ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวทั่วไป Monday June 24, 2013 14:45 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2

มติ ครม. เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2556 รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ครั้งที่ 5/2556 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556 ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 สอดรับกับมติ ครม.ที่กำหนดปริมาณการรับจำนำรวมไม่เกิน 22.0 ล้านตัน และกรอบวงเงินที่ใช้ในการรับจำนำไม่เกิน 345,000 ล้านบาท และกำหนดวงเงินดำเนินการสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 ต้องไม่เกิน 500,000 ล้านบาท (เป็นวงเงินกู้ จำนวน 410,000 ล้านบาท และเงินทุนของ ธ.ก.ส. จำนวน 90,000 บาท) จึงจำเป็นต้องปรับราคารับจำนำ วงเงินรับจำนำของเกษตรกรแต่ละครัวเรือน รวมทั้งการกำกับดูแลโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ดังนี้

1) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ณ ความชื้นไม่เกิน 15% โดยมีระยะเวลาเริ่มดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2556 ถึง วันที่ 15 กันยายน 2556 ดังนี้

          (1) ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 (42 กรัม)        ตันละ 12,800 บาท

(2) ข้าวเปลือกเจ้า :-

          ข้าวเปลือกเจ้า 100%                     ตันละ 12,000 บาท
          ข้าวเปลือกเจ้า 5%                       ตันละ 11,840 บาท
          ข้าวเปลือกเจ้า 10%                      ตันละ 11,680 บาท
          ข้าวเปลือกเจ้า 15%                      ตันละ 11,360 บาท
          ข้าวเปลือกเจ้า 25%                      ตันละ 11,040 บาท

(3) ข้าวเปลือกเหนียว :-

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 12,800 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 12,000 บาท

ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ข้างต้น ให้ปรับเพิ่ม — ลด ตามจำนวนกรัม

ในอัตรากรัมละ 160 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม — ลด ตามจำนวนกรัม โดยเมล็ดยาว

ในอัตรากรัมละ 130 บาท และเมล็ดสั้น ในอัตรากรัมละ 120 บาท

2) จำกัดวงเงินรับจำนำข้าวของเกษตรกรแต่ละครัวเรือน จากเดิมที่ไม่จำกัดวงเงิน เป็นไม่เกินครัวเรือนละ 500,000 บาท โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป และมอบหมายให้

องค์การคลังสินค้า และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ออกใบประทวนให้แก่เกษตรกร โดยใช้ราคารับจำนำและเงื่อนไข

ในการรับจำนำที่ปรับใหม่ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป

3) ระยะเวลา

(1) ระยะเวลารับจำนำ 1 ก.พ. — 15 ก.ย. 56

(2) ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ

(3) ระยะเวลาโครงการ 1 ต.ค. 55 — 31 ม.ค. 57

4) ผลการดำเนินงาน

จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม — 6 มิถุนายน 2556)

                             - จำนวนสัญญา              2,435,535    สัญญา
                             - จำนวนตัน               18,493,584      ตัน
                             - จำนวนเงิน             285,508.987  ล้านบาท

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากในระยะนี้บางพื้นที่ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวกระทบฝน ส่งผลให้ข้าวเปลือกมีความชื้น

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,791 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,912 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.76

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,868 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,020 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.51

ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,955 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,920 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.27

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,350 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,195 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,480 บาท/ตัน) ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 1,180 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,125 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.27 และเพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 355 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 946 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,879 บาท/ตัน)

ราคาลดลงจากตันละ 950 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,083 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.42 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 204 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 539 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,454 บาท/ตัน) ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 532 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,287 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.32 และเพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 167 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 534 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,302 บาท/ตัน) ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 527 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,134 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.33 และเพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 168 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 559 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,065 บาท/ตัน)

ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 548 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,777 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.01 และเพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 288 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.5275 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

เวียดนามได้วางแผนที่จะสต็อกข้าวไว้จำนวน 1 ล้านตันในสัปดาห์นี้ เพื่อพยุงราคาข้าวที่ตกต่ำ เนื่องจากปริมาณผลผลิตและการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดส่งออก นอกจากนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน สำหรับผู้ประกอบการที่ซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในราคากิโลกรัมละ 4,142 ดอง (หรือประมาณตันละ 200 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณตันละ 6,105 บาท) ซึ่งเป็นราคาที่กำหนดโดยกระทรวงการคลัง และเป็นราคาที่รัฐบาลได้ทำสัญญาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวได้ทั้งหมด 2.8 ล้านตัน และหากเวียดนามสามารถคงปริมาณการส่งออกข้าวได้จนถึงสิ้นปี จะทำให้เวียดนามส่งออกข้าวได้รวมทั้งสิ้น 7 ล้านตัน ขณะที่รัฐบาลตั้งเป้าส่งออกข้าวในปีนี้ไว้ที่ประมาณ 8 ล้านตัน

ทั้งนี้ เวียดนามได้ทำการปรับลดราคาส่งออกข้าวไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันทั้งไทยและอินเดีย รวมถึงกัมพูชาและพม่าที่ปัจจุบันกำลังขยายปริมาณการส่งออก

ที่มา : Oryza.com

อินเดีย

รัฐมนตรีกระทรวงอาหารของอินเดีย เปิดเผยว่า อินเดียมีแผนที่จะระบายข้าวและข้าวสาลีออกจากคลังรัฐบาล เพื่อให้ราคาขายในประเทศปรับตัวลดลง โดยกำหนดระบายข้าวสาลี จำนวน 10 ล้านตัน ผ่านตลาดของเอกชน ส่วนข้าวและข้าวสาลี จำนวน 7.5 ล้านตัน ผ่านร้านค้าของรัฐบาล

ช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อินเดียมีข้าวและข้าวสาลีสำรองไว้ในสต็อก จำนวน 33 และ 44 ล้านตัน ตามลำดับ โดยปกติแล้วรัฐบาลจะจัดซื้อข้าวในราคาขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้ จำนวน 1 ใน 3 ของปริมาณที่ผลิตได้ทั้งหมด

ซึ่งในปี 2555/2556 ราคาขั้นต่ำ (minimum support price) อยู่ที่ 1,250 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม (หรือประมาณตันละ 230 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณตันละ 7,021 บาท)

โดยราคาข้าวเฉลี่ยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ 2,498 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม (หรือประมาณตันละ 459 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณตันละ 14,012 บาท) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 2,319 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม หรือร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ที่มา : Oryza.com

ฟิลิปปินส์

สถาบันวิจัยข้าวฟิลิปปินส์ (The Philippine Rice Research Institute, PhilRice) และองค์การพัฒนาชนบท (Rural Development Organization) ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวพันธุ์ลูกผสม (hybrid rice) ในประเทศ โดยสนับสนุนเงินกู้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่ผลิตข้าวทั้งพันธุ์แท้และพันธุ์ลูกผสม ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ สถาบันวิจัยข้าวฟิลิปปินส์จะสรรหาเทคโนโลยีใหม่ๆ สนับสนุนการใช้เครื่องจักรกลทำการเกษตร และการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรในการปรับปรุงสายพันธุ์ระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ การสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวพันธุ์ลูกผสม จะเป็นกุญแจสำคัญของรัฐบาลในการบรรลุเป้าหมายด้านการพึ่งพาตนเองในการผลิตข้าวให้สำเร็จภายในปี 2556 โดยปัจจุบัน มีการปลูกข้าวพันธุ์ลูกผสม เพียงร้อยละ 3.5 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 4.7 ล้านเฮคเตอร์ รัฐบาลฟิลิปปินส์จึงได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการผลิตข้าวพันธุ์ลูกผสม จำนวน 500 ล้านเปโซ (หรือประมาณ 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 366 ล้านบาท) โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่การผลิตอย่างน้อยร้อยละ 8 ภายในปี 2557

ที่มา : Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 17 - 23 มิถุนายน 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ