แจงมติกำหนดราคารับซื้อถั่วเหลืองขั้นต่ำปี 57 สศก. มั่นใจ จุดเด่นถั่วเหลืองไทยสดใสแบบ Non-GMOs

ข่าวทั่วไป Thursday September 19, 2013 13:19 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. ระบุ สถานการณ์การผลิตถั่วเหลืองยังลดลงต่อเนื่องในระยะเวลา 5 ปี เผย ปีเพาะปลูก 2556/57 มีเนื้อที่เพาะปลูก 2.6 แสนไร่ ผลผลิต 0.7 แสนตัน ขณะที่ความต้องการมีมากถึง 2.3 ล้านต้น ด้านคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช มีมติกำหนดราคารับซื้อถั่วเหลืองขั้นต่ำ แยกตามชั้นคุณภาพรองรับการผลิตปี 57 ไว้แล้ว มั่นใจ ทิศทางถั่วเหลืองไทยสดใส เนื่องจากไม่มีการตัดแต่งพันธุกรรม แนะเกษตรกรควบคุมคุณภาพและลดต้นทุนการผลิตเพื่อรักษากำไร
          นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตถั่วเหลืองว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2552-2556 พบว่า เนื้อที่เพาะปลูกถั่วเหลืองลดลง คิดเป็น     ร้อยละ 22 ส่งผลให้ผลผลิตลดลงถึงร้อยละ 24 ซึ่งในปีเพาะปลูก 2556/57 คาดว่าจะมีเนื้อที่เพาะปลูกเหลืออยู่ 2.6 แสนไร่ ผลผลิตรวม ประมาณ 0.7 แสนตัน ในขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศมีมากถึง 2.3 ล้านตัน โดยเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม       ที่ผ่านมา คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ซึ่งมี สศก. เป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ  ได้มีมติกำหนดราคารับซื้อ ถั่วเหลืองขั้นต่ำ แยกตามชั้นคุณภาพ โดยพิจารณาจากต้นทุนการผลิตถั่วเหลืองรวมรุ่นเฉลี่ยทั้งประเทศที่ สศก. จัดทำขึ้น         ปี 2556 บวกด้วยอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนตามระยะเวลาการปลูก 4 เดือน เพื่อใช้กำหนดราคารับซื้อขั้นต่ำแยกตามชั้นคุณภาพ และนำไปใช้กำหนดราคารับซื้อขั้นต่ำในปี 2557 ด้วย ซึ่งได้แก่  ถั่วเหลืองเกรดที่ใช้สกัดน้ำมัน ราคารับซื้อขั้นต่ำ ณ ไร่นา กิโลกรัมละ 15.50 บาท  ส่วน ณ หน้าโรงงาน กทม. 16.25 บาท  หากเป็นอาหารสัตว์ ณ ไร่นา 15.75 บาท  ส่วน ณ หน้าโรงงาน กทม. 16.50 บาท  และถ้าใช้แปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร ณ ไร่นา 17.75 บาท  และ ณ หน้าโรงงาน กทม. 18.50 บาท ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า มีการกำหนดราคาเพื่อรองรับการผลิตในปี 2557 ไว้เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่เกษตรกรต้องควบคุมและลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด ก็จะทำให้มีกำไรสูงสุดได้

เลขาธิการ กล่าวทิ้งท้ายว่า ถั่วเหลือง ถือพืชที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจัดเป็นทั้งพืชน้ำมัน พืชอาหาร วัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่สำคัญ ถั่วเหลืองยังเป็นแหล่งโปรตีนจากพืช และยังเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหารของคนไทยและอาเซียนอีกด้วย แต่แนวโน้มกลับมีพื้นที่ปลูกในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นว่าการปลูกถั่วเหลืองในประเทศยังมีอนาคตสดใส เพราะคุณสมบัติพิเศษของถั่วเหลืองไทยที่เป็น Non-GMOs คือไม่มีการตัดแต่งพันธุกรรม สามารถใช้เป็นจุดขายได้ในเรื่องดังกล่าว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


แท็ก gmo  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ