ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 29, 2016 13:42 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59

— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

— 1. โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท

— 2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)

— 3. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)

— ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดยังคงมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะผู้ประกอบการเกรงว่าในฤดูกาลผลิตหน้าผลผลิตจะออกสู่ตลาดลดลงจากปัญหาภัยแล้ง

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

— ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,796 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,744 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.49

— ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,943 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,894 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.62

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

— ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 24,450 บาท ราคาลดลงจากตันละ 24,570 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.49

— ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,050 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,110 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.50

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 782 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,714 บาท/ตัน)

— ราคาลดลงจากตันละ 799 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,224 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.62 และลดลงในรูปเงินเงินบาทตันละ 51 บาท

— ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 596 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,122 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 597 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,088 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.17 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 34 บาท

— ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 382 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,538 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 44 บาท

— ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 372 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,184 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 43 บาท

— ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 387 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,715 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 388 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,706 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.26 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 9 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.4398 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

— สมาคมอาหารของเวียดนาม (VFA) รายงานการส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1-18 กุมภาพันธ์ 2559 มีจำนวน 172,875 ตัน มูลค่า 66.051 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.5 และร้อยละ 10.5 ตามลำดับ

— เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ส่งออกได้ 135,623 ตัน มูลค่า 59.756 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1 มกราคม -18 กุมภาพันธ์ 2559 มีจำนวน 589,646 ตัน มูลค่า 235.880 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 65.6% และร้อยละ 48.7 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ส่งออกได้ 356,012 ตัน มูลค่า 158.641 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

— ปี 2558 ที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวจำนวน 6.568 ล้านตัน มูลค่า 2,680 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ที่ส่งออกได้ 6.316 ล้านตัน มูลค่า 2,789 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

— สำนักข่าวดีพีเอ อ้างคำกล่าวของอดีตผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรเวียดนามใต้ว่า พื้นที่เกษตรในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงกำลังเผชิญปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่และสถานการณ์จะเลวร้ายลง สาเหตุเกิดจากภัยแล้งผิดปกติและการสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำโดยจีนและลาว

— ด้านหนังสือพิมพ์ต่วยแจ๋ รายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลเตือนปัญหานี้ในการประชุมที่เมืองเกิ่นเทอ ทางภาคใต้ของประเทศ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา และอ้างคำกล่าวของรัฐมนตรีเกษตรและพัฒนาชนบทว่า ครั้งนี้ถือเป็นหายนะทางธรรมชาติที่เลวร้ายมาก ซึ่งสถานการณ์นี้เคยเกิดขึ้นแล้วหนึ่งครั้งในรอบ 90 ปีที่ผ่านมา และหวั่นว่าจะเกิดผลกระทบที่รุนแรงตามมา

— เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตร คาดว่า ถ้าน้ำเค็มรุกพื้นที่จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตเกือบ 1 ใน 5 ของพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงทางชายฝั่งภาคใต้ ที่เป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญของประเทศ เมื่อน้ำในแม่น้ำลดลง นาข้าว 2.12 ไร่ หรือผลิตข้าวร้อยละ 23 ของพื้นที่แถบนั้นจะมีปริมาณเกลือในระดับอันตราย ซึ่งปกติแล้วข้าวจะยังเติบโตได้ในน้ำที่มีเกลือ 2 กรัมต่อลิตร แต่ในหลายพื้นที่พบว่า น้ำมีเกลือผสมสูงถึง 10 กรัมต่อลิตร ขณะนี้มีข้าวไม่ต่ำกว่า 2 แสนตัน มูลค่ากว่า 44.6 ล้านดอลลาร์ ที่ได้รับความเสียหาย

— ด้านสำนักข่าวเวียดนามนิวส์ อ้างคำกล่าวของรองผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์น้ำ-อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติว่า ในบางพื้นที่ถูกน้ำเค็มรุกเข้ามาถึง 90 กิโลเมตร เนื่องจากน้ำในแม่น้ำลดต่ำลงมากในหลายจุดที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบ 90 ปี อย่างไรก็ตาม ปัญหาน้ำเค็มรุกนาข้าวไม่กระทบความมั่นคงทางด้านอาหาร แต่จะกระทบศักยภาพการส่งออกของเวียดนามอย่างแน่นอน

ที่มา Oryza.com

ฟิลิปปินส์

— กระทรวงเกษตร (the Department of Agriculture; DA) รายงานว่า จากการที่เกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ่ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะภัยแล้งนั้น สร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าว (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ก.พ.58) ประมาณ 94,934 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยพื้นที่เพาะปลูกได้รับผลกระทบประมาณ 371,644 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่ ที่สามารถกลับมาเพาะปลูกใหม่ได้ประมาณ 251,381 ไร่

— ทั้งนี้ สำนักงานสถิติการเกษตร (the Philippine Statistics Authority; PSA) คาดการณ์ว่า ในช่วงครึ่งปีแรกมีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 8.2 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงประมาณร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมากระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในปีการตลาด 2558/59 (พ.ค.58-เม.ย.59) คาดว่า ฟิลิปปินส์

— จะนำเข้าข้าวประมาณ 2.1 ล้านตันข้าวสาร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.8 ล้านตัน ในปี 2557/58 ที่ผ่านมา โดยปริมาณนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการที่รัฐบาลได้คาดการณ์ว่าในปี 2559 จะมีการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นประมาณ 1.3 ล้านตัน เพื่อชดเชยผลผลิตข้าวที่ลดลงจากผลกระทบของพายุไต้ฝุ่น Koppu รวมทั้งภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ทั้งนี้ในปีการตลาด 2558/59 (พ.ค.58-เม.ย.59) คาดว่าผลผลิตข้าวเปลือกจะมีประมาณ 18.298 ล้านตัน ลดลงจากจำนวน 18.913 ล้านตัน ในปีที่ผ่านมา

— หนังสือพิมพ์ Manila Times รายงานว่า ปีนี้ฟิลิปปินส์อาจไม่ต้องนำเข้าข้าวเพิ่มเพื่อใช้ในช่วงเดือนที่อุปทานข้าวในประเทศลดลง (ระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย.59) เพราะสต็อกข้าวของฟิลิปปินส์ยังคงมีปริมาณเพียงพอ ซึ่งสต็อกข้าว ณ วันที่ 1 มกราคม 2559 มีจำนวน 3.2 ล้านตัน (เพียงพอสำหรับบริโภค 93 วัน ซึ่งมากกว่าระดับที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 90 วัน) ลดลงร้อยละ 6.97 เมื่อเทียบกับจำนวน 3.44 ล้านตัน ในเดือนธันวาคม 2558 แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับจำนวน 2.66 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสต็อกในคลังขององค์การอาหารแห่งชาติ (The National Food Authority; NFA) มีจำนวน 900,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 73 เมื่อเทียบกับจำนวน 520,000 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 28.1 ของสต็อกข้าวทั้งหมด และเพียงพอสำหรับการบริโภค 26 วัน)

ที่มา Oryza.com

มาเลเซีย

— องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The UN's Food and Agriculture Organization : FAO) คาดการณ์ว่าในปีการตลาด 2558/59 (ก.ค.58-มิ.ย.59) ประเทศมาเลเซียจะนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น แม้คาดว่าผลผลิตข้าวในประเทศจะเพิ่มขึ้นก็ตาม ขณะที่การนำเข้าธัญพืชทุกชนิด คาดว่าจะมีประมาณ 6.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

— สำหรับผลผลิตข้าวเปลือกในปี 2558 นั้น คาดว่าจะมีประมาณ 2.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปี 2557 เพราะอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น และรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการเพาะปลูก

ที่มา Oryza.com

จีน

— สำนักงานศุลกากรจีน (China Customs General Administration) รายงานว่า ในช่วงเดือนมกราคม 2559 มีการนำเข้าข้าวประมาณ 287,200 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 134.6 เมื่อเทียบกับจำนวน 122,400 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ลดลงร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับจำนวน 395,500 ตัน ที่นำเข้าในเดือนธันวาคม 2558 ส่วนการส่งออกในช่วงเดือนมกราคม 2559 มีประมาณ 22,200 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับ 19,300 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ลดลงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับ 27,900 ตัน ในเดือนธันวาคม 2558

— ปี 2558 จีนนำเข้าข้าวประมาณ 3.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับจำนวน 2.56 ล้านตันในปี 2557 ส่วนการส่งออกมีประมาณ 285,800 ตัน ลดลงร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับจำนวน 419,069 ตัน ในปี 2557ขณะที่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในปีการตลาด 2558/59 (ก.ค.58-มิ.ย.59) คาดว่า จีนจะมีผลผลิตข้าวประมาณ 145.77 ล้านตันข้าวสาร และในปี 2559 จะมีการนำเข้าข้าวประมาณ 4.7 ล้านตัน ส่งออกประมาณ 450,000 ตัน องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The UN's Food and Agriculture Organization : FAO) คาดการณ์ว่าในปีการตลาด 2558/59 (มิ.ย.58-พ.ค.59) ประเทศจีนจะนำเข้าข้าวประมาณ 5.8 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลพยายามที่จะลดการนำเข้าข้าวที่ไม่ใช่การนำเข้าอย่างเป็นทางการ หรือการนำเข้าผ่านทางแนวชายแดน ขณะที่การนำเข้าธัญพืชทุกชนิดคาดว่าจะมีประมาณ 29 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

— สำหรับผลผลิตข้าวเปลือกในปี 2558 นั้น คาดว่าจะมีประมาณ 208.25 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบ กับปี 2557

ที่มา Oryza.com

ญี่ปุ่น

— องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The UN's Food and Agriculture Organization : FAO) คาดการณ์ว่าในปีการตลาด 2558/59 (เม.ย.58-มี.ค.59) ประเทศญี่ปุ่นจะนำเข้าข้าวประมาณ 700,000 ตัน ขณะที่การนำเข้าธัญพืชทุกชนิด คาดว่าจะมีประมาณ 24 ล้านตัน สำหรับผลผลิตข้าวเปลือกในปี 2558 คาดว่าจะมีประมาณ 10.2 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปี 2557 เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกลดลงเพราะราคาข้าวไม่จูงใจให้มีการเพาะปลูกข้าว

ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 22-28 กุมภาพันธ์ 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ