ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 9, 2017 13:33 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 5 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)

(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)

(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)

(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ค่อนทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากช่วงต้นสัปดาห์เป็นวันหยุดเทศกาลปีใหม่ ตลาดจึงมีการซื้อขายไม่มากนัก

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,072 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,498 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.48

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,353 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,348 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.06

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 23,150 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,950 บาท ราคาราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.5681 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU-OAE Foresight Center: KOFC) ได้ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ข้าวไทย ซึ่งจากการประกวด World’s Best Rice 2016 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน จัดโดย The Rice Trader ปรากฏว่าข้าวหอมไทยครองแชมป์ชนะเลิศอันดับ 1 เอาชนะข้าวกว่า 50 ชนิด จากหลากหลายประเทศที่ส่งเข้าประกวด เช่น เมียนมาร์ กัมพูชา และสหรัฐอเมริกา

ดร.ภูมิศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตลอดกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิอันดับ 1 ของโลก แต่ในระยะ 5 ปีมานี้ ข้าวหอมมะลิไทยเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับหลายประเทศ โดยสถานการณ์ส่งออกข้าวหอมมะลิไทย เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 1.4 ล้านตัน ปี 2559 ไทยส่งออกข้าวหอมมะลิระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม ปริมาณ 1.82 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่มีปริมาณส่งออก 1.57 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 16% ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง จีน สิงคโปร์ และแคนาดา ซึ่งไทยยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดข้าวเป็นอันดับหนึ่งในหลายประเทศ

นอกจากข้าวหอมมะลิ ประเทศไทยยังได้ปรับปรุงมาตรฐานข้าวไทยใหม่ให้เหมาะสม สอดคล้องกับผู้บริโภคในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพและส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดส่งออก โดยแยกเป็นมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยและข้าวหอมทั่วไป ประกอบด้วย ข้าวหอมจังหวัดและข้าวหอมปทุม ซึ่งในปี 2559 พบว่า สัดส่วนการส่งออกข้าวเจ้าอื่นมีสัดส่วนมากที่สุด คือ 42% รองลงมาเป็นข้าวเจ้าขาว 5% ข้าวหอมมะลิ ข้าวเจ้าขาว 100% และข้าวหอมปทุม

อนึ่ง สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รายงานสถานการณ์ส่งออกข้าวของไทยว่า ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาการส่งออกข้าวมีปริมาณสูงถึง 1,008,622 ตัน มูลค่า 15,696 ล้านบาท โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.7 และร้อยละ 22.8 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2559 และเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 ทั้งปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.1 และร้อยละ 24.8 เนื่องจากในเดือนพฤศจิกายน มีการส่งมอบข้าวขาวให้แก่หน่วยงาน COFCO ของจีนและประเทศในแถบเอเชียอื่นๆ เช่น มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และมีการส่งออกไปยังประเทศในแถบแอฟริกามากขึ้น สำหรับในเดือนธันวาคม สมาคมฯ คาดว่าปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ประมาณ 800,000 ตัน ซึ่งจะทำให้ในปีนี้การส่งออกข้าวเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ที่ 9.5 ล้านตัน เนื่องจากในช่วงปลายปียังมีการส่งมอบข้าวขาวทั้งข้าวใหม่และข้าวเก่า รวมถึงข้าวนึ่งให้กับประเทศผู้ซื้อในแถบแอฟริกาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในส่วนข้าวนึ่งมีปริมาณ 247,731 ตัน ลดลงร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยส่งออกไปยังประเทศเบนินปริมาณมากถึง 106,946 ตัน ตามด้วยแอฟริกาใต้ ไนเจอร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สำหรับภาวะราคาข้าวในช่วงนี้ ส่วนใหญ่ยังค่อนข้างทรงตัว มีเพียงเวียดนามที่ราคาปรับลดลง เพื่อดึงความสนใจของผู้ซื้อหลังจากที่ปริมาณส่งออกลดลง โดยราคาข้าวส่งออก ณ วันที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมา ข้าวขาว 5% ของเวียดนามราคาตันละ 337 ดอลลาร์สหรัฐ (เอฟโอบี) อินเดียและปากีสถานราคาตันละ 355 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ราคาข้าวที่สมาคมประกาศวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา ข้าวขาว 5% อยู่ที่ตันละ 370 ดอลลาร์สหรัฐฯ และกล่าวว่า หากเปรียบเทียบการส่งออกข้าวของประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญ 5 อันดับแรกในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา พบว่า อินเดียยังคงเป็นผู้ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก ปริมาณ 9.62 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 6 รองลงมาคือไทย ปริมาณ 8.71 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 อันดับ 3 คือเวียดนาม ปริมาณ 4.6 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 23.1 ปากีสถาน ปริมาณ 3.21 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 7.4 และสหรัฐฯ ปริมาณ 3.15 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 2.6 ส่วนประเทศที่นำเข้าข้าวจากไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ เบนิน รองลงมาคือ จีน ไอวอรี่โคสต์ แอฟริกาใต้ และแคเมอรูน

ที่มา www.rty9.com, หนังสือพิมพ์แนวหน้า, หนังสือพิมพ์มติชน

เวียดนาม

ปี 2559 เวียดนามคาดว่าจะสามารถส่งออกข้าวปริมาณ 4.88 ล้านตัน มูลค่า 79.1 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 25.8 และร้อยละ 21.2 เดือนธันวาคมเวียดนามส่งออกข้าวปริมาณ 399,000 ตัน มูลค่า 181 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จีนเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่จากเวียดนาม โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 35.9 โดยในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา เวียดนามส่งข้าวออกไปยังจีนปริมาณ 1.61 ล้านตัน มูลค่า 722.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2558 ทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 20.5 และ ร้อยละ 11.7

สำหรับประเทศผู้นำเข้าข้าวจากเวียดนาม ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (ลดลงร้อยละ 65) มาเลเซีย (ลดลงร้อยละ 48) สหรัฐฯ (ลดลงร้อยละ 33) สิงคโปร์ (ลดลงร้อยละ 30.7) อินโดนีเซีย (ลดลงร้อยละ 22) ไอวอรี่โคสต์ (ลดลงร้อยละ 21.5) และฮ่องกง (ลดลงร้อยละ 19) ทั้งนี้คาดว่าปริมาณการส่งออกข้าวรวมมี 43.6 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน

ที่มา หนังสือพิมพ์ The Nation

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 2 - 8 ม.ค. 60--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ