ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี และแนวโน้ม ปี 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 1, 2014 16:05 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2557 ขยายตัวประมาณร้อยละ 0.5 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากสาขาพืช และสาขาปศุสัตว์ ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ หดตัวลง สำหรับปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของภาคเกษตรส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้นและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ และส่งผลต่อเนื่องมายังราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศให้ปรับตัวสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อรองรับความต้องการของตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยลบ คือ ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2557 ได้ ทวีความรุนแรงและขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ส่งผลให้พื้นที่ทำการเกษตรพืชสำคัญหลายชนิดได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะการผลิตข้าวนาปรังในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากปริมาตรน้ำในเขื่อนสำคัญ เช่น เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ มีไม่เพียงพอสำหรับการปลูกข้าวนาปรังรอบสอง นอกจากนี้ ปัญหาโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) ในกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง ที่มีความรุนแรงอย่างมากในปี 2556 ยังคงส่งผลต่อเนื่องมายังการผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงในไตรมาสแรกของปี 2557

สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.3 - 3.3 เนื่องจากผลผลิตพืชที่สำคัญ เช่น ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์ เช่น ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนการผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากการดำเนินมาตรการในการแก้ไขปัญหาของกรมประมงร่วมกับภาคเอกชน นอกจากนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักอย่างต่อเนื่อง จะทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตทางการเกษตรในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2557 ยังคงมีความเสี่ยงอย่างมากจากภาวะภัยแล้ง รวมถึงปัญหาฝนทิ้งช่วงที่อาจยาวนานไปจนถึงต้นฤดูเพาะปลูกในเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตสินค้าเกษตรมากยิ่งขึ้น

ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

เศรษฐกิจโลก

ในปี 2557 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงครึ่งหลังของปี 2556 โดยเป็นผลจากการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งฟื้นตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยได้รับแรงหนุนส่วนหนึ่งจากการบรรลุข้อตกลงทางด้านงบประมาณ สำหรับเศรษฐกิจ ยูโรโซนยังคงอ่อนแอ และมีการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จากจุดต่ำสุดเมื่อปี 2556 โดยที่อัตราการว่างงานก็ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัวได้ต่อเนื่องเช่นกัน เนื่องจากการใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลังชั่วคราวของรัฐบาลในส่วนของเศรษฐจีนขยายตัวชะลอลง เพราะการออกนโยบายปรับสมดุลทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อลดความร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้การลงทุนและการใช้จ่ายภายในประเทศชะลอตัวลง สำหรับเศรษฐกิจของอาเซียน 5 (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม) ยังขยายตัวได้ดีจากปี 2556

ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2557 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) คาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากที่คาดการณ์ไว้เดิม ณ เดือนตุลาคม 2556 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 ภายหลังในปี 2556 เศรษฐกิจโลกสามารถเติบโตได้ร้อยละ 3.0 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี ที่ IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลก โดยที่คาดว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยูโรโซน (เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน) ญี่ปุ่น จีน และอาเซียน 5 จะขยายตัวร้อยละ 2.8 1.0 1.7 7.5 และ 5.1 ตามลำดับ

เศรษฐกิจการเกษตรโลก

สถานการณ์ด้านราคาสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลก เมื่อพิจารณาจากดัชนีราคาอาหารซึ่งจัดทำโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO พบว่า ดัชนีราคาอาหารเฉลี่ยในเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2557 อยู่ที่ระดับ 205.5 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 212.8 หรือลดลงร้อยละ 3.4 โดยกลุ่มสินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ พืชอาหารและธัญพืช น้ำมันจากพืชและสัตว์ และน้ำตาล เนื่องจากอุปทานในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ในส่วนของราคาเนื้อสัตว์ลดลง เพราะต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ลดลง ส่งผลให้ราคาสัตว์ปีกและเนื้อหมูอ่อนตัวลงตามไปด้วย

สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการผลิตภัณฑ์นมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในแอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และรัสเซีย

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2557 อยู่ที่ 104.6 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ลดลงจากช่วงเดียวกันของ ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ 109.4 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือลดลงร้อยละ 4.4 แม้ว่าความต้องการใช้น้ำมันของโลกจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น แต่กำลังการผลิตน้ำมันของโลกก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะจากกลุ่มนอกโอเปค ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอ่อนตัวลงเล็กน้อย

อัตราแลกเปลี่ยน

1) อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2557 อยู่ที่ 32.8 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 29.9 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หรืออ่อนค่าลงร้อยละ 9.5

2) อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อยูโร เฉลี่ยเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2557 อยู่ที่ 44.7 บาท/ยูโร มีทิศทางอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 39.9 บาท/ยูโร หรืออ่อนค่าลงร้อยละ 12.1

การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2557 มีแนวโน้มอ่อนค่าลง เนื่องจากความกังวลว่าธนาคารกลางของสหรัฐฯ (Federal Reserve: FED) อาจจะถอนหรือลดมาตรการ QE ลงในอนาคต เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีการปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยมากขึ้น

ภาพรวมเศรษฐกิจไทย

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2557 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.0 - 4.0 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการส่งออก ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 5.0 - 7.0 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมกราคม 2557 มูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย เท่ากับ 578,042 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่า 554,934.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 อย่างไร ก็ตาม การลงทุนของภาครัฐในหลายโครงการมีความล่าช้าออกไป ขณะที่การใช้จ่ายของภาคเอกชนยังคงอ่อนตัวต่อเนื่องจากความเชื่อมั่นที่ลดลง ในส่วนของการท่องเที่ยวก็เริ่มได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งหากสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่มีความชัดเจนและยืดเยื้อออกไป อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนภายในประเทศ และจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2557 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2557 อยู่ในกรอบร้อยละ 2 .0 - 2.8

ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ไตรมาส 1 ปี 2557

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร

1. ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร เฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2557 อยู่ที่ระดับ 119.7 สูงกว่าช่วงเดียวกันของ ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 117.1 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ มีทิศทางเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 153.7 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 152.6 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8

2. ดัชนีผลผลิตหมวดพืชผล เฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2557 อยู่ที่ระดับ 121 .1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 119.8 ขณะที่ดัชนีราคาหมวดพืชผลที่เกษตรกรขายได้ อยู่ที่ระดับ 153.1 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 163.9 หรือลดลงร้อยละ 6.6

3. ดัชนีผลผลิตหมวดปศุสัตว์ เฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2557 อยู่ที่ระดับ 121.5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 119.2 ขณะที่ดัชนีราคาหมวดปศุสัตว์ที่เกษตรกรขายได้ อยู่ที่ระดับ 137.5 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 120.1 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5

ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2557

ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2557 ขยายตัวประมาณร้อยละ 0.5 โดยสาขาที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาพืช และปศุสัตว์ ส่วนสาขาประมง บริการทางการเกษตร และป่าไม้ หดตัวลง

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2557 มีหลายประการ โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2557 ได้ทวีความรุนแรงและขยายเป็นวงกว้าง มากขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ส่งผลให้พื้นที่ทำการเกษตรพืชสำคัญหลายชนิดได้รับความเสียหายทั้งในช่วงที่เริ่มเพาะปลูกและช่วงที่พืชกำลังเจริญเติบโต โดยเฉพาะการผลิตข้าวนาปรังในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากปริมาตรน้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอสำหรับการปลูกข้าวนาปรังรอบสอง

          ทั้งนี้ ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ได้รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุน ส่งไปสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2557 มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 11,389 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น              ร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้การได้จำนวนทั้งสิ้น 4,693 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 26 ของปริมาณน้ำทั้งหมด โดยสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่าง ๆ มีดังนี้ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ 5,972 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,172 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำ 4,682 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,832 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำ 336 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 293 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำ 399 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 396 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2556/2557 เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ วันที่ 11 มีนาคม 2557 มีการใช้น้ำไปแล้ว 5,318 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 100 ของแผนฯ หรือใช้น้ำเต็มแผนที่ตั้งไว้แล้ว ในขณะที่ระยะเวลาของฤดูแล้งยังคงเหลืออีกกว่าเดือนครึ่ง ทำให้ต้องดึงน้ำที่สำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนหน้านี้มาใช้ ส่วนผลการเพาะปลูกพืช ฤดูแล้งทั้งในเขตและนอกเขตพื้นที่ชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ณ วันที่ 6 มีนาคม 2557 พบว่า มีการเพาะปลูก พืชฤดูแล้งไปแล้วกว่า 9.09 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 179 ของแผนทั้งหมด (แผนกำหนดไว้ 5.09 ล้านไร่) แยกเป็นพื้นที่ทำนาปรัง 8.79 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 185 ของแผน (แผนกำหนดไว้ 4.74 ล้านไร่) และพืชไร่-พืชผัก 0.30 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 86 ของแผน (แผนกำหนดไว้ 0.35 ล้านไร่)

อนึ่ง กรมชลประทาน ได้ประกาศแจ้งให้เกษตรกรใน ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทราบทุกโครงการฯ แล้วว่า ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เป็นต้นไป จะระบายน้ำเฉพาะเพื่อการอุปโภคและบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ เท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะวิกฤตขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาในปีนี้อยู่ในเกณฑ์น้อย พร้อมขอความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้งดการเพาะปลูกข้าวนาปรังในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ เพียงพอใช้ตลอดในช่วงฤดูแล้งอย่างไม่ขาดแคลน

แม้ว่าภัยแล้งที่เกิดขึ้นจะค่อนข้างรุนแรง แต่อย่างไรก็ตาม พืชเศรษฐกิจหลัก อาทิ อ้อยโรงงาน ยางพารา และผลไม้ เช่น ลำไย ทุเรียน ยังคงให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น สำหรับการผลิตสาขาปศุสัตว์ ขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งการผลิตไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ เนื่องจากระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน การดูแลและเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสภาพอากาศเย็นในช่วงต้นปี ทำให้สัตว์เจริญเติบโตได้ดี ส่วนการผลิตสาขาประมงยังคงหดตัวลงจากปัญหาโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) ในกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง ทำให้เกษตรกรไม่มั่นใจในสถานการณ์ จึงยังทำการผลิตไม่เต็มที่

สาขาพืช

สาขาพืชในไตรมาส 1 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยพืชสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และผลไม้ (ลำไยและทุเรียน)

ผลผลิตอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนมาปลูกอ้อยโรงงานทดแทนพืชที่ให้ผลตอบแทน น้อยกว่า อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง ประกอบกับเกษตรกรได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการบำรุงดูแลต้นอ้อย รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเพาะปลูก และการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากโรงงานน้ำตาลทรายและเจ้าหน้าที่รัฐ สำหรับผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ของข้าวโพดเพิ่มขึ้น ยางพารา ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีเนื้อที่เปิดกรีดหน้ายางใหม่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตลำไยเพิ่มขึ้น เนื่องจากเนื้อที่ปลูกลำไยแทนไม้ผลชนิดอื่นตั้งแต่ปี 2554 เริ่มให้ผลผลิต ส่วนทุเรียน มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้ทุเรียนออกดอกดกและมีหลายรุ่นมากขึ้น

สำหรับพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ (มังคุดและเงาะ) โดยข้าวนาปรัง มีผลผลิตลดลง เนื่องจากปริมาตรน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีน้อยกว่าปี 2556 ทำให้พื้นที่บางส่วนในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ไม่สามารถปลูกข้าวนาปรังหรือปลูกข้าวนาปรังรอบสองได้ ประกอบกับสภาพอากาศที่หนาวเย็นยาวนาน ส่งผลกระทบต่อ ต้นข้าวในช่วงตั้งท้องถึงช่วงออกรวง ทำให้ต้นข้าวชะงักการเจริญเติบโต ในขณะที่ข้าวนาปี มีผลผลิตลดลง เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูกาลของการเก็บเกี่ยวสำหรับมันสำปะหลัง มีผลผลิตลดลงจากการที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงานทดแทน อีกทั้งพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังแซมในสวนยางพาราไม่สามารถปลูกได้อีก เพราะยางพารามีการเจริญเติบโตขึ้น สับปะรดโรงงาน มีผลผลิตลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและอากาศร้อนจัดตั้งแต่ช่วงต้นปี ทำให้ผลสับปะรดไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ พื้นที่เก็บเกี่ยวก็ลดลงจากการรื้อถอนสับปะรดที่ปลูกแซมในสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตลดลง เพราะเป็นช่วงปลายฤดูกาล ขณะที่ผลผลิตใหม่จะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดประมาณเดือนมีนาคม - พฤษภาคมของทุกปี ส่วนผลไม้ที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ มังคุด และ เงาะ เนื่องจากการที่เกษตรกรโค่นต้นมังคุดและเงาะเพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันแทน

ด้านราคา สินค้าพืชที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ โดย มันสำปะหลัง มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการวัตถุดิบของลานมันเส้นและโรงแป้งมัน ในการเร่งผลิตสินค้าเพื่อเก็บเข้าสต็อก รวมทั้งความต้องการจากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนที่มีความต้องการมันเส้นและแป้งมันอย่างต่อเนื่อง สับปะรดโรงงาน มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดค่อนข้างน้อย ขณะที่ความต้องการของโรงงานแปรรูปสับปะรดกระป๋องมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ปาล์มน้ำมัน มีราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบลดลง ประกอบกับผลผลิตปาล์มน้ำมันในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 ออกสู่ตลาดลดลง ส่วนผลไม้ที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มากนัก ขณะที่ความต้องการภายในประเทศ ตลาดอาเซียน และตลาดใหม่ ได้แก่ เวียดนาม มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สินค้าพืชที่มีราคาลดลง ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา โดยข้าว มีราคาลดลง เนื่องจากผลผลิตข้าวมีความชื้นสูง อ้อยโรงงาน มีราคาลดลงตามราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกที่ลดลง ประกอบกับผลผลิตน้ำตาลทรายดิบโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง เนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการของผู้ประกอบการลดลงจากมีสต็อกที่มีเป็นจำนวนมาก ยางแผ่นดิบ มีราคาลดลง เนื่องจากอุปทานในตลาดสูงขึ้น ขณะที่ราคาในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ด้านการส่งออก สินค้าพืชที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยมีความต้องการใช้ในอุตสาหกรรม เช่น การผลิตแอลกอฮอล์หรือเอทานอล เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากผลผลิตในประเทศที่เกินความต้องการ จึงต้องมีการระบายออกนอกประเทศ ในขณะที่สินค้าเกษตรที่มีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่มีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าวรวมและยางพารา โดยข้าว มีปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีความต้องการเร่งระบายข้าวในตลาดส่งออกผ่านการประมูลทั่วไปและตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า รวมทั้งการทำสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ในขณะที่มูลค่าการส่งออกข้าวไทยมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากอุปทานข้าวที่มีมาก รวมทั้งเพื่อให้สามารถแข่งขันทางด้านราคากับประเทศผู้ส่งออกข้าวอื่นๆ ได้ เช่น อินเดียและเวียดนาม ทำให้ราคาข้าวลดลง ส่วนยางพารา มีปริมาณความต้องการในตลาดโลกเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณฟื้นตัวขึ้น ในขณะที่มูลค่าการส่งออกยางพารามีแนวโน้มลดลง เนื่องจากอุปทานยางพาราในตลาดโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคายางพาราในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง

สินค้าพืชที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ น้ำมันปาล์ม ผลไม้และผลิตภัณฑ์ โดยน้ำตาลและผลิตภัณฑ์ มีปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลงตามความต้องการและราคาในตลาดโลกที่ลดลง สำหรับน้ำมันปาล์ม มีปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มดิบโดยเปรียบเทียบของไทยสูงกว่าราคาในตลาดโลก ส่วนผลไม้และผลิตภัณฑ์ มีปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลง เนื่องจากตลาดส่งออกผลไม้และผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ได้แก่ จีน ฮ่องกง และอินโดนีเซีย ได้ยกเลิกการกำหนดโควต้านำเข้า

สาขาปศุสัตว์

ไตรมาส 1 ปี 2557 สาขาปศุสัตว์ขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยสินค้าปศุสัตว์ที่สำคัญ ทั้งไก่เนื้อ ไข่ไก่ สุกร และน้ำนมดิบ มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การผลิตโดยรวมอยู่ในภาวะปกติ มีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน การดูแลและเฝ้าระวังการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สภาพอากาศเย็นในช่วงต้นปี ทำให้สัตว์เจริญเติบโตได้ดี รวมทั้งระดับราคาสินค้าปศุสัตว์ที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้การผลิตปศุสัตว์ขยายตัวได้ต่อเนื่อง สำหรับผลผลิตไก่เนื้อออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจากการขยายการเลี้ยงและการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน เพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่การผลิตสุกรมีการจัดการฟาร์มที่มีมาตรฐาน สามารถควบคุมโรคได้ดีขึ้น ประกอบกับราคาสุกรที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้น และราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้เลี้ยงสุกรสามารถขยายการผลิตได้เพิ่มขึ้น สำหรับการผลิตไข่ไก่ มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระดับราคาที่จูงใจ ส่วนการผลิต น้ำนมดิบ มีจำนวนแม่โครีดนมที่มากขึ้นและอัตราการให้น้ำนมเฉลี่ยสูงขึ้น ประกอบกับความต้องการใช้น้ำนมดิบในประเทศเพิ่มมากขึ้นทดแทนการใช้นมผงนำเข้าที่มีราคาสูงขึ้น ทำให้มีปริมาณน้ำนมดิบออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

ด้านราคา สินค้าปศุสัตว์โดยรวมมีราคาเฉลี่ยช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2557 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยราคาเฉลี่ยของไข่ไก่และสุกรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20.26 และ 19.32 ส่วนราคาไก่เนื้อปรับขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ราคาน้ำนมดิบปรับลดลงเล็กน้อยตามคุณภาพของน้ำนมดิบ

การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ในเดือนมกราคม 2557 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยปริมาณและมูลค่าการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ลดลง เนื่องจากการส่งออก ไก่แปรรูปไปญี่ปุ่นลดลง ในขณะที่การส่งออกไปสหภาพยุโรปยังคงเพิ่มขึ้น สำหรับการส่งออกเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ลดลง เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลัก คือ ลาวและฮ่องกง ลดลง ส่วนการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดในอาเซียนที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

สาขาประมง

สาขาประมงในไตรมาส 1 ปี 2557 ลดลงร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 เนื่องจากผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงออกสู่ตลาดน้อยลง โดยผลผลิตกุ้งตั้งแต่เดือน มกราคม - กุมภาพันธ์ 2557 อยู่ที่ 21,454 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ 50,011 ตัน หรือลดลงร้อยละ 57.1 เนื่องจากปัญหาโรค EMS ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากปี 2556 ยังคงส่งผลต่อการผลิตกุ้งในไตรมาสนี้ แต่สถานการณ์การระบาดของโรคมีความรุนแรงลดลง ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ของโรค จึงทำการผลิตไม่เต็มที่ ประกอบกับผลผลิตที่ออกสู่ตลาดในช่วงไตรมาสแรก เป็นการเพาะเลี้ยงในช่วงปลายปี 2556 ซึ่งในช่วงดังกล่าวเผชิญกับสภาพอากาศหนาวที่ยาวนานกว่าปกติ และเกษตรกรบางส่วนถือโอกาสพักบ่อเพื่อกำจัดเชื้อโรค จึงส่งผลให้ผลผลิตกุ้งลดลง ในส่วนของผลผลิตจากการทำประมงทะเล ปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือภาคใต้ในเดือนมกราคม 2557 มีปริมาณ 19,374.70 ตัน ลดลงจาก 22,231 ตัน เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2556 หรือลดลงร้อยละ 12.9 โดยปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือลดลงเกือบทุกท่า โดยเฉพาะท่าเทียบเรือปัตตานีและสงขลา เนื่องจากอินโดนีเซียมีความเข้มงวดการทำประมงนอกน่านน้ำและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำบางรายเข้าไปตั้งโรงงานในอินโดนีเซียแทน ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำที่มาขึ้น ท่าเทียบเรือดังกล่าวลดลง สำหรับการผลิตประมงน้ำจืด เช่น ปลานิล กุ้งก้ามกราม ปลาช่อน ปลาดุก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การผลิตเป็นปกติ ประกอบกับความต้องการบริโภคภายในประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง

ด้านราคากุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม ที่เกษตรกรขายได้ในช่วงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ 2557 เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 267 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 148 บาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80.07 เนื่องจากผลผลิตที่ลดลงจากปัญหาโรคระบาด ประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวน รวมถึงความต้องการส่งออกที่มีอย่างต่อเนื่อง

การส่งออกสินค้าประมงของไทยในเดือนมกราคม 2557 สินค้าที่มีปริมาณส่งออกลดลง แต่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น คือ ปลาและผลิตภัณฑ์ ส่วนสินค้าที่ลดลงทั้งปริมาณและมูลค่าส่งออก ได้แก่ ปลาหมึกและผลิตภัณฑ์ กุ้งและผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะกุ้งและผลิตภัณฑ์ ที่ลดลงทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกมากที่สุด เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ในขณะที่ความต้องการซื้อของผู้บริโภคในตลาดผู้นำเข้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ยังมีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีสาเหตุมาจากอุตสาหกรรมกุ้งของไทยประสบปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบจากปัญหาโรค EMS ทำให้ราคากุ้งของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ประเทศคู่ค้าจึงหันไปนำเข้าจากประเทศผู้ผลิตอื่นๆ ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และเอกวาดอร์

สาขาบริการทางการเกษตร

สาขาบริการทางการเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2557 ลดลงร้อยละ 0.5 เนื่องจากปริมาตรน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 2556 ก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ทำให้มีการจ้างบริการเตรียมดินและไถพรวนดินลดลง ส่งผลต่อเนื่องให้การบริการเกี่ยวนวดข้าวลดลงตามไปด้วย

สาขาป่าไม้

จากดัชนีชี้นำการผลิตและการส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์จากป่าในไตรมาสแรก พบว่า สถานการณ์การผลิตของสาขาป่าไม้อยู่ในสภาวะซบเซา โดยสาขาป่าไม้ในไตรมาส 1 ปี 2557 หดตัวประมาณร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปี 2556 เนื่องจากปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์สำคัญหลายชนิดของหมวดป่าไม้ลดลง ได้แก่ น้ำผึ้ง ครั่ง ไม้ยูคาลิปตัส ไม้ซุง และรังนก ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการชะลอการนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น เยอรมนี อินเดีย และจีน ที่มีการนำเข้าน้ำผึ้ง ครั่ง และไม้ยูคาลิปตัส ลดลงเพราะการเพิ่มมาตรการการนำเข้าที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงผลผลิตภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณและมูลค่าการส่งออกถ่านไม้กลับขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าหนึ่งเท่าตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากประเทศคู่ค้าสำคัญ คือ ญี่ปุ่น ประสบภัยหนาวที่รุนแรงกว่าทุกปี ทำให้มีความต้องการถ่านไม้ เพื่อให้ความอบอุ่นและใช้ประกอบอาหารเพิ่มขึ้น

แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2557

คาดว่าเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2557 จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.3 - 3.3 เนื่องจากผลผลิตพืชที่สำคัญ เช่น ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ (ลำไย ทุเรียน และเงาะ) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์ ทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนการผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ จากการดำเนินมาตรการในการแก้ไขปัญหาของกรมประมงร่วมกับภาคเอกชน นอกจากนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น รวมทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในระดับที่เหมาะสม จะทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้ราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การผลิตทางการเกษตรในช่วงไตรมาส 2 ของ ปี 2557 ยังคงมีความเสี่ยงอย่างมากจากภาวะภัยแล้ง รวมถึงปัญหาฝนทิ้งช่วงที่อาจยาวนานไปจนถึงต้นฤดูเพาะปลูกในเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับผลผลิต สินค้าเกษตรมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนการปรับแผนการผลิตสินค้าเกษตรต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร

สาขาพืช

ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2557 ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรและการผลิตพืชหลายชนิด โดยเฉพาะพื้นที่ทำนาปรังในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งกรมชลประทานได้มีมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกร โดย ดึงน้ำที่สำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนมาใช้บางส่วน และหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบแรกแล้วเสร็จได้ขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดทำนาปรังครั้งที่สอง เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอต่อความต้องการใช้ตลอดในช่วงฤดูแล้งอย่างไม่ขาดแคลน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าสาขาพืช ในปี 2557 จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 3.5 โดยพืชที่มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน รวมทั้งผลไม้ที่สำคัญ เช่น ลำไย ทุเรียน และเงาะ ในส่วนของพืชที่มีปริมาณผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน และมังคุด ด้านราคา คาดว่าราคาพืชที่มีแนวโน้มลดลง ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา เนื่องจากอุปทานสินค้าเกษตรภายในประเทศและตลาดโลกที่มีอยู่มาก สำหรับราคาพืชที่คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์ดี ได้แก่ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ที่สำคัญ เช่น ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ

สาขาปศุสัตว์

ปี 2557 คาดว่าสาขาปศุสัตว์จะขยายตัวอยู่ในช่วง ร้อยละ 1.5 2.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยปริมาณการผลิตปศุสัตว์ทั้งไก่เนื้อ ไข่ไก่ สุกร และโคนม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการพัฒนาการเลี้ยงและการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น มีระบบการควบคุมดูแลและเฝ้าระวังโรคระบาด นอกจากนี้ ระดับราคาสินค้าปศุสัตว์ที่อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ และราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ลดลง ทำให้เกษตรกรสามารถขยายการเลี้ยงเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการเฝ้าระวัง โรคระบาดต่าง ๆ ทั้งโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก โรคปากและเท้าเปื่อย (Foot and Mouth Disease: FMD) โรคทางระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจ (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome: PRRS) และโรคท้องร่วง (Porcine epidemic diarrhea: PED) ในสุกร รวมถึงความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ภัยแล้ง น้ำท่วม และภัยธรรมชาติอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตปศุสัตว์

ราคาสินค้าปศุสัตว์โดยรวมในปี 2557 คาดว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยราคาสุกรและไข่ไก่อาจปรับตัวลดลงเล็กน้อย เนื่องจากปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนราคาไก่เนื้อและน้ำนมดิบ คาดว่าจะทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ในปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวได้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางเติบโตได้มากขึ้น ประกอบกับความเชื่อมั่นในมาตรฐานการผลิตและคุณภาพสินค้าของไทย ทำให้ความต้องการบริโภคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยการส่งออกสินค้าเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีทั้งตลาดสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย โดยญี่ปุ่นได้อนุญาตให้นำเข้าไก่สดจากไทยได้ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา จึงคาดว่าจะสามารถส่งออกไก่สดได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ตลาดกลุ่มตะวันออกกลางก็มีแนวโน้มความต้องการเนื้อไก่เพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในตลาดอาเซียน

สาขาประมง

สาขาประมงในปี 2557 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2556 อยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 - 1.5 เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์การระบาดของโรค EMS จะปรับตัวดีขึ้นหลังจากกรมประมงร่วมกับภาคเอกชนดำเนินมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยง การดูแลทำความสะอาด บ่อเลี้ยง การ Clean up โรงเพาะฟักลูกกุ้ง รวมทั้งมาตรการในการป้องกันโดยการเร่งเผยแพร่ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับ แหล่งนำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเลที่กรมประมงให้การรับรองการนำเข้าว่าเป็นแหล่งที่ผ่านการตรวจสอบแล้วว่าปลอดเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค นอกจากนี้ ยังดำเนินการหาแหล่งนำเข้าพ่อแม่พันธุ์อื่นๆ ที่มีคุณภาพเพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเลคุณภาพภายในประเทศ ซึ่งการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ดังกล่าว ส่งผลให้เกษตรกรขยายการผลิตได้เพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่าผลผลิตกุ้งจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงกลางปี 2557 สำหรับผลผลิตจากการทำประมงทะเลและประมงน้ำจืดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวย

ด้านราคากุ้ง คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากผลผลิตกุ้งที่ออกสู่ตลาดอาจยังคงน้อยกว่าระดับปกติ ประกอบกับเกษตรกรมีการวางแผนการผลิตที่ดี ผลผลิตที่ได้ตรงตามความต้องการของตลาด

ด้านการค้า คาดว่าจะยังคงขยายตัวตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น สำหรับตลาดภายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคของคนเมืองที่หันมาบริโภคกุ้งปรุงแต่งมากขึ้น

สาขาบริการทางการเกษตร

สาขาบริการทางการเกษตรในปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.8 - 1.8 เนื่องจากผลผลิตพืชที่สำคัญเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวนาปี และอ้อยโรงงาน ซึ่งเป็นไปตามมาตรการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตร (Zoning) รวมถึงคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำฝนจะเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของข้าวนาปี นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านการเกษตร ส่งผลให้อัตราค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรค่อนข้างสูง ทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาใช้บริการทางการเกษตร เช่น การเตรียมดิน การไถพรวนดิน รถเกี่ยวนวดข้าว และรถตัดอ้อย เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตและประหยัดเวลาในการทำงาน

สาขาป่าไม้

สาขาป่าไม้ ในปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.2 - 3.2 แม้ว่าในไตรมาสที่ 1 ผลผลิตสาขาป่าไม้จะลดลงแต่คาดว่าสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากผลผลิตไม้ยูคาลิปตัส ไม้ยางพารา และถ่านไม้ ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสที่ 2 ต่อเนื่องไปถึงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ยังคงต้องเฝ้าระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะการเลี้ยงผึ้งและครั่งบางส่วนที่เริ่มได้รับผลกระทบในไตรมาสแรกของปีนี้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ