ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 19, 2015 15:44 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ปี 2558

—มติที่ประชุม นบข. ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 เห็นชอบในหลักการการกำหนดแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ปี 2558 โดยเป็นการนำมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

—ปี 2557/58 มาปรับปรุงโครงการ/จัดทำเป็นโครงการใหม่ และใช้วงเงินคงเหลือ ประกอบด้วย 4 โครงการ ได้แก่

—1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

—2) การเชื่อมโยงตลาดในประเทศและต่างประเทศ (กรมส่งเสริมสหกรณ์)

—3) โครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (กรมการค้าภายใน)

—4) โครงการจัดตลาดนัดข้าวและพืชไร่ ปีการผลิต 2557/58 (สำนักงานการค้าภายในจังหวัด) 2) โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59

—มติที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 เห็นชอบโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/59

—วัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน และช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งให้มีรายได้จากกิจกรรมอื่นทดแทน

—ระยะเวลาดำเนินโครงการ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 – 30 เมษายน 2559 ประกอบด้วย 8 มาตรการ ดังนี้

1. มาตรการส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน

—1.1 โครงการตามแผนชุมชนเพื่อแก้ไขวิกฤตภัยแล้งด้านการเกษตร (กษ.)

—1.2 ลดค่าครองชีพโดยจำหน่ายสินค้าราคาเหมาะสม (พณ.)

2. มาตรการชะลอหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน

—2.1 การลดหรือยกเว้นการเก็บค่าเช่าที่ดิน (กษ.)

—2.2 การให้สินเชื่อ (ธ.ก.ส.)

—2.3 การชดเชยดอกเบี้ยให้แก่กลุ่มเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์ (กษ.)

—2.4 การขยายระยะเวลาชำระหนี้ (ธ.ก.ส.)

3. มาตรการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

—3.1 การจ้างงานภายใต้โครงการของกรมชลประทาน (กษ.)

—3.2 การจ้างงานเร่งด่วนและการพัฒนาทักษะฝีมือ (มท.)

4. มาตรการเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง
  • การจัดทำแผนชุมชน (มท.หน่วยงานหลัก)
5. มาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ
  • การรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด (นร. ธ.ก.ส. และ กษ.)
6. มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน

—6.1 การปฏิบัติการฝนหลวง (กษ.)

—6.2 การสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (พน.)

—6.3 การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร (ทส.)

—6.4 การสนับสนุนน้ำในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง (กห.)

7. มาตรการเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

—7.1 การช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขกับประชาชน (สธ.)

—7.2 การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)

8. มาตรการสนับสนุนอื่นๆ

—8.1 การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ (มท.)

—8.2 แผนสินเชื่อสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มละไม่เกิน 1 ล้านบาท (ธ.ก.ส.)

—8.3 การบริการข้อมูลและบริการภาครัฐผ่านศูนย์กลางแอปพลิเคชั่นภาครัฐ (ทก.)

—8.4 การกำหนดแนวทางการจัดสรรน้ำแก่เกษตรกรผู้ปลูกไม้ยืนต้นที่ขาดแคลนน้ำภาคตะวันออก (วท.)

—8.5 ระบบสารสนเทศเพื่อติดตามและประเมินผลโครงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง (วท.)

—8.6 การส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีเกษตรเพื่อกระจายรายได้ไปสู่ภาคการเกษตร (กก.)

—ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดและประเทศคู่ค้ามีความต้องการข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมสำรองไว้หากปริมาณข้าวในประเทศของตนเองมีไม่เพียงพอจากการเกิดภัยแล้ง

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

—ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 13,130 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,233 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.78

—ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,673 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,609 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.85

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

—ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 28,550 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

—ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,090บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 861 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,342 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 853 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,741 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.94 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 399 บาท

—ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 659 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,224 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 653 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,533 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.82 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 309 บาท

—ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 375 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,215 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 372 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,406 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.81 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 191 บาท

—ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 363 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,792 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 360 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,974 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.83 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 182 บาท

—ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 375 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,215 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 372 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,406 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.81 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 191 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.2408 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
เวียดนาม

—แหล่งข่าวท้องถิ่นในเวียดนามรายงานว่า ประธานสมาคมผู้ผลิตอาหารเวียดนาม (Vietnam Food Association, VFA) ให้สัมภาษณ์ว่า VFA กำลังสร้างตราสินค้า (brand) ให้กับข้าวหอมมะลิเวียดนาม ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้เลือกพันธุ์ข้าวหอมเวียดนาม เนื่องจากปริมาณส่งออกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะ 2 – 3 ปีที่ผ่านมา โดยที่ปริมาณส่งออกข้าวหอม 9 เดือนแรกของปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 26 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3 ในปี 2551 นอกจากนี้ราคาข้าวหอมเวียดนามก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ 600 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน (หรือ 21,144 บาทต่อตัน) เพิ่มขึ้นจาก 460 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน (หรือ 16,211 บาทต่อตัน) ทั้งนี้ ประธานสมาคมฯ ยอมรับว่าการสร้างตราสินค้าต้องใช้ระยะเวลาหลายปี โดยที่เวียดนามต้องเพิ่มพื้นที่การผลิตข้าวหอมเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านอุปทานด้วย

ที่มา http://oryza.com

ฟิลิปปินส์

—สำนักข่าวรอยเตอร์ (Rueters) อ้างการให้สัมภาษณ์ของเลขาธิการสำนักงานวางแผนเศรษฐกิจ (Economic Planning Secretary) ที่ระบุว่า ประเทศฟิลิปปินส์กำลังพิจารณานำเข้าข้าวเพิ่มอีกปริมาณ 1 ล้านตัน ในปี 2559 เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองข้าวและพยุงราคาอาหารในประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศฟิลิปปินส์ได้ทำข้อตกลงซื้อข้าวจำนวน 750,000 ตัน จากประเทศไทยและเวียดนาม โดยที่ข้าวปริมาณ 500,000 ตัน จะทำการส่งมอบในไตรมาสแรกของปี 2559 อย่างไรก็ตาม ความต้องการนำเข้าข้าวอีกปริมาณ 1 ล้านตัน เพื่อให้มีสต็อกข้าวสำรองสำหรับ 45 วัน ตลอดฤดูแล้งปีหน้า ทั้งนี้ ข้อเสนอนำเข้าข้าวเพิ่มเติมต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ (National Food Authority, NFA)

—รัฐบาลฟิลิปปินส์คาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวเปลือกในปี 2559 จะลดลงร้อยละ 25 เพราะภัยแล้งซึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนิโญ (El Nino) โดยที่ภัยแล้งจะส่งผลจนถึงกลางปี 2559 นอกจากนี้เลขาธิการฯ คาดการณ์ว่าผลกระทบจากปรากฏการณ์ El Nino จะส่งผลกระทบจนถึงกลางปี 2559 เช่นกัน และจะมีความรุนแรงเทียบเท่ากับ ปี 2540-2541 ที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงร้อยละ 23 และราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นอย่างมาก

—ทั้งนี้ ตลอดปี 2558 รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้อนุมัติให้นำเข้าข้าวปริมาณ 1.8 ล้านตัน โดยมีการส่งมอบข้าวแล้วปริมาณ 937,000 ตัน ในจำนวนนี้ เป็นการซื้อขายผ่านเอกชนภายใต้กฎขององค์การการค้าโลกปริมาณ 600,000 ตัน

ที่มา http://oryza.com

อินเดีย

—กระทรวงเกษตรของอินเดียประกาศว่า เกษตรกรชะลอการปลูกข้าว เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูก ปี 2558/59 มีปริมาณฝนตกลดลง จากพื้นที่ประมาณ 37.72 ล้านเฮกตาร์ (หรือ 235.8 ล้านไร่) ในปี 2558/59 ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปี 2557/58 ที่มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 37.79 ล้านเฮกตาร์ (หรือ 236.2 ล้านไร่)

—ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาฯ ระบุว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2558 มีปริมาณน้ำฝนทั่วประเทศน้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 42 โดยที่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยร้อยละ 99 ร้อยละ 64 และร้อยละ 59 ตามลำดับ ขณะที่ภาคใต้มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยร้อยละ 20 โดยคาดว่าการที่ปริมาณน้ำฝนลดลง เป็นเพราะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญ (El Nino) ที่จะส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง ทั้งนี้ ประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ต่างก็ประสบปัญหาภัยแล้งเช่นกัน ซึ่งส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวของภูมิภาคเอเชียลดลง

—อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินเดียประมาณการณ์ว่า ในฤดูการผลิต 2558 (มิถุนายน – ธันวาคม) อินเดียสามารถผลิตข้าวได้ประมาณ 90.6 ล้านตัน หรือลดลงเพียงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา (90.86 ล้านตัน)

ที่มา http://oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 12 - 18 ต.ค. 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ