ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวทั่วไป Wednesday July 3, 2013 14:12 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56

มติ ครม. เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2556 รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ครั้งที่ 5/2556 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2556 ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 สอดรับกับมติ ครม.ที่กำหนดปริมาณการรับจำนำรวมไม่เกิน 22.0 ล้านตัน และกรอบวงเงินที่ใช้ในการรับจำนำไม่เกิน 345,000 ล้านบาท และกำหนดวงเงินดำเนินการสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 ต้องไม่เกิน 500,000 ล้านบาท (เป็นวงเงินกู้ จำนวน 410,000 ล้านบาท และเงินทุนของ ธ.ก.ส. จำนวน 90,000 บาท) จึงจำเป็นต้องปรับราคารับจำนำ วงเงินรับจำนำของเกษตรกรแต่ละครัวเรือน รวมทั้งการกำกับดูแลโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ดังนี้

1) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ณ ความชื้นไม่เกิน 15% โดยมีระยะเวลาเริ่มดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2556 ถึง วันที่ 15 กันยายน 2556 ดังนี้

(1) ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 (42 กรัม) ตันละ 12,800 บาท

(2) ข้าวเปลือกเจ้า :-

          ข้าวเปลือกเจ้า 100%                    ตันละ 12,000 บาท
          ข้าวเปลือกเจ้า 5%                      ตันละ 11,840 บาท
          ข้าวเปลือกเจ้า 10%                     ตันละ 11,680 บาท
          ข้าวเปลือกเจ้า 15%                     ตันละ 11,360 บาท
          ข้าวเปลือกเจ้า 25%                     ตันละ 11,040 บาท

(3) ข้าวเปลือกเหนียว :-

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 12,800 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 12,000 บาท

ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ข้างต้น ให้ปรับเพิ่ม — ลด ตามจำนวนกรัม ในอัตรากรัมละ 160 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม — ลด ตามจำนวนกรัม โดยเมล็ดยาว ในอัตรากรัมละ 130 บาท และเมล็ดสั้น ในอัตรากรัมละ 120 บาท

2) จำกัดวงเงินรับจำนำข้าวของเกษตรกรแต่ละครัวเรือน จากเดิมที่ไม่จำกัดวงเงิน เป็นไม่เกินครัวเรือนละ 500,000 บาท โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป และมอบหมายให้

องค์การคลังสินค้า และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ออกใบประทวนให้แก่เกษตรกร โดยใช้ราคารับจำนำและเงื่อนไข

ในการรับจำนำที่ปรับใหม่ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป

3) ระยะเวลา

(1) ระยะเวลารับจำนำ 1 ก.พ. — 15 ก.ย. 56

(2) ระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือน นับถัดจากเดือนที่รับจำนำ

(3) ระยะเวลาโครงการ 1 ต.ค. 55 — 31 ม.ค. 57

4) ผลการดำเนินงาน จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม — 25 มิถุนายน 2556)

                             - จำนวนสัญญา              2,547,781    สัญญา
                             - จำนวนตัน               19,444,697      ตัน
                             - จำนวนเงิน             299,045.334  ล้านบาท

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาค่อนข้างทรงตัว ส่วนราคาข้าวเปลือกเจ้า ราคาลดลง เนื่องจากในระยะนี้บางพื้นที่ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวกระทบฝน ส่งผลให้ข้าวเปลือกมีความชื้น และพ่อค้าบางส่วนเริ่มปรับราคารับซื้อข้าวจากเกษตรกรลดลง ตามราคารับจำนำที่รัฐบาลประกาศลดลง

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,870 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,791 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.50

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,652 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,868 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.19

ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวนาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,178 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,955 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.72

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,200 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,350 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.98

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,170 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,093 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,195 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,480 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.09 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 387 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 933 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,781 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 946 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,879 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.37 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 98 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 522 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,103 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 539 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,454 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.15 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 351 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 517 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,949 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 534 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,302 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.18 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 353 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 545 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,812 บาท/ตัน)

ราคาลดลงจากตันละ 559 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,065 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.50 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 253 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 30.8483 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

จีน

ศูนย์ข้อมูลธัญพืชและน้ำมันแห่งชาติ (National Grain & Oils Information Center) รายงานว่า อุปสงค์การนำเข้าข้าวของจีนยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากราคาข้าวภายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยข้าวหัก (broken rice) ที่จีนนำเข้าจากเวียดนามรวมภาษีนำเข้าและค่าขนส่งแล้ว ราคาตันละ 3,100 ยวน (หรือประมาณ 505 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 15,578 บาท) ซึ่งราคาถูกกว่าข้าวคุณภาพเดียวกันที่ผลิตในประเทศถึงร้อยละ 14 และในช่วงนี้ที่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับการปนเปื้อนสารแคดเมียมในนาข้าวที่ปลูกในมณฑลหูหนาน ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น

กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (USDA) คาดการณ์ว่า จีนจะกลายเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของโลกในปี 2555/56 และปี 2556/57 โดยประมาณการณ์ว่า ในปี 2555/56 และปี 2556/57 จีนจะนำเข้าข้าวปีละ 3 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 2.34 ล้านตัน ในปีที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 28

ปัจจุบัน จีนนำเข้าข้าวจากเวียดนามมากที่สุด โดยในปี 2554/55 จีนนำเข้าข้าวจากเวียดนาม ร้อยละ 66 ของปริมาณข้าวที่นำเข้าทั้งหมด

ที่มา : Oryza.com

พม่า

สหภาพยุโรป (EU) ผ่านร่างกฎหมายอนุมัติให้พม่าเข้าร่วมสิทธิประโยชน์ทางการค้า (trade preference scheme) อีกครั้ง ในฐานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDC) พม่าได้สิทธิ์ส่งออกข้าว และสินค้าอื่นๆ ไปยังสหภาพยุโรปได้โดยปราศจากภาษี เช่นเดียวกับกัมพูชา ซึ่งภายหลังจากที่พม่ากลับเข้าร่วมสิทธิประโยชน์ทางการค้าในครั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ข้าวที่สหภาพยุโรปนำเข้าจากกัมพูชาจะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับข้าวจากพม่า

ทั้งนี้ พม่าถูกเพิกถอนสิทธิประโยชน์ทางการค้าไปเมื่อปี 2540 เนื่องจากสหภาพยุโรปตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งภายหลังองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization, ILO) ได้ยกเลิกมาตรการจำกัดดังกล่าว ในเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา

ที่มา : Oryza.com

เซเนกัล

ประเทศเซเนกัลซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าข้าวที่สำคัญของไทย ได้วางแผนที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตข้าวในประเทศเป็น 1.6 ล้านตัน (หรือประมาณ 1 ล้านตันข้าวสาร) ภายใน 5 ปีข้างหน้า ภายใต้โครงการพึ่งพาตนเองในการผลิตข้าว (National Rice Self-Sufficiency Program, RAN)

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า รัฐบาลเซเนกัลกำลังพัฒนาระบบชลประทานและกระบวนการแยกเกลือออกจากน้ำ ซึ่งผลผลิตข้าวส่วนใหญ่ของประเทศประมาณร้อยละ 60-70 ใช้น้ำจากแหล่งดังกล่าว นอกจากนี้รัฐบาลยังวางแผนที่จะพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และกลไกการตลาด เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิต

ประเทศเซเนกัลนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากปริมาณความต้องการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น จาก 930,000 ตัน ในปี 2545/46 เป็น 1.45 ล้านตัน ในปี 2555/56 ในขณะที่ปริมาณการผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจาก 112,000 ตัน ในปี 2545/46 เป็น 374,000 ตัน ในปี 2555/56 ซึ่งปัจจุบันประเทศเซเนกัลนำเข้าข้าวจากต่างประเทศประมาณปีละ 1 ล้านตัน

ที่มา : Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 24 - 30 มิถุนายน 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ