สศก. วิเคราะห์ต้นทุนปศุสัตว์ไตรมาสแรก เผย ค่าแรงในการเลี้ยงดันต้นทุนการผลิตเพิ่ม

ข่าวทั่วไป Thursday June 6, 2013 14:45 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. วิเคราะห์ต้นทุนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ในไตรมาสแรกของปี 56 ระบุ ปัจจัยค่าแรงในการเลี้ยง ผลักดันต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นในสินค้าปศุสัตว์ทุกชนิดเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส4 ปี 55 ส่วนค่าอาหารสัตว์กระทบต่อต้นทุนการผลิตไม่มากนัก ด้านภาครัฐ เดินหน้าทีมจัดทำมาตรการลดต้นทุนการผลิตปศุสัตว์ ลุยจัดทำโซนนิ่ง พร้อมวางมาตรการและแผนโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาด้านต้นทุนการผลิตแล้ว

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ในไตรมาสแรกของปี 2556 พบว่า ต้นทุนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ในไตรมาสแรกของปี 2556 ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 โดยมีปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นทุนปรับตัวสูงขึ้นคือ ค่าแรงงานในการเลี้ยง ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นในสินค้าปศุสัตว์ทุกตัวที่ทำการวิเคราะห์ระหว่างร้อยละ 2.13 - 41.18 ของค่าแรงในไตรมาสสุดท้ายปี 2555 โดยต้นทุนไข่ไก่ปรับตัวสูงขึ้นที่สุดคือ ร้อยละ 41 รองลงมา ได้แก่ น้ำนมดิบ ร้อยละ 23 สุกรร้อยละ 19.48 และไก่เนื้อร้อยละ 2.13 ของค่าแรงไตรมาสสุดท้ายปี 2555

    ค่าแรงในการเลี้ยง      ไตรมาส 4 ปี 2555     ไตรมาส 1 ปี 2556      อัตราการเปลี่ยนแปลง(%)
    ไข่ไก่ (บาท/ฟอง)           0.051               0.072                 41.18
    น้ำนมดิบ (บาท/กก.)          1.86                2.28                 22.58
    สุกร (บาท/กก.)             0.77                0.92                 19.48
    ไก่เนื้อ (บาท/ตัว)            1.41                1.44                  2.13

อย่างไรก็ตาม พบว่า ค่าอาหารสัตว์ กระทบต่อต้นทุนการผลิตไม่มากนัก เนื่องจากวัตถุดิบอาหารสัตว์หลัก เช่น รำข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง มันสำปะหลัง เป็นต้น มีการปรับขึ้นและลดลงตามสถานการณ์ตลาด ทั้งนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำมาตรการลดต้นทุนการผลิตปศุสัตว์แล้ว เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาด้านต้นทุนการผลิต โดยให้คณะทำงานฯ เร่งดำเนินการทำ Zoning พื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงสัตว์ ทำการวิจัยเพื่อศึกษาการเลี้ยงโคนมเพศผู้เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อโคสำหรับบริโภคในประเทศ ส่งเสริมเผยแพร่การทำก๊าซชีวภาพจากของเสียจากการเลี้ยงสัตว์ เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน และเผยแพร่องค์ความรู้จากการปฏิบัติจริงทั้งของภาครัฐและเกษตรกรที่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ซึ่งขณะนี้คณะทำงานฯ ได้นำเสนอโครงการทำก๊าซชีวภาพจากของเสียจากการเลี้ยงสัตว์ เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน และโครงการเลี้ยงโคนมเพศผู้เพื่อทดแทนการขาดแคลนเนื้อโค

เสนอคณะกรรมการจัดทำมาตรการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรแล้ว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


แท็ก ลุย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ