ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งแรกของปี 2557 และแนวโน้ม ปี 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 30, 2014 16:41 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ขยายตัวประมาณร้อยละ 0.8 โดยสาขาพืช สาขาปศุสัตว์ และสาขาบริการทางการเกษตร มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่สาขาประมง และป่าไม้ หดตัวลง สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวของภาคเกษตรมาจากการวางแผนการผลิต สินค้าเกษตรที่สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมถึงมาตรฐานการผลิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการผลิตสินค้า ปศุสัตว์ สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่สำคัญหลายชนิดก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ปัญหาภัยแล้ง สภาพอากาศที่ร้อนจัด และภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตรทั้งในด้านการเพาะปลูกพืช การเลี้ยงปศุสัตว์ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นอกจากนี้ การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลก็ยังคงประสบปัญหาโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) ซึ่งทำให้ผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดลดลง

สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.1 - 3.1 เนื่องจากผลผลิตพืชที่สำคัญ เช่น ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ อาทิ ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ มีทิศทางเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์ ส่วนใหญ่ เช่น ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนผลผลิตประมง โดยเฉพาะกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง ฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้าจากปัญหาโรคตายด่วน คาดว่าสถานการณ์การผลิตกุ้งจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากการดำเนินมาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนของกรมประมง นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มที่ดีขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 การผลิตทางการเกษตรในบางพื้นที่ของประเทศยังคงมีความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

เศรษฐกิจโลก

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ไม่มากนัก เนื่องจากปัจจัยหลายประการในประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา ประสบภาวะอากาศที่หนาวจัด สินค้าคงคลังสูงมากกว่าปกติ รวมถึงตลาดแรงงานก็ยังคงอ่อนแอ ขณะที่ในกลุ่มยูโรโซน ภาวะเงินฝืดยังเป็นปัญหาหลักต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ โดยเน้นที่การปรับต้นทุนทางการเงินให้ต่ำลง เพื่อเอื้อต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาค สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังขยายตัวได้ แม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากการปรับขึ้นภาษีการบริโภค (Consumption Tax) จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2557 แต่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan: BOJ) ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจว่า ผลกระทบจากภาษีดังกล่าวจะเป็นผลกระทบเพียงชั่วคราวเท่านั้น และมีมติคงนโยบาย ผ่อนคลายด้านการเงินเอาไว้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในส่วนของเศรษฐกิจจีนขยายตัวชะลอลง เนื่องจากการดำเนินนโยบายปรับสมดุลทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อให้เศรษฐกิจจีน ขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ สำหรับเศรษฐกิจของอาเซียน 5 (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม) ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน 2557 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) คาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 3.6 ลดลงเล็กน้อยจากที่คาดการณ์ไว้เดิม ณ เดือนมกราคม 2557 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.7 โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2.8 และ 7.5 ตามลำดับ สำหรับเศรษฐกิจยูโรโซน ขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่น และอาเซียน 5 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 1.4 และ 4.9 ตามลำดับ

เศรษฐกิจการเกษตรโลก

สถานการณ์ด้านราคาสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลก เมื่อพิจารณาจากดัชนีราคาอาหารซึ่งจัดทำโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO พบว่า ดัชนีราคาอาหารเฉลี่ยในเดือนมกราคม มิถุนายน 2557 อยู่ที่ระดับ 208.8 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 214.0 หรือลดลงร้อยละ 2.4 โดยกลุ่มสินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ พืชอาหารและธัญพืช น้ำมันจากพืชและสัตว์ และน้ำตาล สำหรับสาเหตุที่ทำให้ราคาพืชอาหารและธัญพืชลดลง คือ ราคาของข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ่อนตัวลงจากปริมาณผลผลิตของโลกที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเร่งระบายสต็อกข้าวของไทย ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวลดลง สำหรับราคาน้ำมันจากพืชและสัตว์ลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลืองลดลง สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเดือนมกราคม มิถุนายน 2557 อยู่ที่ 105.3 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจาก ช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ 104.4 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.8 ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากกำลังการผลิตในลิเบีย เนื่องจากรัฐบาลประสบความสำเร็จในการเจรจาเปิดใช้ท่าเรือขนส่งน้ำมันดิบ 2 แห่ง ได้แก่ Ras Lanuf และ Es sider ให้กลับมาใช้การได้อีกครั้ง ภายหลังถูกกลุ่มกบฏยึดครองมาเป็นเวลาเกือบ 1 ปี อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี หากเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในอิรัก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก

อัตราแลกเปลี่ยน

1. อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยเดือนมกราคม - มิถุนายน 2557 อยู่ที่ 32.6 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ มีทิศทางอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 29.9 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หรืออ่อนค่าลงร้อยละ 9.1

2. อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อยูโร เฉลี่ยเดือนมกราคม - มิถุนายน 2557 อยู่ที่ 44.6 บาท/ยูโร มีทิศทางอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 39.2 บาท/ยูโร หรืออ่อนค่าลงร้อยละ 13.8

การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2557 มีทิศทางอ่อนค่าลง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความไม่แน่นอน ทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศค่อนข้างอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2557 ค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้น ภายหลังสถานการณ์การเมืองคลี่คลายลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น รวมถึงนักลงทุนต่างชาติที่กลับเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น

ภาพรวมเศรษฐกิจไทย

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2557 มีโอกาสจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 2.5 เนื่องจากในไตรมาสที่ 2 เครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักท่องเที่ยว และนักลงทุนกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกหดตัวลงร้อยละ 0.6 สำหรับ แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 เกิดจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐเป็นหลัก รวมถึงการจ่ายเงินค่าข้าวให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกส่วนหนึ่ง ในส่วนของการส่งออกในช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2557 มูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย เท่ากับ 2,994,338.3 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่า 2,765,904.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3

สำหรับผลจากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2557 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ยในเดือนมกราคม - มิถุนายน 2557 อยู่ที่ ร้อยละ 2.2 ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.7 โดยยังอยู่ในกรอบคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2557 ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งอยู่ในช่วงร้อยละ 2 .2 - 2.8

ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งแรกของปี 2557

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร

1. ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร เฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน 2557 อยู่ที่ระดับ 117.7 สูงกว่าช่วงเดียวกันของ ปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 112.8 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ อยู่ที่ระดับ 148.0 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 153.2 หรือลดลงร้อยละ 3.4

2. ดัชนีผลผลิตหมวดพืชผล เฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน 2557 อยู่ที่ระดับ 116.5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 113.9 ขณะที่ดัชนีราคาหมวดพืชผลที่เกษตรกรขายได้ อยู่ที่ระดับ 147.8 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 162.3 หรือลดลงร้อยละ 8.9

3. ดัชนีผลผลิตหมวดปศุสัตว์ เฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน 2557 อยู่ที่ระดับ 123.2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 118.5 ขณะที่ดัชนีราคาหมวดปศุสัตว์ที่เกษตรกรขายได้ อยู่ที่ระดับ 140.2 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 123.7 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3

ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งแรกของปี 2557

ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ขยายตัวประมาณร้อยละ 0.8 โดยสาขาการผลิตที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาพืช ปศุสัตว์ และบริการทางการเกษตร ส่วนสาขาการผลิตที่หดตัวลง ได้แก่ สาขาประมง และป่าไม้

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตทางการเกษตรในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 คือ ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2557 ได้ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืชหลายชนิด โดยเฉพาะการผลิตข้าวนาปรังในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอ แม้ว่าภัยแล้งที่เกิดขึ้นจะค่อนข้างรุนแรงและขยายเป็นวงกว้าง แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว พืชเศรษฐกิจหลักอื่น ๆ อาทิ อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ เช่น ลำไย ทุเรียน ยังคงให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น สำหรับการผลิตสาขาปศุสัตว์ ผลผลิตปศุสัตว์ที่สำคัญทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากมาตรฐานการผลิตที่ดีและเป็นระบบ รวมถึงการขยายการเลี้ยงเพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น ส่วนการผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงยังคงหดตัวต่อเนื่องจากปัญหาโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) รวมถึงสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้เกษตรกรไม่มั่นใจในสถานการณ์ จึงยังทำการผลิตไม่เต็มที่ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา กรมประมงได้ดำเนินการติดตามและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น

สาขาพืช

สาขาพืชในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ขยายตัวประมาณร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยพืชสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย และทุเรียน

ผลผลิตข้าวนาปีเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ประกอบกับการดูแลเอาใจใส่ของเกษตรกร ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น สำหรับอ้อยโรงงาน ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากมาตรการโซนนิ่ง (Zoning) ของรัฐบาลที่สนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสม มาปลูกอ้อยโรงงานทดแทน ประกอบกับพืชอื่น ๆ เช่น ข้าว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่า เกษตรกรจึงเปลี่ยนมาปลูกอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้น ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยและมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ยางพารา ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีเนื้อที่เปิดกรีด หน้ายางใหม่เพิ่มขึ้น ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเนื้อที่ปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม่ในปี 2554 เริ่มให้ผลผลิต โดยเพิ่มขึ้นมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ลำไย มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเนื้อที่ปลูกลำไยแทนไม้ผล ชนิดอื่นตั้งแต่ปี 2554 เริ่มให้ผลผลิต ทุเรียน มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ทุเรียนออกดอกดกและมีหลายรุ่นมากขึ้น

สำหรับพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน มังคุด และเงาะ โดยข้าวนาปรัง มีผลผลิตลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีน้อยกว่าปี 2556 ทำให้ไม่สามารถปลูกข้าวนาปรังหรือปลูกข้าวนาปรังรอบสองในพื้นที่บางส่วนของภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนได้ ประกอบกับสภาพอากาศที่หนาวเย็นยาวนาน ส่งผลกระทบต่อต้นข้าวในช่วงตั้งท้องถึงช่วงออกรวง ทำให้ต้นข้าวชะงักการเจริญเติบโต เมล็ดลีบ รวมทั้งเกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกเกินกว่าแผนการจัดสรรน้ำ ทำให้ต้นข้าวไม่ได้รับน้ำอย่างเพียงพอต่อการเจริญเติบโต

มันสำปะหลัง มีผลผลิตลดลง เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงานทดแทน อีกทั้งพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังแซมในสวนยางพาราไม่สามารถปลูกแซมได้อีก เพราะยางพาราเติบโตขึ้น ประกอบกับเกิดภาวะแห้งแล้งในบางพื้นที่ ทำให้หัวมันสำปะหลังมีขนาดเล็กและไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร สับปะรดโรงงาน มีผลผลิตลดลงจากปัญหาภัยแล้ง รวมถึงพื้นที่ปลูกแซมในสวนยางพาราลดลง ผลผลิตมังคุดและเงาะ ลดลง เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นมังคุดและเงาะเพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันแทน

ด้านราคา สินค้าเกษตรที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน ลำไยและมังคุด โดยมันสำปะหลังมีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลังจากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความต้องการใช้ภายในประเทศก็มีแนวโน้มสูงขึ้น สาเหตุจากผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังสามารถใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้หลากหลาย สับปะรดโรงงาน มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ในขณะที่ความต้องการของโรงงานแปรรูปสับปะรดมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ปาล์มน้ำมัน มีราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการยังมีอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายปรับเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซลเป็น B7 ของภาครัฐ และความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นก่อนเข้าสู่เทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิมในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนราคาลำไยและมังคุดเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มากนัก ในขณะที่ความต้องการในประเทศและตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สินค้าเกษตรที่มีราคาลดลง ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ทุเรียน และเงาะ โดย ข้าว มีราคาลดลง เนื่องจากสต็อกข้าวของรัฐบาลมีปริมาณสูง ทำให้มีการ เร่งระบายสต็อก ประกอบกับรัฐบาลไม่มีนโยบายแทรกแซงราคาข้าวเหมือนกับปีที่ผ่านมา อ้อยโรงงาน มีราคาลดลงตามราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลกที่ลดลง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีราคาลดลง เนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการของผู้ประกอบการลดลงจากสต็อกที่มีเป็นจำนวนมาก ยางพารา มีราคาลดลง เนื่องจากอุปทานในตลาดสูงขึ้น ขณะที่อุปสงค์ในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ราคาทุเรียนและเงาะลดลง เนื่องจากการเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตในภาคตะวันออก จึงทำให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น

ด้านการส่งออก สินค้าพืชที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวรวม มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดกระป๋อง และทุเรียน โดยข้าวมีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลเร่งระบายข้าวในสต็อกผ่านการประมูลทั่วไปและตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งราคาข้าวของไทยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดต่างประเทศมีความต้องการมันเส้นและแป้งมันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจีนมีความต้องการเพิ่มขึ้นตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทน ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตในประเทศที่มีมากเกินความต้องการ จึงมีมาตรการผลักดันการส่งออก เพื่อระบายผลผลิตออกนอกประเทศ สับปะรดกระป๋อง มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นคู่ค้าหลัก มีการฟื้นตัวขึ้น ทุเรียนมีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการในฮ่องกงและจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับสินค้าพืชที่มีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่มีมูลค่าส่งออกลดลง คือ ยางพารา โดยปริมาณความต้องการยางพาราในตลาดโลกมีทิศทางเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณการผลิตยางพาราของโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้ราคายางพาราในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง สินค้าพืชที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ น้ำมันปาล์ม โดยน้ำตาลและผลิตภัณฑ์ มีปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลงตามความต้องการและราคาในตลาดโลกที่ลดลง น้ำมันปาล์ม มีปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวไม่ดีตามที่ได้คาดการณ์ไว้ อีกทั้งนโยบายของประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหภาพยุโรป มีนโยบายลดการสนับสนุนการใช้พืชอาหารผลิตพลังงานทดแทน รวมถึงการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าน้ำมันพืชบริสุทธิ์ของประเทศอินเดีย ส่วนสินค้าพืชที่มีปริมาณลดลง แต่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น คือ ลำไย เนื่องจากจีนมีมาตรการเข้มงวดต่อการนำเข้าลำไยของไทยมากขึ้น ขณะที่ราคาส่งออกยังอยู่ในเกณฑ์ดี

สาขาปศุสัตว์

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 สาขาปศุสัตว์ขยายตัว ร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยการผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่สำคัญทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในช่วงต้นปี แม้ว่าในระยะต่อมาจะเผชิญสภาพอากาศที่ร้อนจัด ซึ่งทำให้ไก่เนื้อและสุกรเจริญเติบโตช้า อัตราการให้ไข่และขนาดของไข่ลดลง แต่ในภาพรวมแล้วไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตมากนัก เนื่องจากมีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานและมีการเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง

การผลิตไก่เนื้อมีการขยายการเลี้ยงของผู้ประกอบการรายใหญ่ และเกษตรกรมีการปรับการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภคและการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณไก่เนื้อเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณการผลิตสุกรขยายตัวจากสถานการณ์การผลิตที่เข้าสู่ภาวะปกติ แม้จะพบโรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (Porcine Epidemic Diarrhea: PED) ในบางพื้นที่ ซึ่งทำให้ลูกสุกรลดลง แต่สถานการณ์ไม่รุนแรงและสามารถควบคุมได้ นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการผลิตภัณฑ์สุกรและสุกรมีชีวิตที่เพิ่มขึ้นจากประเทศคู่ค้า สำหรับปริมาณไข่ไก่เพิ่มขึ้นจากระดับราคาที่จูงใจ ทำให้เกษตรกรขยายการเลี้ยงเพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตน้ำนมดิบเพิ่มขึ้นจากอัตราการให้น้ำนมเฉลี่ยของแม่โครีดนมสูงขึ้น ประกอบกับมีความต้องการใช้น้ำนมดิบในประเทศทดแทนการใช้นมผงนำเข้าที่มีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณน้ำนมดิบออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

ด้านราคา สินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่มีราคาเฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน 2557 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของตลาดและต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง โดยราคาสุกรและไข่ไก่ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21.0 และ 11.2 ตามลำดับเนื่องจากภาวะการผลิตที่ชะลอลงจากสภาพอากาศร้อน ส่วนราคาไก่เนื้อและน้ำนมดิบที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

ด้านการส่งออก ในช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2557 ปริมาณและมูลค่าการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 เนื่องจากญี่ปุ่นเริ่มมีการนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้นหลังจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น ได้ประกาศยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าสินค้าไก่สดแช่เย็นและแช่แข็ง จากไทย เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2556 รวมถึงสหภาพยุโรปที่ยังคงนำเข้าเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์จากไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สำหรับปริมาณและมูลค่าการส่งออกเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นจากความต้องการผลิตภัณฑ์สุกรที่เพิ่มขึ้น ส่วนปริมาณและมูลค่าการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นจากความต้องการบริโภคของตลาดในอาเซียนที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

สาขาประมง

สาขาประมงในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ลดลงร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 เนื่องจากผลผลิต กุ้งทะเลเพาะเลี้ยงออกสู่ตลาดน้อยลง โดยตั้งแต่เดือนมกราคม - เมษายน 2557 ผลผลิตกุ้งเพาะเลี้ยงอยู่ที่ 49,521 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ 95,470 ตัน หรือลดลงร้อยละ 48.1 เป็นผลจากการผลิตกุ้งเพาะเลี้ยงประสบปัญหาทั้งภัยธรรมชาติและโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) โดยในช่วงต้นปีมีสภาพอากาศที่หนาวเย็น และต่อมาในช่วงเดือนมีนาคมมีสภาพอากาศที่ร้อนจัดและปริมาณฝนน้อย ทำให้น้ำมีระดับความเค็มสูงเร็วมาก ซึ่งเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ ส่งผลให้การเลี้ยงกุ้งได้รับความเสียหาย ขณะที่โรคตายด่วนยังคงเป็นปัญหาหลักในแหล่งผลิตกุ้งเพาะเลี้ยงที่สำคัญของไทย อีกทั้งยังพบโรคตัวแดงดวงขาวในบางพื้นที่ ประกอบกับการขาดแคลนลูกพันธุ์กุ้งคุณภาพดี ทำให้เกษตรกรผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ดังกล่าวจึงชะลอการผลิตออกไป ในส่วนของผลผลิตจากการทำประมงทะเล ปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือภาคใต้ในเดือนมกราคม - เมษายน 2557 มีปริมาณ 91,057 ตัน ลดลงจาก 92,584 ตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2556 หรือลดลงคิดเป็นร้อยละ 1.7 ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นที่ท่าเทียบเรือลดลง โดยเฉพาะท่าเทียบเรือสงขลาและสุราษฎร์ธานี เนื่องจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำบางรายเข้าไปตั้งโรงงานในอินโดนีเซียแทน ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำที่ขึ้นท่าเทียบเรือดังกล่าวลดลง สำหรับการผลิตประมงน้ำจืด เช่น ปลานิล กุ้งก้ามกราม ปลาช่อน ปลาดุก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากสถานการณ์การผลิตในแหล่งผลิตที่สำคัญเป็นปกติ ประกอบกับความต้องการบริโภคภายในประเทศยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ด้านราคากุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม ที่เกษตรกรขายได้ในช่วงเดือนมกราคม มิถุนายน 2557 เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 237 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 168 บาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 41.1 เนื่องจากผลผลิตที่ลดลงจากปัญหาโรคตายด่วน

การส่งออกสินค้าประมงของไทยในเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2557 สินค้าที่เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออก คือ ปลาหมึกและผลิตภัณฑ์ ส่วนสินค้าที่ลดลงทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออก ได้แก่ ปลาและผลิตภัณฑ์ กุ้งและผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะกุ้งและผลิตภัณฑ์ ที่ลดลงทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกมากที่สุด เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการซื้อในตลาดผู้นำเข้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ยังมีอย่างต่อเนื่อง

สาขาบริการทางการเกษตร

สาขาบริการทางการเกษตรในครึ่งแรกของปี 2557 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เนื่องจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมการปลูกอ้อยของรัฐบาลและโรงงานน้ำตาล ทำให้มีการใช้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร เช่น รถไถเตรียมดิน รถตัดอ้อย เพิ่มขึ้น เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในช่วงเตรียมดินและการเก็บเกี่ยวอ้อยในช่วงการเปิดหีบ อย่างไรก็ตาม พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จากสถานการณ์น้ำในเขื่อนที่ไม่เพียงพอต่อการปลูกข้าวนาปรังรอบสอง ทำให้มีการใช้บริการรถไถพรวนดิน และรถเกี่ยวนวดข้าวลดลง ส่งผลให้การบริการทางการเกษตรในภาพรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

สาขาป่าไม้

สาขาป่าไม้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 หดตัวประมาณร้อยละ 1.0 เนื่องจากผลผลิตป่าไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้ยูคาลิปตัส น้ำผึ้งธรรมชาติ ครั่ง ไม้ซุง และกลุ่มวัสดุสาน (หวายและไม้ไผ่) หดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยที่ครั่งและไม้ซุง หดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ซึ่งเป็นผลจากการชะลอการนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ เยอรมนี อินเดีย และจีน ขณะที่ถ่านไม้และไม้ยางพาราในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยถ่านไม้ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการจากต่างประเทศ ส่วนไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมการตัดโค่นต้นยางพาราเก่าเพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ประกอบกับปัจจัยทางด้านราคายางพาราที่ตกต่ำ และไม้ยางพาราเป็นที่ต้องการของตลาดเพราะสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ส่งผลให้มีการเร่งการตัดโค่นยางพารามากขึ้น

คาดว่าเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2557 จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.1 - 3.1 โดยสาขาการผลิตที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาพืช ปศุสัตว์ บริการทางการเกษตร และป่าไม้ ส่วนสาขาการผลิตที่หดตัวลง คือ สาขาประมง

สำหรับผลผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ (ลำไย ทุเรียน และเงาะ) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์ ทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนการผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง คาดว่าปริมาณผลผลิตกุ้งจะใกล้เคียงกับปี 2556 โดยมีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงปลายปี 2557 เนื่องจากการเร่งดำเนินมาตรการในการแก้ไขปัญหาของกรมประมง ทั้งในด้านการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้งที่ปลอดเชื้อ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในทุกขั้นตอน รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อใช้ในการฟื้นฟูแหล่งเลี้ยงกุ้งทะเล นอกจากนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักจะทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2557 การผลิตทางการเกษตรในบางพื้นที่ของประเทศอาจยังคงมีความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ซึ่งจะทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรได้รับความเสียหาย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มีการติดตามและประเมินสถานการณ์ดังกล่าว อย่างใกล้ชิด เพื่อการเตรียมความพร้อมในด้านการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนการให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการปรับแผนการผลิตสินค้าเกษตรต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

สาขาพืช

ในปี 2557 คาดว่า สาขาพืชจะขยายตัวอยู่ในช่วง ร้อยละ 2.5 - 3.5 เนื่องจากผลผลิตพืชที่สำคัญหลายชนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ อาทิ ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ ส่วนผลผลิตพืชที่มีแนวโน้มลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง และสับปะรดโรงงาน เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2557 ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตพืช หลายชนิด โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปรังในเขตลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งกรมชลประทานได้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยดึงน้ำที่สำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนมาใช้บางส่วน และหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบแรก ได้ขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้งดทำนาปรังรอบสอง เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอต่อความต้องการใช้ตลอดในช่วงฤดูแล้งอย่างไม่ขาดแคลน และเมื่อเข้าสู่เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูเพาะปลูก พบว่า ในบางพื้นที่ของประเทศยังคงประสบภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ทำให้เกษตรกรบางส่วนได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืช ทั้งนี้ หากปัญหาภัยแล้งดังกล่าวยืดเยื้อออกไป กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และกรมชลประทาน จะเร่งดำเนินการทำฝนหลวงและบริหารจัดการน้ำให้มีปริมาณเพียงพอ รวมทั้งให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบ เพื่อจะได้วางแผนการเพาะปลูกพืชให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป

ด้านราคา คาดว่าราคาข้าว อ้อยโรงงาน และยางพารามีทิศทางอ่อนตัวลง โดยราคาข้าวลดลง เนื่องจากการสิ้นสุดของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ประกอบกับปัญหาด้านคุณภาพข้าวที่มีความชื้นค่อนข้างสูง ส่วนราคา อ้อยโรงงานและยางพาราลดลงตามอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง รวมถึงอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น สำหรับราคาพืชที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ได้แก่ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ที่สำคัญ เช่น ลำไย และมังคุด

สาขาปศุสัตว์

ปี 2557 คาดว่าสาขาปศุสัตว์จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 2.5 โดยปริมาณการผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่สำคัญ อาทิ ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการดูแลเอาใจใส่ของเกษตรกร ประกอบกับระบบการเลี้ยงและการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐาน รวมถึงระบบการควบคุมดูแลและเฝ้าระวังโรคที่ต่อเนื่อง นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีการขยาย การผลิตเพื่อรองรับความต้องการบริโภคทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตปศุสัตว์ยังคงมีปัจจัยเสี่ยง เช่น สภาพอากาศที่แปรปรวน โรคระบาดต่าง ๆ ทั้งโรคไข้หวัดนก โรคปากและเท้าเปื่อย โรคทางระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจ (PRRS) และโรคท้องร่วงติดต่อ (PED) ในสุกร ที่อาจส่งผลต่อปริมาณการผลิตในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ด้านราคาสินค้าปศุสัตว์โดยรวมในปี 2557 คาดว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอาจมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น รวมถึงความต้องการสินค้าปศุสัตว์ที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ในปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องจากการดำเนินการเรื่องระบบการแยกส่วนการเลี้ยง (Compartment) และการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ทำให้ประเทศคู่ค้ามีความเชื่อมั่นในมาตรฐานการผลิตและคุณภาพสินค้าของไทย คาดว่าการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์จะขยายตัวได้ดีขึ้นในตลาดสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น โดยเฉพาะไก่สด เนื่องจากหลายประเทศได้อนุญาตให้นำเข้าไก่สดได้อีกครั้ง หลังจากที่ได้ประกาศห้ามนำเข้าสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์จากไทยตั้งแต่ปี 2547 จากปัญหาโรคไข้หวัดนกระบาด ขณะที่ตลาดกลุ่มตะวันออกกลางก็มีแนวโน้มความต้องการเนื้อไก่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดอาเซียนยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สาขาประมง

สาขาประมงในปี 2557 ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-0.5) - 0.5 โดยอาจอยู่ในระดับทรงตัวหรือขยายตัวเพิ่มขึ้นได้เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์ การระบาดของโรคตายด่วนในกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้เกษตรกรยังไม่มั่นใจและทำการผลิตไม่เต็มที่ แม้ว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา กรมประมงได้ติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง แต่ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลผลิตกุ้งจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงปลายปี 2557 เนื่องจากกรมประมงได้จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคตายด่วนทั้งระบบอย่างเร่งด่วน โดยการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์และผลิตลูกพันธุ์กุ้งคุณภาพเพื่อแจกจ่ายให้แก่เกษตรกร เพิ่มประสิทธิภาพระบบคัดกรอง ป้องกัน และเฝ้าระวังโรค รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 1 เพื่อฟื้นฟูแหล่งผลิตกุ้งทะเล สำหรับผลผลิตจากการทำประมงทะเลอื่น ๆ มีแนวโน้มลดลง ส่วนผลผลิตประมงน้ำจืดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากสภาพอากาศในแหล่งผลิตที่สำคัญเอื้ออำนวย

ด้านราคากุ้ง คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ปี 2556 เนื่องจากผลผลิตกุ้งที่ออกสู่ตลาดยังคงน้อยกว่าระดับปกติ

สาขาบริการทางการเกษตร

สาขาบริการทางการเกษตรในปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.8 - 1.8 เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปีที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการดูแลเอาใจใส่ที่ดีของเกษตรกร และคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำอย่างเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของ ต้นข้าว ประกอบกับการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชที่สำคัญ เช่น อ้อยโรงงาน และปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นไปตามมาตรการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตร (Zoning) นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านการเกษตร ส่งผลให้อัตราค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรค่อนข้างสูง ทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาใช้บริการทางการเกษตร เช่น การเตรียมดิน การไถพรวนดิน รถเกี่ยวนวดข้าว และรถตัดอ้อย เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตและประหยัดเวลาในการทำงาน

สาขาป่าไม้

สาขาป่าไม้ ในปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 - 2.5 แม้ว่าในไตรมาสที่ 1 สาขาป่าไม้จะหดตัวลง แต่สถานการณ์เริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 เนื่องจากมีผลผลิตไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นจากเป้าหมายการตัดโค่นต้นยางพาราเก่าและปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 300,000 ไร่ ในปีนี้ และมีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุผลตามเป้าหมาย เพราะราคายางพาราตกต่ำ ประกอบกับราคาตอไม้ยางพาราที่ขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นประมาณกิโลกรัมละ 1 - 2 บาท สำหรับปริมาณผลผลิตน้ำผึ้งธรรมชาติ คาดว่าจะออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นในครึ่งหลังของปี ส่วนผลผลิตไม้ยูคาลิปตัส และถ่านไม้ ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ ที่มีอย่างต่อเนื่อง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ