ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 5, 2015 14:00 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

ปีการผลิต 2557/58

1) มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย

— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือนแรก ในส่วนของมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย โดยให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท แก่ชาวนาที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และเปิดบัญชีไว้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งมีที่ดินทำกินไม่เกิน 15 ไร่ และชาวนาที่มีที่ดินมากกว่า 15 ไร่ ให้เงินช่วยเหลือครอบครัวละ 15,000 บาท เพื่อช่วยเหลือชาวนาให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และ

— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2558 อนุมัติขยายระยะเวลาให้เกษตรกรในจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก (จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ที่มีการเพาะปลูกข้าวในช่วงหลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในระยะ 3 เดือน (ตุลาคม – ธันวาคม 2557) ที่ขึ้นทะเบียนไว้ จำนวน 37,402 ครัวเรือน สามารถเข้าร่วมมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยได้ และอนุมัติให้กรมส่งเสริมการเกษตรเปิดระบบให้สำนักงานเกษตรอำเภอดำเนินการบันทึก แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องเพื่อให้เกษตรกร จำนวน 2,091 ครัวเรือน สามารถเข้าร่วม

มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยได้

ผลการดำเนินงาน

1.1) กรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) ข้อมูล ณ วันที่ 20 เมษายน 2558

          - ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว                        3.714 ล้านครอบครัว          61.411 ล้านไร่

1.2) ธ.ก.ส. ข้อมูล ณ วันที่ 22 กันยายน 2558

          - กสก. ตรวจสอบและส่งข้อมูลให้ ธ.ก.ส.         3.635 ล้านครอบครัว          39.521 ล้านไร่

(ข้อมูล ณ วันที่ 10 กันยายน 2558)

          - อยู่ระหว่างรอการจัดส่งเอกสาร และ               6,210 ครอบครัว             40,828 ไร่

เกษตรกรแจ้งความจำนงกับ ธ.ก.ส.

          - ธ.ก.ส. โอนเงินให้เกษตรกร                 3.629 ล้านครอบครัว     39,479.840 ล้านบาท

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ปี 2558

— มติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 58 เห็นชอบในหลักการการกำหนดแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ปี 2558 โดยเป็นการนำมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2557/58

มาปรับปรุงโครงการ/จัดทำเป็นโครงการใหม่ และใช้วงเงินคงเหลือ ประกอบด้วย 4 โครงการ ได้แก่

— 1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

— 2) การเชื่อมโยงตลาดในประเทศและต่างประเทศ (กรมส่งเสริมสหกรณ์)

— 3) โครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (กรมการค้าภายใน)

— 4) โครงการจัดตลาดนัดข้าวและพืชไร่ ปีการผลิต 2557/58 (สำนักงานการค้าภายในจังหวัด)

ปีการผลิต 2558/59

— 1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59

— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 รับทราบสถานการณ์น้ำ สถานการณ์การปลูกข้าวนาปี 2558 และการคาดการณ์พื้นที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59 และเห็นชอบกรอบมาตรการ

— ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59 ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม

— ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากข้าวเปลือกมีความชื้นสูง ประกอบกับผู้ประกอบการชะลอการสั่งซื้อข้าวเนื่องจากรอการประมูลข้าวในสต็อกของรัฐบาล

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

— ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 13,312 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,331 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.14

— ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,462 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,527 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.86

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

— ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 28,050 บาท

— ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,610 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,350 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.29

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 844 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,455 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 848 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,271 บาท/ตัน) หรือลดลงร้อยละ 0.47 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน (แต่เพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 184 บาท)

— ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 646 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,311 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 649 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,167 บาท/ตัน) หรือลดลงร้อยละ 0.46 เมื่อเทียบกับในสัปดาห์ก่อน (แต่เพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 144 บาท)

— ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 350 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,630 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 352 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,565 บาท/ตัน) หรือลดลงร้อยละ 0.57 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน (แต่เพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 65 บาท)

— ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 341 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,305 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 343 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,244 บาท/ตัน) หรือลดลงร้อยละ 0.58 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน (แต่เพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 61 บาท)

— ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 356 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,846 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 358 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,779 บาท/ตัน) หรือลดลงร้อยละ 0.56 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน (แต่เพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 67 บาท)

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 36.0845 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ฟิลิปปินส์

— รัฐบาลฟิลิปปินส์เปิดเผยว่าพร้อมที่จะเพิ่มปริมาณการนำเข้าข้าวถ้าหากมีความจำเป็น จากรายงานข่าวของ Bloomberg ซึ่งอ้างแหล่งข้อมูลจากเลขาธิการสำนักงานวางแผนเศรษฐกิจ (Economic Planning Secretary)เลขาธิการฯ ระบุว่าปริมาณนำเข้าปัจจุบันมีมากกว่า 2.3 ล้านตัน เพียงพอสำหรับการบริโภคจนถึงไตรมาสที่ 2

— ปี 2559 อย่างไรก็ดี ทางรัฐบาลกำลังจัดทำโรดแมปเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดจากปรากฏการณ์ El Nino ซึ่งคาดการณ์ว่าผลกระทบจากปรากฏการณ์ El Nino จะส่งผลกระทบจนถึงกลางปี 2559 และจะมีความรุนแรงเทียบเท่ากับปี 2540-2541 ที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงร้อยละ 23 และราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นอย่างมาก

— เลขาธิการฯ ยังระบุอีกว่า รัฐบาลยังมีงบประมาณเพียงพอสำหรับการบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง นอกจากนี้ทางรัฐบาลอาจจะจ้างเกษตรกรที่ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ ให้สร้างถนนเชื่อมพื้นที่เพาะปลูกสู่ตลาด ที่มา http://oryza.com

เวียดนาม

— กระทรวงเกษตรเวียดนาม คาดการณ์ว่าปี 2558 จะมีผลผลิตข้าวเปลือก 45 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยข้าวนาปี (ฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วง) ได้ทำการเก็บเกี่ยวไปแล้วประมาณร้อยละ 91.2 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด รวมทั้งคาดว่าจะได้ผลผลิตต่อไร่ 864 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากไร่ละ 852 กิโลกรัมของปีที่แล้วร้อยละ 1.4 เนื่องจากภาวะอากาศปีนี้เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก

— สำหรับพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง (ฤดูใบไม้ร่วง-ฤดูหนาว) ในบริเวณสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำโขงมีประมาณ 3.825 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว โดยคาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตต่อไร่ละประมาณ 869 กิโลกรัม ที่มา http://oryza.com

กัมพูชา

— กัมพูชารายงานปริมาณส่งออกข้าวของ 9 เดือนแรกของปี 2558 (มกราคม ถึง กันยายน 2558) มีปริมาณ369,105 ตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยประเทศที่นำเข้าข้าวจากกัมพูชามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ประเทศจีน ปริมาณ 78,182 ตัน, ประเทศฝรั่งเศส ปริมาณ 50,266 ตัน และประเทศโปแลนด์ ปริมาณ 41,022 ตัน

— อย่างไรก็ตาม การส่งออกข้าวเฉพาะเดือนกันยายนปี 2558 มีปริมาณลดลง โดยมีปริมาณการส่งออก 26,969 ตัน ลดลงจาก 29,819 ตัน ของเดือนสิงหาคม 2558 ร้อยละ 10 และลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ที่ส่งออกได้ 35,511 ตัน หรือลดลงร้อยละ 24 ทั้งนี้ปี 2558 กัมพูชาตั้งเป้าหมายส่งออกข้าวไว้ที่ 1 ล้านตัน แต่คาดว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เนื่องจากกัมพูชายังขาดแคลนเครื่องมือและเงินทุนในการพัฒนาระบบการสีข้าว ที่มา http://oryza.com

จีน

— สำนักข่าว China News Service รายงานว่า ทีมวิจัยของโครงการพัฒนาพันธุ์ข้าวลูกผสม ณ เมืองเก้อจิ้ว (Gejiu) เขตหงเหอ (Honghe) มณฑลยูนนาน (Yunnan) ประเทศจีน ประสบความสำเร็จในการพัฒนา

— พันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตถึง 2,544 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งได้รับการตรวจสอบจากทีมผู้เชี่ยวชาญของสถาบัน Academy of Agricultural Sciences ภายใต้การกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

— เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 โดยการสุ่มจากแปลงวิจัย 3 แปลง ซึ่งหัวหน้าของทีมตรวจสอบและผู้เชี่ยวชาญระบุเพิ่มเติมว่า ผลผลิตต่อไร่ของข้าวพันธุ์ดังกล่าวได้ทำสถิติสูงสุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ ที่มา http://oryza.com

อินเดีย

— รัฐบาอินเดียปฏิเสธข่าวลือที่ว่ารัฐบาลอินเดียจะดำเนินนโยบายห้ามส่งออกข้าวบาสมาติ (Basmati) โดยส่วนหนึ่งของคำแถลงของกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของอินเดีย (Commerce and Industry Ministry) ระบุว่า “รัฐบาลอินเดียขอชี้แจงว่า ข่าวลือเรื่องนโยบายห้ามส่งออกข้าวบาสมาติไม่มีมูลความจริง นอกจากนี้ ทางรัฐบาลไม่เคยพิจารณาที่จะดำเนินนโยบายห้ามส่งออกข้าวบาสมาติแต่อย่างใด” รวมทั้ง กระทรวงพาณิชย์ฯ

— ยังระบุอีกว่า รัฐบาลอินเดียกำลังดำเนินการหาตลาดใหม่ และทำการส่งเสริมการส่งออกข้าวบาสมาติ อย่างไรก็ดี การส่งออกข้าวบาสมาติต้องขออนุญาตจากหน่วยงาน Agricultural and Processed Food Products Export Development Authority (APEDA) ซึ่งทางการอินเดียยังคงการขอใบอนุญาตส่งออกต่อไป

— นอกจากนี้ ข้าวบาสมาติประสบปัญหาราคาตกต่ำและความต้องการของตลาดลดลง ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 ทั้งนี้เชื่อกันว่านโยบายห้ามนำเข้าข้าวบาสมาติชั่วคราวของประเทศอิหร่านคือหนึ่งในสาเหตุหลักของปัญหาการตลาดข้าวบาสมาติ ที่มา http://oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 28 ก.ย. – 4 ต.ค. 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ