ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวทั่วไป Tuesday June 18, 2013 14:48 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2

1) มติ ครม. วันที่ 31 มี.ค. 56 รับทราบกรอบ ชนิดปริมาณ ระยะเวลา วิธีการ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขโครงการจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 และอนุมัติกรอบวงเงินและแหล่งเงินทุนหมุนเวียนรับจำนำข้าวเปลือก จำนวน 7 ล้านตัน เป็นจำนวนเงิน 105,000 ล้านบาท

2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ครั้งที่ 2 ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ครั้งที่ 2 ณ ความชื้นไม่เกิน 15 % ดังนี้

(1) ข้าวเปลือกปทุมธานี (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

(2) ข้าวเปลือกเจ้า :-

ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท

(3) ข้าวเปลือกเหนียว :-

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว ตันละ 16,000 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น ตันละ 15,000 บาท

ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ข้างต้น ให้ปรับเพิ่ม — ลด ตามจำนวนกรัม ในอัตรากรัมละ 200 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม — ลด ตามจำนวนกรัม โดยเมล็ดยาว ในอัตรากรัมละ 160 บาท และเมล็ดสั้น ในอัตรากรัมละ 150 บาท

3) เป้าหมายการรับจำนำ เนื่องจากผลผลิตส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปริมาณรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 จึงกำหนดจำนวน 7 ล้านตัน จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประมาณการไว้เบื้องต้น จำนวน 9.167 ล้านตัน ส่วนปริมาณข้าวเปลือกที่เกษตรกรแต่ละรายจะจำนำได้ ต้องไม่เกินปีละ 2 ครั้ง/แปลง/ราย กรณีที่เกษตรกรนำข้าวเปลือกมาเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 สูงกว่าปริมาณผลผลิตรวมที่ระบุในหนังสือรับรองหลังจากปรับเพิ่มอีกร้อยละ 20 (ความชื้น 15%) ของปริมาณผลผลิตตามที่ระบุในหนังสือรับรองแล้ว เกษตรกรจะต้องรับรองว่าข้าวเปลือกทั้งหมดเป็นของเกษตรกรเอง และให้คณะอนุกรรมการระดับจังหวัด ตรวจสอบเกษตรกรที่มีผลผลิตเกินกว่า 20% ทุกราย รวมทั้งตรวจสอบเกษตรกรที่มีวงเงินรับจำนำข้าวเปลือกที่เกินกว่า 500,000 บาท/ราย/ครั้ง ด้วย ตลอดจนให้คณะทำงานทำการสุ่มตรวจสอบด้วย

ทั้งนี้ในเรื่องของพันธุ์ข้าวที่รับจำนำ ไม่ให้เกษตรกรนำข้าวเปลือกที่ปลูกจากพันธุ์ที่มีอายุน้อยกว่า 110 วัน ที่มีคุณภาพต่ำเข้าร่วมโครงการ ตามที่กรมการข้าวจะประกาศกำหนดรายชื่อพันธุ์ข้าวไม่ให้เข้าร่วมโครงการ

4) ระยะเวลา

(1) ระยะเวลารับจำนำ 1 ก.พ. — 15 ก.ย. 56

(2) ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ

(3) ระยะเวลาโครงการ 1 ต.ค. 55 — 31 ม.ค. 57

5) ผลการดำเนินงาน

จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม — 6 มิถุนายน 2556)

                             - จำนวนสัญญา              2,435,535    สัญญา
                             - จำนวนตัน               18,493,584      ตัน
                             - จำนวนเงิน             285,508.987  ล้านบาท

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากช่วงนี้ปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับเกษตรกรนำข้าวเข้าร่วมโครงการกับทางรัฐบาล

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,912 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,907 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.03

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,020 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,048 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.28

ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,920 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,889 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.24

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,350 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,180 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,125 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,204 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,330 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.99 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 205 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 950 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,083 บาท/ตัน)

ราคาลดลงจากตันละ 968 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,209 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.86 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 126 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 532 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,287 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 542 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,355 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.84 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 68 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 527 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,134 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 537 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,204 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.86 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 70 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 548 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,777 บาท/ตัน) ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 545 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,445 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.55 และเพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 332 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.6141 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนผลผลิตข้าวโลกปี 2556/57 ประจำเดือนมิถุนายน 2556 ว่าจะมี 479.162 ล้านตันข้าวสาร (714.6 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจาก 470.219 ล้านตันข้าวสาร (701.1 ล้านตันข้าวเปลือก) ของปี 2555/56 ร้อยละ 1.90

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนบัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2555/56 ณ เดือนมิถุนายน 2556 ว่าผลผลิต ปี2555/56 จะมี 479.162 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.90 การใช้ในประเทศจะมี 476.320 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.38 การส่งออก/นำเข้าจะมี 38.137 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.20 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 108.618 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.03

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย กัมพูชา กายานา รัสเซีย เวียดนาม และไทย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ บังคลาเทศ คาเมรูน กานา มาเลเซีย เม็กซิโก โมแซมบิค ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรส เยเมน และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บราซิล ไอเวอรี่โคสต์ คิวบา ฮ่องกง อิหร่าน ไนจีเรีย และฟิลิปปินส์

ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินเดีย และญี่ปุ่น ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

สมาคมอาหารของเวียดนาม (The Vietnam Food Association; VFA) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนปีนี้ เวียดนามส่งออกข้าวได้จำนวน 70,516 ตัน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 30.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ทางสมาคมฯยังระบุว่า ช่วงนี้ราคาส่งออกเฉลี่ยข้าวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยราคาส่งออก ณ สัปดาห์ที่แล้ว อยู่ที่ตันละ 435 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเปรียบเทียบกับราคาเฉลี่ยของเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

อุปทานที่เพิ่มสูงขึ้นและอุปสงค์ที่ลดน้อยลงในตลาดต่างประเทศเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาส่งออกข้าวลดลง ซึ่งรัฐบาลดำเนินการในหลายมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหานี้ เช่น มาตรการลดราคาส่งออกขั้นต่ำ (minimum export prices) และมาตรการสำรองข้าวจำนวน 1 ล้านตัน ภายใต้โครงการสำรองข้าวของรัฐบาล (rice reserve program)

ที่มา : Oryza.com

อินเดีย

หนังสือพิมพ์ในเมืองนิวเดลีได้เสนอผลจากการรายงานของ USDA ว่า ในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมปีนี้ อินเดียส่งออกข้าวได้ประมาณ 4.05 ล้านตัน ลดลงจาก 4.67 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยประเทศอิหร่านเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่จากอินเดีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวบามาสติและข้าวขาวเมล็ดยาว

สื่อดังกล่าวได้คาดการณ์ว่า การส่งออกข้าวในปีนี้จะอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากมีการยกเลิกมาตรการกีดกันการส่งออก และสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต โดยคาดว่าจำนวนผลผลิตในปีการผลิต 2556 จะมีปริมาณประมาณ 9 ล้านตัน ซึ่งลดลงจาก 10.4 ล้านตัน หรือลดลงประมาณร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่เป็นปริมาณผลผลิตที่สูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ในประวัติการณ์ สื่อดังกล่าวยังระบุว่า การอ่อนตัวของค่าเงินรูปีเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะกระตุ้นการส่งออกข้าวของอินเดีย

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรเปิดเผยว่า พื้นที่ปลูกข้าวในช่วงฤดูมรสุม (Kharif season) ได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 353,000 เฮคเตอร์ในสัปดาห์ที่แล้ว เป็น 523,000 เฮคเตอร์ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 48 โดยปัจจุบันอินเดียมีพื้นที่ปลูกข้าวและพืชชนิดอื่นๆในฤดูมรสุมรวมทั้งหมด 6.7 ล้านเฮคเตอร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากพื้นที่ทั้งหมด 6.4 ล้านเฮคเตอร์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ที่มา : Oryza.com

ฟิลิปปินส์

สำนักวิจัยสถิติการเกษตร ประเทศฟิลิปปินส์ (Bureau of Agricultural Statistics: BAS) เปิดเผยว่า สต็อกข้าวของฟิลิปปินส์ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 มีจำนวนประมาณ 2.61 ล้านตัน ลดลงประมาณ 6 ล้านตัน หรือร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

โดยเมื่อพิจารณาสถิติรายปีแล้วนั้น สต็อกข้าวขององค์การอาหารแห่งชาติ (National Food Authority: NFA) ลดลงร้อยละ 11.4 จากเดิมที่มีจำนวน 690,000 ตัน ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2555 ลดลงเหลือ 610,000 ตัน ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 อย่างไรก็ตาม สต็อกในภาคครัวเรือน (household stocks) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 จากปีที่ผ่านมา ขณะที่สต็อกในภาคเอกชนมีจำนวนประมาณ 800,000 ตัน ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

สำหรับสถิติรายเดือน สต็อกข้าวรวมทั้งประเทศในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 12.3 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายนในปีเดียวกัน โดยจำแนกเป็น สต็อกในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 สต็อกในภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 และสต็อกขององค์การอาหารแห่งชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7

อนึ่ง สำนักวิจัยสถิติการเกษตร ระบุว่า สต็อกข้าวของฟิลิปปินส์ ณ วันที่ 1 พฤษภาคมนั้นเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ 77 วัน หรือจนถึงช่วงกลางเดือนกรกฎาคมปีนี้ โดยในจำนวนนี้จำแนกเป็นสต็อกในภาคครัวเรือน 35 วัน สต็อกในภาคเอกชน 24 วัน และสต็อกขององค์การอาหารแห่งชาติ 18 วัน ซึ่งปกติแล้วฤดูกาลที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยจะเริ่มในเดือนมิถุนายนของทุกปี

ที่มา : Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 10 - 16 มิถุนายน 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ