เกษตรฯ ระบุ เศรษฐกิจการเกษตร ปี 56 ขยาย 1.1% คาด ปี 57 ขยายตัวต่อเนื่อง มั่นใจ สาขาประมง กลับสู่ภาวะปกติ

ข่าวทั่วไป Friday November 29, 2013 13:54 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เกษตรฯ แถลงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 56 แจงขยายตัวร้อยละ 1.1 เหตุจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นยาวนาน ส่งผลให้ผลผลิตพืชที่สำคัญหลายชนิดลดลง คาด ปี 57 จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.0 — 4.0 จากแรงขับเคลื่อนสำคัญทั้งในสาขาพืช ปศุสัตว์ รวมถึงสาขาประมงที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงกลางปี 2557

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงอัตราการเติบโตของภาคเกษตร โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ประมาณการอัตราการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2556 ขยายตัวประมาณร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับปี 2555 เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นยาวนาน ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2555 ต่อเนื่องมาจนถึงกลางปี 2556 ทำให้ผลผลิตพืชที่สำคัญหลายชนิดลดลง นอกจากนี้ ในช่วงปลาย ปี 2556 ได้เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ทางการเกษตรบางส่วน แต่ในภาพรวมไม่กระทบต่อการผลิตทางการเกษตรมากนัก สำหรับการผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่สำคัญ เช่น ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ มีทิศทางเพิ่มขึ้น ส่วนการผลิตสาขาประมงยังคงหดตัวต่อเนื่องจากปัญหาโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) ซึ่งเมื่อจำแนกแต่ละรายสาขาพบว่า

สาขาพืช ในปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับปี 2555 ซึ่งแม้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปี จะประสบปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี อิทธิพลของพายุโซนร้อน “มังคุด” และ “นารี” ที่พัดผ่านประเทศไทย ส่งผลให้มีฝนตกชุก สำหรับผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ เช่น ลำไย ทุเรียน และมังคุด โดยผลผลิตข้าวนาปีเพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่เพาะปลูก เนื่องจากแรงจูงใจทางด้านราคา ขณะที่ผลผลิตอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมให้ขยายพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งการบำรุงรักษาดี ส่วนยางพาราและปาล์มน้ำมัน ผลผลิตเพิ่มขึ้นตามเนื้อที่เปิดกรีดใหม่และเนื้อที่ให้ผลที่เพิ่มขึ้น สำหรับผลผลิตพืชที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง สับปะรด และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยข้าวนาปรังได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในช่วงการเจริญเติบโตของต้นข้าว ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเช่นกัน สำหรับมันสำปะหลัง เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงานและยางพาราทดแทน ผลผลิตสับปะรดลดลง เนื่องจากเนื้อที่ปลูกแซมในสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันลดลงจากการที่ต้นยางพาราและปาล์มน้ำมันโตขึ้น

สาขาปศุสัตว์ ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 1.3 เนื่องจากมีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน การเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณการผลิตสินค้าปศุสัตว์สำคัญเพิ่มขึ้น ทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ โดยไก่เนื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน และการขยายการเลี้ยงเพื่อรองรับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปที่อนุญาตให้นำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 ขณะที่การผลิตสุกรมีการปรับปรุงด้านการจัดการฟาร์มและสามารถควบคุมโรคได้ดีขึ้น สำหรับผลผลิตไข่ไก่เพิ่มขึ้นจากการนำเข้าพันธุ์ไก่ไข่ในช่วงปี 2553 - 2554 ทำให้มีแม่ไก่ไข่ยืนกรงรุ่นใหม่จำนวนมากส่วนการผลิตน้ำนมดิบเพิ่มขึ้นจากจำนวนแม่โครีดนมที่มากขึ้นและอัตราการให้น้ำนมโดยเฉลี่ยของแม่โคที่สูงขึ้น

สาขาประมง ปี 2556 ลดลงร้อยละ 7.2 โดยการผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงประสบปัญหาโรคตายด่วนหรือโรค EMS (Early Mortality Syndrome) ต่อเนื่องมาจากช่วงต้นปี 2556 ประกอบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไม่มั่นใจในสถานการณ์ ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งลดลงค่อนข้างมาก สำหรับผลผลิตจากการทำประมงทะเล ปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้มีปริมาณลดลงเช่นกัน ส่วนการผลิตประมงน้ำจืดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การผลิตในแหล่งผลิตหลักอยู่ในภาวะปกติ ประกอบกับความต้องการบริโภคภายในประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยราคากุ้งขาวแวนนาไมที่เกษตรกรขายได้ ปรับตัวสูงขึ้นเกือบร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปี 2555 เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลงจากปัญหาการระบาดของโรค ส่วนการส่งออกสินค้าประมงสำคัญส่วนใหญ่มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกลดลง เนื่องจากแหล่งผลิตที่สำคัญของไทยประสบปัญหาโรคตายด่วนหรือโรค EMS ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการซื้อของผู้บริโภคในตลาดผู้นำเข้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ยังมีอย่างต่อเนื่อง

สาขาบริการทางการเกษตรในปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 1.1 เนื่องจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าว และอ้อยโรงงาน ประกอบกับค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาใช้บริการทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ทั้งในกิจกรรมการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว อาทิ รถแทรกเตอร์ รถเกี่ยวนวดข้าว และรถตัดอ้อย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมในบางพื้นที่ในช่วงปลายปีได้ส่งผลกระทบต่อพื้นเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว เป็นผลให้การบริการทางการเกษตรเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

สาขาป่าไม้ปี 2556 ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.8 เนื่องจากการทำไม้ การเผาถ่าน และการเก็บหาของป่า ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยความต้องการผลิตภัณฑ์จากไม้เพิ่มขึ้นทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะไม้ยูคาลิปตัส ที่ได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจังจากภาคเอกชนเพื่อผลิตกระดาษ ประกอบกับพื้นที่ตัดโค่นสวนยางพาราเก่าและปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 ทำให้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น ด้านนายอนันต์ ลิลา เลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2557 สศก. คาดว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.0 — 4.0 โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการผลิตในสาขาพืช ปศุสัตว์ รวมถึงสาขาประมงที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงกลางปี 2557 และสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการผลิตภาคเกษตร เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน รวมถึงภัยธรรมชาติและโรคระบาดต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์ โดย สาขาพืช คาดว่าในปี 2557 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 3.2 — 4.2 เมื่อเทียบกับปี 2556 โดยผลผลิตพืชที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ส่วนผลผลิตพืชที่มีแนวโน้มลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง สับปะรด และผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด และเงาะ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น ภูมิพล และสิริกิติ์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเพาะปลูกพืช รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและการระบาดของศัตรูพืชต่าง ๆ ด้านราคาพืชที่เกษตรกรขายได้ส่วนใหญ่ในปี 2557 คาดว่าจะใกล้เคียงกับปี 2556 สำหรับการส่งออกสินค้าพืชและผลิตภัณฑ์ มีแนวโน้มดีขึ้นตามทิศทางของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศคู่ค้าซึ่งมีสัญญาณของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

สาขาปศุสัตว์ คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 — 3.0 โดยปริมาณการผลิตไก่เนื้อ ไข่ไก่ สุกร และโคนม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการพัฒนาระบบการเลี้ยงและการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น มีกระบวนการควบคุมและเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีการขยายการเลี้ยงเพื่อรองรับความต้องการบริโภคของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการเฝ้าระวังโรคระบาดต่าง ๆ รวมทั้งความเสี่ยงจากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ภัยธรรมชาติ และต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง ที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตปศุสัตว์

สาขาประมง มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2556 อยู่ในช่วงร้อยละ 2.2 — 3.2 เนื่องจากการผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากปัญหาการระบาดของโรค EMS ซึ่งกรมประมงร่วมกับภาคเอกชนได้ดำเนินมาตรการในการแก้ไขปัญหา อาทิ การดูแลทำความสะอาดบ่อเลี้ยง การ Clean up โรงเพาะฟักลูกกุ้ง ขณะเดียวกันได้มีการควบคุมดูแลการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเลจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งที่ผ่านการตรวจสอบจากกรมประมงแล้วว่าปลอดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค นอกจากนี้ กรมประมงร่วมกับผู้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเลได้ดำเนินการหาแหล่งนำเข้าพ่อแม่พันธุ์อื่นๆ ที่มีคุณภาพเพิ่มเติม

สาขาบริการทางการเกษตร คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.8 — 1.8 เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังในปี 2557 มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปี2556 จากสถานการณ์น้ำในเขื่อนที่อาจมีไม่เพียงพอต่อการปลูกข้าวนาปรังรอบสอง อย่างไรก็ตาม พื้นที่เพาะปลูกพืชที่สำคัญชนิดอื่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวนาปี และอ้อยโรงงาน นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านการเกษตร ทำให้อัตราค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรค่อนข้างสูง ส่งผลให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาใช้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพิ่มขึ้น และ สาขาป่าไม้ คาดว่ายังคงขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.0 — 4.0 เนื่องจากเป้าหมายการตัดโค่นต้นยางพาราเก่าและปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประมาณ 300,000 ไร่ ประกอบกับจำนวนพื้นที่เป้าหมายการตัดไม้ยูคาลิปตัสที่อายุครบตัดของภาคเอกชน ทั้งจากสวนป่าสมาชิกและหัวไร่ปลายนามีจำนวนเพิ่มขึ้น

อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร

หน่วย: ร้อยละ

สาขา                        2556               2557
ภาคเกษตร                     1.1          3.0 — 4.0
พืช                           3.0          3.2 - 4.2
ปศุสัตว์                        1.3          2.0 — 3.0
ประมง                       -7.2          2.2 - 3.2
บริการทางการเกษตร             1.1          0.8 — 1.8
ป่าไม้                         3.8          3.0 — 4.0
ที่มา: ประมาณการโดยสำนักนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร  สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ