ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 26, 2014 17:17 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56

ผลการดำเนินงาน

จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม – 18 กุมภาพันธ์ 2557)

  • จำนวนสัญญา 2,909,414 สัญญา
  • จำนวนตัน 22,459,039 ตัน
  • จำนวนเงิน 351,655.026 ล้านบาท

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57

1) มติ ครม. วันที่ 3 กันยายน 2556 รับทราบราคา ปริมาณ วงเงินการรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกร และระยะเวลาการรับจำนำโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57

2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2556/57 ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก

ปี 2556/57 ณ ความชื้นไม่เกิน 15 % ดังนี้

  • ครั้งที่ 1

(1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ (42 กรัม) ตันละ 20,000 บาท

(2) ข้าวเปลือกหอมจังหวัด (40 กรัม) ตันละ 18,000 บาท

(ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 23 จังหวัด)

(3) ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

(4) ข้าวเปลือกเจ้า :-

ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท

(5) ข้าวเปลือกเหนียว :-

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 15,000 บาท

ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัมในอัตรากรัมละ 200 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัม โดยเมล็ดยาว ในอัตรากรัมละ 160 บาท และเมล็ดสั้นในอัตรากรัมละ 150 บาท

  • ครั้งที่ 2

(1) ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

(2) ข้าวเปลือกเจ้า :-

ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 13,000 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 12,800 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 12,600 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 12,200 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 11,800 บาท

(3) ข้าวเปลือกเหนียว :-

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 15,000 บาท

ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัมในอัตรากรัมละ 200 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัม โดยเมล็ดยาว ในอัตรากรัมละ

160 บาท และเมล็ดสั้นในอัตรากรัมละ 150 บาท

3) เป้าหมายการรับจำนำ จะรับจำนำข้าวเปลือกคุณภาพดี โดยจะไม่รับจำนำข้าวเปลือกที่มีอายุน้อยกว่า 110 วัน ที่มีคุณภาพต่ำ จำนวน 18 พันธุ์ ตามที่กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศ โดยจะไม่ให้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 2 ครั้ง

4) วงเงินการรับจำนำ

  • ครั้งที่ 1 ไม่เกินรายละ 350,000 บาท
  • ครั้งที่ 2 ไม่เกินรายละ 300,000 บาท

5) เป้าหมายการรับจำนำ รวมจำนวน 16.5 ล้านตัน

6) ระยะเวลารับจำนำ

  • ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2556 – 28 กุมภาพันธ์ 2557

ยกเว้น ภาคใต้จะสิ้นสุดวันที่ 31 กรกฎาคม 2557

  • ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 30 กันยายน 2557

ยกเว้น ภาคใต้ระว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 30 พฤศจิกายน 2557

7) ผลการดำเนินงาน ครั้งที่ 1

จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม – 18 กุมภาพันธ์ 2557)

  • จำนวนสัญญา 584,779 สัญญา
  • จำนวนตัน 3,933,482 ตัน
  • จำนวนเงิน 63,475.344 ล้านบาท

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปีราคาสูงขึ้น เนื่องจากเป็นข้าวคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด สำหรับข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาค่อนข้างทรงตัวแต่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง และบางพื้นที่ประสบภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มาก

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,343 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,181 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 1.14

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,840 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,827 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.17

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 13,350 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,410 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.45

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,020 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,893 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,014 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,093 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.59 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 200 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 736 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,735 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 716 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,368 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.79 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 367 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 463 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,931 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 460 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,013 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.65 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 82 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 385 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,416 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 383 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,500 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.52 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 84 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 466 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,028 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 464 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,143 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.43 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 115 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.5329 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนผลผลิตข้าวโลกปี 2556/57 ประจำเดือนมกราคม 2557 ว่าจะมี 471.147 ล้านตันข้าวสาร (703.1 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจาก 469.507 ล้านตันข้าวสาร (700.0 ล้านตันข้าวเปลือก) ของปี 2555/56 ร้อยละ 0.43

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดคะเนบัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2556/57 ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ว่าผลผลิต ปี 2556/57 จะมี 471.514 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.43 การใช้ในประเทศจะมี 473.325 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.34 การส่งออก/นำเข้าจะมี 40.412 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 5.47 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 105.034 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.69

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล กัมพูชา เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และไทย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ จีน อินเดีย ปากีสถาน และปารากวัย

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน คิวบา อียู อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก

ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ เยเมน และสหรัฐฯ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บราซิล ไอเวอรี่โคสต์ กานา ฮ่องกง อิหร่าน และโมแซมบิค

ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

อินเดีย

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ประมาณการว่า ในปี 2557/58 (ตุลาคม 2557 – กันยายน 2558) อินเดียผลิตข้าวได้ 104 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านตันข้าวสาร เมื่อเทียบกับตัวเลขประมาณการผลผลิตของปี 2556/57 อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศที่แปรปรวนในปี 2557 อาจส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลงต่ำกว่าปริมาณผลผลิตที่ ประมาณการไว้ 10 – 12 ล้านตัน กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์เพิ่มเติมว่า ในปี 2557/58 อินเดียมีพื้นที่เพาะปลูก 44 ล้านเฮคตาร์ (275 ล้านไร่) และผลิตข้าวบาสมาติ 8.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 7.8 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับปี 2556/57

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ประมาณการว่า ในปี 2556/57 อินเดียผลิตข้าวได้ 103 ล้านตัน ซึ่งจำแนกเป็น ข้าวฤดู kharif (ฤดูมรสุม – ฤดูหนาว) 90 ล้านตัน และเป็นข้าวฤดู rabi (ฤดูใบไม้ผลิ – ฤดูร้อน) 13 ล้านตัน ทั้งนี้ ในปี 2556/57 อินเดียผลิตข้าวบาสมาติ 7.5 ล้านตัน มีพื้นที่เพาะปลูก 1.8 ล้านเฮคตาร์ (หรือประมาณ 11.25 ล้านไร่) ลดลงจากผลผลิต 7.8 ล้านตัน และพื้นที่เพาะปลูก 1.9 ล้านเฮคตาร์ (หรือประมาณ 11.88 ล้านไร่) เมื่อเทียบกับปี 2554/55 ทั้งนี้ สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในปี 2556 ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำลงและช่วยให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นในปี 2556/57 นอกจากนี้ ราคาที่อยู่ในเกณฑ์ดีในปี 2556/57 ยังเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกษตรกรเพาะปลูกในฤดูต่อไป

ผลผลิตต่อไร่ของอินเดียต่ำกว่าผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยของโลก ซึ่งรัฐบาลได้นำโครงการปฏิวัติสีเขียว (Green Revolution Program) และเทคโนโลยีที่ได้รับการปรับปรุงอื่นๆ มาใช้ในพื้นที่ทางภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วย รัฐพิหาร รัฐฉัตติสครห์ รัฐฌาร์ขัณฑ์ รัฐอุตตรประเทศตะวันออก รัฐเบงกอลตะวันตก และ รัฐโอริสสา นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนเทคโนโลยีภายใต้การผลิตระบบการปลูกข้าวแบบประณีต (System of Rice Intensification) ในบางพื้นที่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้น้ำและปุ๋ยเคมีน้อย แต่ใช้แรงงานในการผลิต ในปี 2556/57 อินเดียมีพื้นที่ปลูกข้าวพันธุ์ลูกผสม (hybrid rice) 1.8 ล้านเฮคตาร์ (11.25 ล้านไร่) คงที่เมื่อเทียบกับปี 2555/56 ทั้งนี้ หน่วยงานความมั่นคงด้านอาหารของอินเดีย กำหนดเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวพันธุ์ลูกผสมเพื่อให้ได้ผลผลิต 3 ล้านตัน ภายในปี 2554/55

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2557/58 อินเดียมีความต้องการใช้ข้าวในประเทศ 98 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 95 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปี 2556/57 เนื่องจากอุปทานในประเทศมีเพียงพอและรัฐบาลระบายข้าวผ่านโครงการจัดสรรข้าวภายใต้กฎหมายว่าด้วยความมั่นคงด้านอาหารฉบับใหม่ โดยกระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า ราคาข้าวในประเทศที่อยู่ในเกณฑ์สูงเป็นข้อจำกัดในการเพิ่มความต้องการใช้ในประเทศในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยราคาข้าวในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555/56 เนื่องจากการปรับเพิ่มราคารับซื้อขั้นต่ำ (Minimum Support Price: MSP) สำหรับข้าวเปลือก และอุปทานในประเทศมีปริมาณจำกัด อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวในประเทศเริ่มปรับลดตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2556

สำหรับปริมาณส่งออก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2557/58 อินเดียจะส่งออกข้าวได้ 8 ล้านตัน เนื่องจากราคาข้าวในตลาดโลกอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และความต้องการข้าวของประเทศอิหร่านลดลง อย่างไรก็ตาม อินเดียจะส่งออกข้าวได้มากกว่าปริมาณที่คาดไว้ เนื่องจาก เงินรูปีอ่อนค่าลง และราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ยังคาดการณ์เพิ่มเติมว่า ในปี 2556 อินเดียส่งออกข้าวได้ 10.5 ล้านตัน และ ในปี 2556/57 ส่งออกข้าวได้ 10 ล้านตัน

ทั้งนี้ รัฐบาลมีสต๊อกข้าว ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557 ประมาณ 31.7 ล้านตัน ลดลงจาก 35.4 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2557 สต๊อกของรัฐบาลจะลดลงเหลือเพียง 20 ล้านตัน ซึ่งลดลงจาก 23.1 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 13.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ที่มา Oryza.com

เมียนมาร์

สหพันธ์ข้าวแห่งเมียนมาร์ (The Myanmar Rice Federation: MRF) เรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงนโยบายข้าว เพื่อแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งออกข้าว อาทิ อินเดีย ไทย เวียดนาม และจีน โดยเลขาธิการสหพันธ์ฯ ระบุว่า รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนนโยบายให้ครอบคลุม ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนได้อย่างเสรีในสาขาต่างๆ เช่น การผลิตเมล็ดพันธุ์ การสีข้าว และการทำเกษตรอุตสาหกรรม

เลขาธิการสหพันธ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายในปัจจุบันที่มุ่งเน้นการผลิตภายในประเทศและส่งออกอุปทานส่วนเกิน เป็นนโยบายที่ไม่เฉพาะจงจง และประเทศต้องการนโยบายด้านยุทธศาสตร์ที่สนับสนุนบทบาทของโรงสี ผู้ประกอบการ บริษัทที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร และระบบประกัน ทั้งนี้ สหพันธ์ฯ จะร่วมมือกับรัฐบาล องค์กรระหว่างประเทศ และชุมชน เพื่อระดมความคิดเกี่ยวกับนโยบายข้าว โดยปัจจุบัน รัฐบาลและสหพันธ์ฯ อยู่ระหว่างดำเนินการร่างนโยบายข้าวฉบับใหม่ และมีกำหนดจะนำเสนอต่อประธานาธิบดี สาธารณชน พรรคการเมือง และองค์กรต่างๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็น

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2556/57 เมียนมาร์ผลิตข้าวได้ 1.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 1.07 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปี 2555/56 หน่วยงานของสหรัฐฯ ประมาณการความต้องการในประเทศ 1.025 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.02 ล้านตัน และปริมาณส่งออก 750,000 ตัน คงที่เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ที่มา Oryza.com

ไนจีเรีย

สมาคมโรงสีข้าวผู้ส่งออกและผู้ประกอบการไนจีเรีย (Rice Millers Importers and Distributors Association of Nigeria: RiMIDAN) เปิดเผยว่า นโยบายของรัฐบาลล่าสุดที่ปรับลดภาษีนำเข้าข้าวเหลือตันละ 190 ดอลลาร์สหรัฐฯ จะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาลประมาณ 50,000 ล้านไนร่า (หรือประมาณ 303 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9,771 ล้านบาท) โดยรัฐบาลเห็นชอบลดภาษีนำเข้าจากเดิมตันละ 570 ดอลลาร์สหรัฐฯ เหลือตันละ 190 ดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ 2 เดือน เพื่อลดปริมาณลักลอบนำเข้าข้าวผ่านชายแดนประเทศเบนิน รัฐบาลตัดสินใจในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2556 เพื่อให้มั่นใจได้ว่าข้าวที่นำเข้าช่วงเทศกาลคริสต์มาสต้องนำเข้าถูกต้องตามกฎหมายผ่านท่าเรือไนจีเรีย โดยใช้วิธีลดภาษีนำเข้าให้ใกล้เคียงกับภาษีนำเข้าของเบนินที่กำหนดไว้ที่ ตันละ 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการสมาคมฯ เปิดเผยว่า อัตราภาษีใหม่นี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างถาวร สมาชิกของสมาคมฯ หลายรายสั่งซื้อข้าวในอัตราภาษีใหม่นี้ แต่ข้าวจำนวนมากยังคงอยู่บนเรือประมาณ 20 ลำที่ลอยลำอยู่กลางทะเล รอการตัดสินใจของรัฐบาลเกี่ยวกับอัตราภาษี

เลขาธิการสมาคมฯ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในปี 2556 ไนจีเรียนำเข้าข้าวอย่างถูกกฎหมายน้อยกว่า 100,000 ตัน และการปรับลดอัตราภาษีในครั้งนี้สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศประมาณ 50,000 ล้านไนร่า (หรือประมาณ 303 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9,771 ล้านบาท)

ขณะที่ การตัดสินใจปรับลดภาษีนำเข้าลงเหลือระดับปัจจุบันของประเทศเบนิน เป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้นำเข้านำ สต๊อกข้าวลงที่ประเทศเบนินและส่งไปยังประเทศไนจีเรียผ่านชายแดนของประเทศ ในปี 2556 มีข้าวนึ่งที่ถูกส่งไปยังประเทศไนจีเรียโดยผ่านประเทศเบนินประมาณ 3 ล้านตัน ซึ่งส่งผลให้ไนจีเรียสูญเสียรายได้จากภาษีนำเข้าประมาณ 300,000 ล้านไนร่า (หรือประมาณ 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 58,047 ล้านบาท)

ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 17 - 23 กุมภาพันธ์ 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ