาท

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากบางพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวช่วงกระทบฝน ส่งผลให้ข้าวมีความชื้นสูง ประกอบกับผู้ประกอบการได้ชะลอการซื้อข้าว เนื่องจากตลาดปลายทางมีความต้องการข้าวลดลง

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,829 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,732 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.61

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,756 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,824 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.70

ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,785 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,439 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 4.87

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,350 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,221 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,098 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,214 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,758 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.58 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 340 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 991 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,298 บาท/ตัน)

ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 109 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 556 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,438 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน และสูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 61 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 550 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,260 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน และสูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 60 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 559 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,527 บาท/ตัน)

ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 62 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 29.5645 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

สมาคมอาหารของเวียดนาม (The Vietnam Food Association; VFA) รายงานการส่งออกข้าวช่วงวันที่

1-16 พฤษภาคม 2556 มีจำนวน 233,645 ตัน มูลค่า 95.756 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และร้อยละ 4 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่ส่งออกได้ 2.167 ล้านตัน มูลค่า 997.639 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในเดือนมีนาคม 2556 เวียดนามส่งออกข้าวได้จำนวน 706,626 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับจำนวน 598,479 ตัน ในช่วงเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา จำแนกเป็นข้าวขาว 5% จำนวน 369,726 ตัน ข้าวขาว 10% จำนวน 7,568 ตัน ข้าวขาว 15% จำนวน 170,006 ตัน ข้าวขาว 25% จำนวน 26,015 ตัน ปลายข้าว จำนวน 33,549 ตัน ข้าวเหนียว จำนวน 36,136 ตัน และข้าวหอม จำนวน 60,078 ตัน ส่วนที่เหลือเป็นข้าวชนิดอื่นๆ โดยตลาดหลัก ได้แก่ ตลาดเอเชีย จำนวน 471,446 ตัน ตลาดแอฟริกา จำนวน 123,354 ตัน ตลาดอเมริกา จำนวน 91,902 ตัน ส่วนที่เหลือเป็นตลาดอื่นๆ

รายงานระบุว่า ในปีนี้จีนจะเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม แต่ขณะเดียวกันตลาดจีนก็กำลังเป็นตลาดที่มีความเสี่ยงสูงมาก โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ จีนได้ทำสัญญาซื้อข้าวจากเวียดนามแล้วประมาณ 1.6 ล้านตัน แต่ปรากฏว่าได้มีการยกเลิกสัญญาไปแล้วกว่าร้อยละ 64 ทั้งนี้ มีตัวอย่างกรณีหนึ่ง คือ ลูกค้าชาวจีนได้ซื้อข้าวจำนวน 10,000 ตัน โดยจะชำระเงินหลังจากที่มีการส่งมอบสินค้าแล้ว ซึ่งปรากฏว่าหลังจากที่มีการส่งสินค้าไปยังท่าเรือที่ผู้ซื้อระบุไว้ ผู้ซื้อได้ร้องเรียนว่าข้าวมีคุณภาพไม่ตรงตามที่ตกลงไว้ ดังนั้น ผู้ส่งออกข้าวจึงต้องยอมลดราคาขายข้าวลงเพื่อให้ตนเสียหายน้อยที่สุด

นอกจาก นี้ผู้ส่งออกข้าวในเวียดนามได้ร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ซื้อจากจีน โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการซื้อข้าวเป็นจำนวนมากเพื่อให้ผู้ขายแข่งขันกันเสนอราคา การไม่รักษาสัญญาทางธุรกิจ รวมถึงวินัยหลังจากที่มีการส่งมอบสินค้าแล้ว โดยเมื่อมีการส่งมอบสินค้าแล้วจีนมักจะอ้างเหตุต่างๆนานาเพื่อให้ผู้ขายลดราคา ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากการทำการค้ากับจีน ทางการเวียดนามได้แนะนำให้ผู้ส่งออกข้าวเน้นไปทำตลาดแอฟริกา (ในช่วง 4 เดือนแรก เวียดนามส่งออกข้าวไปแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 22) รวมทั้งตลาดอเมริกากลางและอเมริกาใต้ด้วย

ที่มา : Riceonline.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

พม่า

สมาคมผู้ค้าข้าวของพม่า ระบุว่า พม่าจะจัดแสดงข้าวหลากหลายสายพันธุ์เป็นครั้งแรกในงานแสดงสินค้า

คุนหมิงเทรดแฟร์เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด โดยงานแสดงสินค้าคุนหมิงเทรดแฟร์ จัดขึ้นเป็นเวลา 5 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายนนี้ โดยจะจัดแสดงสินค้าโภคภัณฑ์หลากหลายชนิดที่นำเข้าและส่งออกจากจีนและพม่า

เจ้าหน้าที่จากสมาคม ระบุว่า ส่วนใหญ่ข้าวที่ส่งออกไปจีนเวลานี้เป็นข้าวคุณภาพมาตรฐาน คือ ข้าวขาว 25% แต่พม่าต้องการที่จะส่งออกข้าวที่มีคุณภาพสูงขึ้นซึ่งต้องเผชิญกับการแข่งขันจากเวียดนาม โดยกล่าวว่า “ปัจจุบันนี้ เวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในจีน ซึ่งข้าวของเวียดนามแม้จะดูดี แต่รสชาติดีไม่เท่าข้าวของพม่า นี่คือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากตลาด จึงพยายามที่จะส่งออกข้าวคุณภาพสูงขึ้น นอกเหนือไปจากข้าวที่ส่งออกอยู่ตอนนี้ คือ ข้าว 25%”

ทั้งนี้ พม่าได้เชิญชวนให้เกษตรกรส่งตัวอย่างข้าวของตัวเองมาให้สมาคมผู้ค้าข้าวพม่า เพื่อที่สมาคมฯ จะทำการรวบรวมและทำรายงานสายพันธุ์ข้าวจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

จีน

รายงานจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ (USDA) เปิดเผยว่า ปี 2556 จีนซึ่งเป็นผู้บริโภคข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก คาดว่าจะกลายเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่สุดของโลกเช่นกัน โดยการนำเข้าข้าวของจีนในปีนี้จะพุ่งสูงถึง 3 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 2.34 ล้านตัน ซึ่งหากตัวเลขประมาณการถูกต้อง จะถือว่าเป็นตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการนำเข้าข้าวของจีนเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 450,000 ตันต่อปี ในช่วง 5 ปี (สิ้นสุดเมื่อปี 2554) ส่งผลให้จีนแซงหน้าไนจีเรียขึ้นเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่สุดของโลกอีกด้วย

ด้านนักวิเคราะห์ กล่าวว่า จีนไม่เคยมีปัญหาเรื่องอุปทานข้าวขาดแคลน และตำหนิการคาดหมายตัวเลขนำเข้าข้าวที่พุ่งสูงนั้นไม่ตรงกับราคาระหว่างตลาดในประเทศและตลาดโลก

ทางด้าน China Daily ซึ่งเป็นสื่อของทางการจีนยังกล่าวถึงตัวเลขที่ไม่ตรงกันว่า เป็นผลมาจากราคาซื้อข้าวในระดับต่ำสุดของทางการจีนซึ่งมีเป้าหมายเพื่อดันราคาข้าวในประเทศให้สูงขึ้น หลังจากราคาตกต่ำในตลาดโลก เนื่องจากความต้องการที่อ่อนตัวลงและส่วนต่างของราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

สำหรับข้อมูลด้านการค้าของทางการจีน ระบุว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ จีนนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 192 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อยู่ที่ปริมาณ 690,000 ตัน เนื่องจากราคาข้าวไม่ตรงกัน ทำให้ข้าวที่นำเข้าได้รับความสนใจจากบริษัทในประเทศ

ในปี 2555 การผลิตข้าวของจีน พุ่งถึงระดับ 589 ล้านตัน โดยการเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 9 แล้ว

ที่มา : Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

กระทรวงเกษตรของอินเดียได้ส่งต่อเรื่องการปรับเพิ่มราคารับซื้อข้าวเปลือกขั้นต่ำให้รัฐบาลพิจารณาตามที่คณะกรรมการด้านต้นทุนและราคาสินค้าเกษตร (The Commission for Agriculture Costs and Prices CACP) เสนอให้รัฐบาลเพิ่มราคารับซื้อข้าวเปลือกขั้นต่ำ (The minimum support price MSP) ในปีการผลิต 2556/57 (ต.ค.-ก.ย.) ขึ้นอีกร้อยละ 5 จากปีการผลิตที่ผ่านมา โดยข้าวเกรดธรรมดาให้ราคาเพิ่มขึ้นจาก 1,250 รูปีต่อ100 ก.ก. เป็น 1,310 รูปีต่อ100 ก.ก. (ประมาณ 240 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือ 7,095 บาทต่อตัน) และ ข้าวเกรด A ให้เพิ่มจาก 1,280 รูปีต่อ 100 ก.ก. เป็น 1,340 รูปีต่อ100 ก.ก. (ประมาณ 246 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หรือ 7,273 บาทต่อตัน)

ที่มา : Riceonline.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 20 - 26 พฤษภาคม 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ