ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 21, 2015 15:44 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59

— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ

— ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

— 1. โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท

— 2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)

— 3. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)

— ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ค่อนข้างทรงตัว เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ผู้ประกอบการยังคงมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

— ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,632 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,579 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.47

— ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,540 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,553 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.17

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

— ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 24,830 บาท

— ราคาลดลงจากตันละ 24,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.48

— ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,570 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,717 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.25

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

— ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 780 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,923 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 782 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,852 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.26 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 71 บาท

— ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 524 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,758 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 525 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,699 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.19 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 59 บาท

— ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 360 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,887 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 366 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,036 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.64 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 149 บาท

— ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 354 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,673 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 359 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,786 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.39 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 113 บาท

— ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 360 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,887 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 361 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,857 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.28 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 30 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.7983 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

— ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2558/59 ประจำเดือนธันวาคม 2558 ว่าจะมีผลผลิต 469.318 ล้านตันข้าวสาร (699.6 ล้านตันข้าวเปลือก) ลดลงจาก 478.185 ล้านตันข้าวสาร (712.9 ล้านตันข้าวเปลือก) หรือลดลงร้อยละ 1.85 จากปี 2557/58

2) การค้าข้าวโลก

— บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2558/59 ณ เดือนธันวาคม 2558 ว่าผลผลิต ปี 2558/59 จะมี 469.318 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2557/58 ร้อยละ 1.85 การใช้ในประเทศจะมี 484.641 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.55 การส่งออก/นำเข้าจะมี 41.331 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.41 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 88.418 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 14.77

— โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาร์เจนตินา อิยิปต์ ปากีสถาน ปารากวัย อุรุกวัย เวียดนาม และไทย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ ออสเตรเลีย เมียนมาร์ กัมพูชา กายานา อินเดีย และสหรัฐอเมริกา

— สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ บราซิล คาเมรูน จีน กานา อินโดนีเซีย อิหร่าน อิรัก ญี่ปุ่น มาเลเซีย โมแซมบิค ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ ไอเวอรี่โคสต์ อียู ไนจีเรีย และแอฟริกาใต้

— ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ ญี่ปุ่น ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

สปป.ลาว

— สำนักข่าว Reuters รายงานว่า สปป.ลาวปรับเป้าหมายปริมาณการส่งออกข้าวสารไปยังจีน โดยกำหนดเป้าหมายการส่งออกไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 ตัน นอกจากนี้ ยังมีนโยบายเพิ่มปริมาณผลผลิตเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะข้าวคุณภาพดี

— นายอำเภอแขวงสะหวันนะเขต เปิดเผยว่าได้รับคำสั่งซื้อข้าวจากจีนปริมาณ 8,000 ตัน และขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการขอเพิ่มโควตาส่งออก เนื่องจากปริมาณความต้องการมีมากขึ้น โดยปัจจุบันการส่งออกข้าวดำเนินการภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่าง สปป.ลาวและจีน ซึ่งรัฐบาลจีนได้ลงนามร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่นของ สปป.ลาว โดยมีเป้าประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายในด้านเกษตรกรรม

— อนึ่ง การส่งข้าวเปลือกไปยังประเทศเพื่อนบ้านผ่านทางชายแดนอย่างไม่เป็นทางการมีปริมาณ 300,000 - 400,000 ตันข้าวเปลือก

ที่มา http://oryza.com

กานา

— แหล่งข่าวท้องถิ่นรายงานว่า สถาบันวิจัยพืชแห่งกานา (Crop Research Institute of Ghana, CRIG) เปิดเผยว่า สถาบันได้พัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง และทนต่อสภาวะแห้งแล้ง

— เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตร ให้สัมภาษณ์ว่า ข้าวสายพันธุ์นี้จะช่วยให้เกษตรกรมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากให้ผลผลิตต่อไร่สูง และสามารถต้านทานโรคข้าวดำ (Black Disease) นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังระบุว่า ข้าวสายพันธุ์นี้มีรสชาติดีกว่าข้าวพันธุ์ท้องถิ่นเดิม จึงอาจจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้

— ปัจจุบันกานานำเข้าข้าวมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณความต้องการบริโภคข้าวในประเทศ รัฐบาลจึงได้วางแผนผลิตข้าวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20 ต่อปี เป็นระยะเวลา 4 ปี เพื่อให้กานาบรรลุเป้าหมายการพึ่งพาตนเองด้านข้าว โดยข้อมูลจากหน่วยอำนวยการบริการด้านพืช (Crop Services Directorate) ระบุว่า ในปี 2557 กานาผลิตข้าวปริมาณ 235,000 ตัน และนำเข้าปริมาณ 417,000 ตัน เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคปริมาณ 750,000 ตัน

ที่มา http://oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 14-20 ธ.ค. 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ